พระราชปณิธาน ร.10 ‘เลอตอ’ โครงการหลวงแห่งใหม่ พลิกฟื้นชีวิตชาวเขาปกากะญอ

พระราชปณิธาน ร.10 ‘เลอตอ’ โครงการหลวงแห่งใหม่ พลิกฟื้นชีวิตชาวเขาปกากะญอ

โครงการหลวงแห่งใหม่  – จากน้ำพระราชหฤทัย สู่สายธารหล่อเลี้ยงชีวิตชาวไทยภูเขาบนพื้นที่ดอยสูง

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอดงานของมูลนิธิโครงการหลวง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขา ลดการปลูกฝิ่น และฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร ตามแนวทางพระราชทานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ก่อตั้งเป็น “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแห่งใหม่ ลำดับที่ 35” คือ “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ” อ.แม่ระมาด จ.ตาก ที่มีเป้าหมายในการเสริมสร้างอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยการส่งเสริมพืชเศรษฐกิจทดแทนการปลูกฝิ่น และการทำไร่เลื่อนลอย

โอกาสนี้ ประชาชนจิตอาสา “เราทำความ ดีด้วยหัวใจ” ในพื้นที่ ทั้งเกษตรกร เด็กนักเรียน เยาวชน และผู้เฒ่าผู้แก่ รวม 200 คน ได้ร่วมกิจกรรมปลูกหญ้าแฝกป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน บริเวณศูนย์พัฒนาฯ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2562

Advertisement

นอกจากนี้ มูลนิธิโครงการหลวงยังมีความประสงค์ที่จะพัฒนา “ปัจจัยพื้นฐาน” ในชุมชนดังกล่าว อาทิ ถนน ไฟฟ้า น้ำ จัดทำแปลงปลูกพืชในระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมทางหลวงชนบท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และสำนักงานจังหวัดตาก ผลักดันให้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอเป็น “ต้นแบบการพัฒนาพื้นที่สูงแห่งแรกของจังหวัดตาก”

เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแก่งานโครงการหลวง และดำเนินการสนองพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สำหรับสภาพพื้นที่ในความดูแลของศูนย์พัฒนาฯครอบคลุม 2 อำเภอ คือ อ.แม่ระมาด และ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของชาวไทยภูเขาเผ่าปกากะญอ 6 หมู่บ้าน จำนวน 1,111 ครัวเรือน เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ห่างไกล ทุรกันดาร ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา และราษฎรยากจน ถือครองพื้นที่ทำกินสืบทอดจากบรรพบุรุษ และดำรงชีพด้วยการปลูกฝิ่นและบุกรุกป่าเพื่อปลูกข้าวโพด

Advertisement
เส้นทางสู่โครงการหลวงเลอตอ
แปลงปลูกผัก

สมชาย เขียวแดง หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ เล่าว่า แต่เดิม อ.แม่ระมาด เป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นมากเป็น “อันดับ 1” ในประเทศไทย จนกระทั่งปลายปี พ.ศ.2559 มูลนิธิโครงการหลวงได้เริ่มเข้าดำเนินงานพัฒนาชุมชนบ้านเลอตอ โดยใช้ประสบการณ์การพัฒนาพื้นที่สูงตลอดระยะเวลา 50 ปี (พ.ศ.2512-2562) ของโครงการหลวงมาปรับใช้ เริ่มจากการสำรวจพื้นที่ พูดคุยกับชาวบ้านเพื่อรับทราบข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ โดยยึดหลักสำคัญคือ “ป่าอยู่ในส่วนที่เป็นป่า ทำไร่ทำสวนในส่วนที่ควรเพาะปลูก อย่าให้ทั้งสองส่วนนี้รุกล้ำซึ่งกันและกัน”

“ปัญหาแรกที่พบคือการสื่อสารกับชาวบ้าน เพราะชาวบ้านที่นี่เป็นชนเผ่าปกากะญอ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากชาวบ้าน” หัวหน้าศูนย์เล่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง

และแม้การบุกเบิกพัฒนาโครงการหลวงเลอตอจะยากลำบาก แต่ด้วยความมุ่งมั่นเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จตามพระราชประสงค์และพระราชปณิธาน ในระยะเวลาเพียง 1 ปี สภาพพื้นที่ที่เป็นไร่ฝิ่นและไร่เลื่อนลอย เริ่มแปรเปลี่ยนเป็นแปลงผัก ผลไม้เขตหนาว เกษตรกรเริ่มเข้าใจและเกิดจิตสำนึกในการฟื้นฟูอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า

“ถ้าให้ปลูกป่าดูแลป่าอย่างเดียวคงไม่มีใครดูแล จึงคิดว่าน่าจะฟื้นสภาพป่าตามแนวพระราชดำริ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือให้ชาวบ้านปลูกเกาลัดจีน แมคคาเดเมีย สามารถเก็บไปขายได้ ไฟไม่ไหม้แน่นอน ทั้งยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตที่กินอยู่แบบพอเพียง รักษาป่า ดูแลป่า” สมชายกล่าว และว่า

ผลที่ได้ในปีที่ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 3 คือจำนวนเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมเพิ่มขึ้นเป็น 214 ราย รายได้จากการจำหน่ายผลผลิตรวมกว่า 2 ล้านบาทต่อปี ผลผลิตหลัก ได้แก่ คะน้าฮ่องกง เบบี้ฮ่องเต้ กวางตุ้งต้น ถั่วแขก พริกกะเหรี่ยง เสาวรส เคพกูสเบอรี่ อะโวคาโด สตรอเบอรี่ ฯลฯ

ส่วนดาวเด่นคือ “เสาวรส” เพราะปลูกในพื้นที่หนาวได้เปรียบเรื่องรสชาติ พื้นที่ใช้ปลูกน้อยแต่ให้ปริมาณเยอะ ดูแลไม่ยากมาก ตลอดจนเป็นไม้ผลที่ระบบการจัดการเก็บเกี่ยวสามารถ “รอได้” ซึ่งเหมาะกับวิถีชีวิตของชาวปกากะญอซึ่งต้องปลูกข้าวตลอดทั้งปี การมาดูแลแปลงไม้ผลและพืชผักจึงมักจะทำในช่วงที่ว่างหลังจากงานหลัก

“การส่งเสริมการทำนาและปลูกข้าวไร่ถือเป็นภารกิจหลักของโครงการหลวงเพราะเป็นความมั่นคงทางด้านอาหาร ส่วนที่เป็นพืชรายได้อื่นๆ เกษตรกรจะเป็นคนเลือกปลูกแล้วแต่ว่าใครชอบอะไร แล้วมาส่งให้เราจัดส่งการผลิตที่

โรงคัดบรรจุ เป้าหมายตอนนี้คือปีหน้าสร้างถนนขึ้นมาถึงโรงคัดบรรจุได้เสร็จก็พอใจแล้ว เพราะบนนี้เราสามารถบริหารจัดการได้ พร้อมขาย พร้อมแปรรูป ที่จะวิ่งเข้ากรุงเทพฯ” หัวหน้าศูนย์กล่าว

แปลงปลูกเสาวรส
เสาวรส
นายสมชาย เขียวแดง หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ

อิทธิพล ดอยสะอาด อายุ 47 ปี เกษตรกรในโครงการหลวงเลอตอ รุ่นที่ 2 เจ้าของพื้นที่เพาะปลูกกว่า 4 ไร่ เต็มไปด้วยเสาวรส อะโวคาโด พลับ และลิ้นจี่ เผยว่า ก่อนหน้านี้เขาปลูกข้าวโพดเป็นอาชีพเสริมประมาณ 2 ปี แต่พอมีโครงการหลวงเข้ามาให้ความรู้ก็เลิกและไม่กลับไปปลูกอีกแน่นอน เพราะการปลูกข้าวโพดทำลายป่า และใช้ต้นทุนสูงมาก โดยเฉพาะสารเคมี

“ภูมิใจมากๆ ที่ได้เป็นเกษตรกรในโครงการหลวง เพราะตั้งแต่มีโครงการหลวงเข้ามาในหมู่บ้านเรา หมู่บ้านเราเจริญขึ้นเยอะ จากที่เมื่อก่อนแย่มาก ถนนไม่มี ต้องเดินอย่างเดียว เวลาชาวบ้านป่วยต้องหามไปเพราะไม่มีรถ เสียชีวิตกลางทางก็มี” อิทธิพลกล่าวด้วยน้ำเสียงตื้นตัน

อิทธิพล ดอยสะอาด

ขณะที่ แปะแหละ บำเพ็ญขุนเขา อายุ 47 ปี เกษตรกรในโครงการหลวงเลอตอรุ่นแรก เล่าว่า ด้วยสภาพการเดินทางที่ยากลำบาก ไม่มีถนนเข้าถึง ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถออกไปทำงานในเมืองได้ จึงใช้ชีวิตกันตามอัตภาพ ครั้นมีการก่อตั้ง “ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเลอตอ” ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น

“พอเห็นถนน ก็เหมือนเห็นอนาคต” แปะแหละกล่าวด้วยน้ำเสียงและแววตาจริงจัง และเล่าว่า ตอนแรกเริ่มปลูกผักกลางแจ้ง เจอปัญหาเยอะทั้งหนอนและแมลง เจ้าหน้าที่โครงการหลวงก็ได้มาแนะนำให้ปลูกในโรงเรือน ทั้งยังน้อมนำเอาแนวทางพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้คือการปล่อยไก่เข้ามาในโรงเรือน โดยไก่จะช่วยจิกกินหนอนแมลงที่อยู่ในดินซึ่งเรามองไม่เห็น เป็นการกำจัดศัตรูพืชแบบหนึ่ง ส่วนแรงงานก็ทำกันเองในครอบครัว ไม่มีลูกจ้าง

เมื่อถามว่า “คุณภาพชีวิตดีขึ้นไหม” แปะแหละบอกว่า ชีวิตเป็นอยู่ก็ดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา โดยเฉพาะการทำงานที่ไม่หนักเท่าเมื่อก่อน และเชื่อว่าชีวิตจะดีขึ้นอีกแน่นอน

สามารถไปสัมผัสผลิตผลโครงการหลวงจากแปลงเกษตรกรชาวเขา รวมทั้งศูนย์เลอตอ ในงาน “โครงการหลวง 50” ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ตั้งแต่วันที่ 9-18 สิงหาคมนี้

แปะแหละ บำเพ็ญขุนเขา
ประชาชนจิตอาสาปลูกหญ้าแฝก
จิตอาสาปลูกหญ้าแฝก
ประชาชนจิตอาสาปลูกหญ้าแฝก
รดน้ำแปลงกวางตุ้ง
ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image