‘อีริคสัน’ ชี้ ‘สงครามการค้า ญี่ปุ่น-เกาหลี’ ยังกระทบไทยไม่ชัด

นายเจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงกรณีประเทศญี่ปุ่นประกาศจำกัดโควต้าการส่งออกส่วนประกอบสำคัญ 3 ประเภท ได้แก่ ไฮโดรเจนฟลูออไรด์ ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์, ฟลูออริเนต โพลีไอไมด์ วัตถุดิบสำหรับผลิตจอแสดงผล และสารโฟโตไลซิส ใช้ในการผลิตชิปหน่วยความจำในสมาร์ทโฟนไปยังประเทศเกาหลีใต้ ว่า เบื้องต้น ขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดของมาตรการดังกล่าว จึงไม่แน่ใจว่า วัตถุดิบสำหรับผลิตจอแสดงผลของประเทศญี่ปุ่นอยู่ในส่วนประกอบใด เป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตจอแสดงผลของโทรทัศน์ ประเภทแอลซีดี หรือแอลอีดี หรือไม่ ซึ่งคิดว่า หากจะกระทบกับภาคโทรคมนาคมของไทยมากที่สุด น่าจะเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตจอแสดงผลในสมาร์ทโฟนเป็นหลัก

นายเจษฎา กล่าวว่า ทั้งนี้ ขอฝากถึงนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สานต่อใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการผลักดัน 5G ในเกิดขึ้นในปี 2563 เช่น การจัดทำแผนการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างเป็นรูปธรรม เพราะ 5G ต้องประกอบด้วยย่านคลื่นความถี่ต่ำ กลาง และสูง 2.เรื่องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือกฎหมายไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ที่บังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลไซเบอร์ซีเคียวริตี้ฝั่งโทรคมนาคม ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และเป็นเรื่องใหญ่ที่จะมีผลต่อการประกอบการอย่างแน่นอนและ 3.พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (ดาต้าไพรเวซี่) ที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม 2563 แต่ขอบเขตการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน

“ทั้ง 3 เรื่อง เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเป็นมืออาชีพพอสมควร ซึ่งไทยควรกำหนดบทบาทของตัวเองว่าจะเป็นไปในทิศทางใด โดยส่วนตัวมองว่า ควรวางตัวเป็นเทคโนโลยีที่เป็นกลาง (นิวเทริล) ที่สามารถเข้าได้กับทุกเทคโนโลยี เพราะเชื่อว่า หากการแข่งขันด้านเทคโนโลยีถูกรวมไว้ในประเทศไทยจะเกิดผลดีกับประเทศมากกว่าที่จะอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง อีกทั้ง กระทรวงดีอีและ กสทช. ควรดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อลดความซับซ้อนในการดำเนินโครงการต่างๆ และเอื้อต่อการทำงานของภาคเอกชนด้วย” นายเจษฎา กล่าว

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image