ภัยแล้งมาแล้ว เปิดแผนรับมือ “เขื่อน-บาดาล-ฝนหลวง”

žภัยแล้งหรือการขาดแคลนน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภค และน้ำที่ใช้เพื่อการเกษตร เป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนเป็นกังวลในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่อเค้ามาตั้งแต่ปีก่อนหน้าแล้วว่า ในบางพื้นที่จะเกิดฝนทิ้งช่วงทำให้น้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร ทางภาครัฐจึงต้องเตรียมพร้อมในการช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน

จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นมา คาดว่าปริมาณฝนที่จะตกในช่วงครึ่งแรกของฤดูฝน หรือระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม จะมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ 5-10% และส่วนครึ่งหลังของฤดู หรือระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม จะมีปริมาณฝนใกล้เคียงกับค่าปกติและคาดว่าจะมีพายุพัดผ่านประเทศไทย 1-2 ลูกในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ แต่ฝนที่ตกในช่วงเดือนมิถุนายน-15 กรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่า มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ 30-40% ในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ส่วนภาคอื่นๆ เป็นไปตามคาดการณ์ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเอลนิโญกำลังอ่อน โดยที่คาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สำหรับครึ่งหลังฤดูฝนยังคงยืนยันเหมือนเดิมใกล้เคียงกับค่าปกติ เทียบใกล้เคียงกับปี 2550 และในปี 2562 นี้ มีปริมาณฝนมากกว่าปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่แล้งสุด ประมาณ 12%

สำหรับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน พบว่าแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 34,796 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แหล่งน้ำขนาดกลาง 660 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 1,989 ล้าน ลบ.ม. และแหล่งน้ำขนาดเล็ก 142,234 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 2,003 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น ภาคเหนือ 9,276 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 34% ของความจุอ่างฯ ภาคกลาง 511 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 20% ของความจุอ่างฯ ภาคอีสาน 4,281 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 33% ของความจุอ่างฯ ภาคตะวันตก 18,293 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 68% ของความจุอ่างฯ ภาคตะวันออก 1,119 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 36% ของความจุอ่างฯ และภาคใต้ 5,328 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 58% ของความจุอ่างฯ

Advertisement

ทั้งนี้ ในส่วนของศักยภาพน้ำบาดาล อยู่ที่ประมาณ 1,228 ล้าน ลบ.ม.ต่อเดือน ส่วนอ่างฯ ขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อยกว่า 30% มีทั้งหมด 18 แห่ง อ่างฯ ขนาดกลาง น้ำน้อยกว่า 30% มี 144 แห่ง แบ่งเป็นภาคเหนือ 16 แห่ง ภาคอีสาน 102 แห่ง ภาคตะวันออก 10 แห่ง ภาคกลาง 11 แห่ง ภาคตะวันตก 2 แห่ง และภาคใต้ 3 แห่ง ซึ่งสถานการณ์น้ำมีปริมาณน้ำใกล้เคียงกับ ปี 2557 แต่ปัจจุบันยังมีปริมาณน้ำมากกว่า ปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่แล้งสุด จำนวน 5,054 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 15%

หากถามถึงสาเหตุที่ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนในฤดูฝนมีปริมาณน้อย จากการสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า มีการส่งน้ำให้กับพื้นที่เกษตรที่เพาะปลูกเกินแผนในฤดูแล้งปี 2561/62 โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกเกินแผน 1.2 ล้านไร่ ทำให้ต้องจัดสรรน้ำมากกว่าแผน 20% หรือประมาณ 1,528 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงในช่วงนี้มีปริมาณฝนตกจริงน้อยกว่าที่คาดการณ์ของกรมอุตุฯ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ประมาณ 30-40% ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงทำให้ต้องจัดสรร
น้ำจากอ่างเก็บน้ำให้พื้นที่การเกษตรมาก
กว่าแผน

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ระบุว่า สทนช.ได้ทำการวิเคราะห์ชี้เป้าหมายพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำพร้อมแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อเฝ้าระวังเตรียมการวางแผนรับมือ ทบทวนปรับแผนการจัดสรรน้ำ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่เสี่ยงจำนวน 160 อำเภอ 21 จังหวัด

Advertisement

รวมถึงได้ทำการวิเคราะห์ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2562 พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 240 อำเภอ 36 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 105 อำเภอ 12 จังหวัด ภาคเหนือ 61 อำเภอ 11 จังหวัด ภาคใต้ 70 อำเภอ 9 จังหวัด ภาคตะวันออก 2 อำเภอ 2 จังหวัด ภาคกลาง 1 อำเภอ 1 จังหวัด และภาคตะวันตก 1 อำเภอ 1 จังหวัด ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะมีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่นอกเขตชลประทานขยายวงกว้างและทวีความรุนแรงขึ้นช่วงระยะต่อจากนี้ โดยเฉพาะ จ.สุรินทร์ และจ.บุรีรัมย์

“สทนช.ได้ทบทวนคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ สำหรับสถานการณ์เอลนิโญกำลังอ่อน พบว่าปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างจริง 3,001 ล้าน ลบ.ม. แต่มีการระบายน้ำ 7,758 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำไหลเข้าส่งผลให้ปริมาณน้ำลดลงต่อเนื่อง จากการประเมินกรณีน้ำน้อย ปริมาณน้ำจะไหลเข้าอ่างระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม-31 ตุลาคม 2562 จำนวน 16,705 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างจำนวน 43,484 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าจะมีปริมาณน้ำจะเพียงพอสำหรับ อุปโภค-บริโภค รักษาระบบนิเวศ อุตสาหกรรม สำรองน้ำต้นฤดูฝน และสามารถทำการเพาะปลูกสำหรับพืชใช้น้ำน้อยและเกษตรต่อเนื่องเท่านั้น

Žในเรื่องของมาตรการรับมือ ของภาครัฐได้วางแผนรับมือเชิงป้องกันกำหนดมาตรการประหยัดน้ำ จัดทำฝนหลวง เพื่อเร่งเก็บกักน้ำไว้สำหรับการใช้น้ำในฤดูแล้งถัดไป รวมทั้งจัดทำข้อมูลและแผนที่แสดงแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียงพื้นที่เสี่ยงในรัศมี 50 กิโลเมตร ส่งให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ในการวางแผนรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง และบริหารจัดการน้ำฝนที่ตกบริเวณพื้นที่ท้ายแหล่งเก็บกักน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด

หลังจากนี้คงต้องจับตามองกันต่อไปว่ามาตรการป้องกันต่างๆ ของภาครัฐที่วางเอาไว้ จะสามารถควบคุมภัยแล้งที่ค่อยๆ คุกคามประเทศไทย จนทำให้ทุกฝ่ายและประชาชนที่ประกอบการอาชีพเกษตรกรไว้วางใจได้อย่างที่คาดหวังหรือไม่ !!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image