สแตนดาร์ดแบงก์หั่นจีดีพีโต 3.3% จับตาเสถียรภาพรัฐบาล ลุ้นได้ปรับเรตติ้งประเทศเพิ่มความเชื่อมั่นดึงเงินลงทุน

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี2562 ลงมาอยู่ที่ 3.3% จากเดิม 4.0% โดยไทยจะยังคงเผชิญความไม่แน่นอนจากปัจจัยทั้งภายในประเทศที่เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการบริโภคที่มีแรงหนุนจากยอดซื้อรถยนต์ที่ชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่กลับมาเพิ่มขึ้นทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความกังวลและอาจจะมีมาตรการที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อรถยนต์ออกมา และผลกระทบด้านภัยแล้งที่มากขึ้น ขณะที่ด้านต่างประเทศได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าทำให้การส่งออกติดลบ 3% ในช่วงครึ่งปีแรกคาดทั้งปีขยายตัว 0% ซึ่งส่งผลให้การลงทุนชะลอตัวด้วย การท่องเที่ยวที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนและยุโรปลดลง อย่างไรก็ดี ต้องจับตาเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่และความสามารถในการบริหารประเทศอย่างใกล้ชิดถ้าดำเนินไปได้ด้วยดีอาจจะกลายเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ และคาดว่าช่วงสิ้นปีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยให้จีดีพีไตรมาสที่ 4 โตถึง 3.5%

จีดีพีไตรมาสแรกขยายตัว 2.8% ส่วนไตรมาสที่ 2 ชะลอไปค่อนข้างมากเพราะอยู่ในช่วงจัดการเลือกตั้งคาดว่าจะขยายตัวเลยไม่เกิน 3% ทำให้จีดีพีครึ่งปีแรกยังต่ำกว่า 3% ซึ่งต้องติดตามทิศทางเศรษฐกิจช่วงไตรมาสที่ 3 ที่ยังคาดขยายตัว 3% แต่คาดว่าหลังจากการแถลงนโนบายรัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเร่งด่วนออกมาโดยใช้งบประมาณปี 2562 ราว 8 หมื่นล้านบาท ถึง 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยแล้งและราคาสินค้าเกษตรกระตุ้นบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยวในประเทศทำให้จีดีพีไตรมาสที่ 4 ขยายตัว 3.5% ทำให้ทั้งปียังโตดีที่ 3.3%” นายทิมกล่าว

นายทิมกล่าวว่า หลังจากที่การเมืองไทยชัดเจนขณะนี้ฟิตซ์เรตติ้งส์ได้ปรับมุมมองการลงทุนในไทยจากระดับมีเสถียรภาพ (Stable outlook) เป็นเชิงบวก (Positive outlook) ล่าสุดมูดี้ส์ได้มีการปรับมุมมองเช่นเดียวกัน คาดว่าเอสแอนด์พีน่าจะมีการปรับมุมมองตามมา ซึ่งต้องติดตามว่านอกจากการปรับมุมมองนี้จะทำให้เห็นการปรับอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิตเรตติ้ง) ของประเทศไทยปัจจุบันอยู่ที่ BBB+ ขึ้นมาอยู่ที่ A- ได้หรือไม่ โดยปัจจัยที่ติดตามมาคือเสถียรภาพรัฐบาลมูลค่าจีดีพีต่อหัวประชากรไทยที่ยังต่ำจึงต้องเร่งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการส่งออก การท่องเที่ยว และมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้สำเร็จ โดยหากมีการปรับเครดิตประเทศขึ้นจะส่งผลดีต่อเม็ดเงินลงทุนต่างชาติจะไหลเข้ามาลงทุนในไทยและส่งผลดีในแง่จิตวิทยา

นายทิมกล่าวว่า ด้านค่าเงินบาทช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ คาดอยูที่ 30.50-31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดดอกเบี้ยลงในช่วงสิ้นเดือนนี้จะเป็นผลลบต่อดอลลาร์สหรัฐมีเงินไหลเข้าประเทศเกิดใหม่และคาดว่าสิ้นปีอยู่ที่ 31.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามทิศทางเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายคาดว่า ธปท.จะคงดอกเบี้ยนโยบายตลอดทั้งปีนี้ที่ 1.75% แต่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะเริ่มเสียงแตกและมีความเห็นด้านการลดดอกเบี้ยมากขึ้น คาดว่าการประชุม กนง. ครั้งที่ 5/2562 ในเดือนสิงหาคมจะเริ่มมีคณะกรรมการ 1-2 ท่านโหวตลดดอกเบี้ยจากแรงกดดันจากภาครัฐ ผลกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวรวมทั้งแนวโน้มการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกที่เกิดขึ้นแล้ว นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ธปท. อาจจะมีการปรับกรอบเงินเฟ้อลงจากปัจจุบันค่ากลางที่ 2.5% บวกลบ 1.5% หรือที่ 1-4% อาจลดค่ากลางมาอยู่ที่ 2.0% ซึ่งเงินเฟ้อไทยอยู่ที่ราว 1% ในปัจจุบัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image