“ไพรินทร์”โยนรัฐบาลใหม่ตัดสินค่าโง่ทางด่วน เชื่อเจรจาจบปัญหาดีสุด

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีการต่ออายุสัมปทานในสัญญาสัมปทานระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือเบม (บีอีเอ็ม) ว่า การตัดสินใจในเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ เนื่องจากการที่คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ. ได้มีข้อเสนอต่ออายุสัมปทานให้เอกชนแทนการจ่ายชดเชยค่าเสียหายเป็นเงินสด ซึ่งข้อเสนอที่กทพ.ให้มาก็เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ดำเนินการเจรจากับเอกชนดังกล่าว และจ่ายค่าเสียหายให้ในรูปแบบที่ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด และกทพ.จะต้องได้ผลประโยชน์ไม่น้อยกว่าเดิม แต่ต้องไม่ใช่การชดเชยในรูปแบบเงินสด

นายไพรินทร์ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดคดีความขึ้น เป็นผลมาจากการกระทำของภาครัฐแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคดีคือ การที่ภาครัฐสร้างทางพิเศษแข่งขันกับเอกชน ซึ่งเรื่องเกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยกำลังจะจัดงานกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และทำให้มีความกังวลว่าจะเกิดปัญหาด้านการจราจรขึ้นจึงได้ให้ทางเบมต่อทางด่วนสายเหนือขึ้นไป โดยได้มีการตกลงในสัญญากับทางรัฐบาลว่าจะไม่ทำทางด่วนมาแข่งขันด้วย แต่ต่อมาภายหลังได้มีการก่อสร้างทางด่วนดอนเมืองขึ้น จึงทำให้เป็นที่มาของข้อพิพาทแรก รวมมูลค่าหนี้ที่เกิดจากการฟ้องร้องกว่า 100,000 ล้านบาท ส่วนกลุ่มคดีที่ 2 เกี่ยวข้องกับการที่ครม.ไม่อนุมัติให้เอกชนปรับขึ้นค่าผ่านทาง ซึ่งขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำตัดสินให้กทพ.แพ้คดีไปแล้ว รวมถึงยังมีข้อพิพาทในลักษณะดังกล่าวอีกหลายคดีที่ทางอนุญาโตตุลาการก็มีคำตัดสินให้กทพ.แพ้ด้วยเช่นกัน

“การที่รัฐบาลจะใช้นโยบายแบบประชานิยม เราก็ไม่สามารถห้ามได้ โดยส่วนตัวคิดว่าการให้สัมปทานไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่การให้สัมปทานในระยะเวลาเท่านี้จะเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่นั้น ก็ไม่สามารถบอกได้ เพราะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่บอร์ดการทางฯตั้งขึ้นมา ที่จะเป็นคนพิจารณาว่ามูลค่าหนี้ที่เหลือประมาณ 5.9 หมื่นล้านบาท เทียบเท่ากับกี่ปี ซึ่งพิจารณามาแล้วได้ประมาณ 15 ปี โดยคนที่รับผิดชอบเป็นฝ่ายจัดการและบอร์ดการทางฯ ทางกระทรวงคมนาคมไม่สามารถเข้าไปก้าวล่วงการทำงานของบอร์ดได้”นายไพรินทร์กล่าว

นายไพรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้แนวทางการเจรจาคงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อแลกกับการยุติคดีข้อพิพาททั้งหมดและจ่ายชดเชย 59,000 ล้านบาท เนื่องจากมองว่าหากคดีความเดินหน้าต่อไปมีโอกาสแพ้คดีสูง และหากรอจนคดีสิ้นสุดก็อาจจะต้องจ่ายชดเชยมากกว่า 130,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมามักยึดตามแนวทางคำตัดสินของศาลที่จะพิจารณาคดีครั้งแรก หากไปในแนวใดก็มักจะเป็นแนวเดิม ซึ่งตอนนี้มีตัวอย่างไปแล้วคือ คดีโฮปเวลล์ นอกจากนี้ในส่วนของการเจรจา เบมได้ยื่นข้อเสนอทำโครงการ Double Deck ซึ่งเป็นทางด่วนขั้นที่ 2 มูลค่า 30,000 ล้านบาท อายุสัมปทาน 15 ปี แต่หากโครงการไม่ผ่านอีไอเอก็ไม่สามารถขยายสัมปทานทางด่วนเป็น 30 ปีได้ ซึ่งการจ่ายผลประโยชน์ให้รัฐยังคงเป็นสัดส่วนที่ 60 ต่อ 40 รวมถึงที่ผ่านมาการปรับขึ้นค่าผ่านทางนั้นยังไม่มีการปรับขึ้นตามที่ควรจะเป็นและส่งผลต่อองค์กร โดยค่าทางด่วนควรมีการปรับขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาบางรัฐบาลนำไปใช้เป็นนโยบายแบบประชานิยม ทำให้คดีเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าทางด่วนจะเพิ่มไปเรื่อยๆ

Advertisement

“การทางพิเศษพิจารณาให้สัมปทานเบม ตามจำนวนหนี้ทั้งหมด ซึ่งพิจารณาแล้วคาดว่าจะต่ออายุให้อีก 15 ปี ซึ่งถ้าเบมมีการลงทุนสร้างทางด่วนชั้น 2 เพิ่มก็จะขอต่ออีก 15 ปี เพื่อเป็นการแลกกับการลงทุน เท่ากับต่ออายุ 15 ปี บวกอีก 15 ปี เป็น 30 ปี แต่มาจาก 2 ส่วน ไม่ใช่การต่ออายุให้เบมเลย 30 ปี ตามมูลค่าหนี้สินที่ต้องชดใช้ใหักับเบม โดยการเจรจาชดใช้ค่าเสียหายนั้น ต้องมีการอธิบายถึงที่มาที่ไปของแนวทางแลกหนี้ที่ต้องชดใช้กับอายุของสัมปทานที่จะเพิ่มให้กับเบม ซึ่งสาเหตุที่เกิดคดีความขึ้นมาจากการกระทำของภาครัฐ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต และประชาชนได้รับประโยชน์จากการไม่ต้องเสียค่าทางด่วนเพิ่มไปแล้ว ทำให้ตอนนี้หากจะไปรื้อฟื้นหาคนผิดก็คงไม่ทัน ทำให้ต้องแก้ปัญหาและหาทางเจรจาที่ได้ประโยชย์ร่วมกันทุกฝ่าย โดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก และไม่ควรใช้ประชาชนเป็นตัวประกัน”นายไพรินทร์กล่าว

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image