บทความ : คดี 9 ศพบนทางด่วน บทสะท้อนความยุติธรรมทางกฎหมายที่ต้องรอคอยการแก้ไขใหม่ : โดย นพดล ปกรณ์นิมิตดี

เมื่อกล่าวถึงความยุติธรรมทางกฎหมาย ที่คู่กรณีไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือจำเลยร้องขอต่อศาล ไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง หรือจะเป็นคดีอาญาก็ตามที ส่วนใหญ่มักจะจบลงโดยมีผู้ชนะและต้องมีผู้แพ้เสมอ แม้ว่าในคดีแพ่ง อาจมีเรื่องราวของการใช้วิธีการประนีประนอมยอมความเข้ามาช่วย แต่แน่นอนละครับ สิ่งที่หวังสิ่งที่อยากได้จากกระบวนการยุติธรรมย่อมต้องมีผลลัพธ์เป็นผู้ได้และผู้เสีย สมหวัง 100% หรืออาจเพียงสมหวัง 10 หรือ 30% บ้าง จะใช้หลักการ win win ได้ทั้งคู่ สมหวังทั้งคู่ ก็น่าจะกระไรอยู่ สำหรับกระบวนการยุติธรรมทางอาญาแต่หากใช้วิธีการตัดสินคดีโดยผู้พิพากษา ผลลัพธ์ของการพิจารณาพิพากษาย่อมต้องเป็นคนหนึ่งต้องถูก อีกคนก็ต้องผิด เว้นเสียแต่ยกฟ้อง

พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553

มาตรา 119 บัญญัติว่า ในการพิจารณาและพิพากษาคดีที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กหรือเยาวชน ซึ่งควรจะได้รับการฝึกอบรมสั่งสอนและสงเคราะห์ให้กลับตัวเป็นพลเมืองดียิ่งกว่าการที่จะลงโทษ และในการพิพากษาคดีนั้นให้ศาลคำนึงถึงบุคลิกลักษณะ สภาพร่างกายและสภาพจิตของเด็กหรือเยาวชนซึ่งแตกต่างกันเป็นคนคนไป และลงโทษหรือเปลี่ยนโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนให้เหมาะสมกับตัวเด็กหรือเยาวชน และพฤติการณ์เฉพาะเรื่อง แม้เด็กหรือเยาวชนนั้นจะได้กระทำความผิดร่วมกัน

คำว่า คดี ตามความในมาตรา 119 บรรทัดแรกดังกล่าวข้างต้น หมายถึงคดีอาญา ที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดนั่นเองซึ่งกฎหมายได้นิยามความเป็นเยาวชนไว้ คือ บุคคลอายุเกินสิบห้าปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์

Advertisement

หากอ่านบทบัญญัติมาตรา 119 เพียงมาตราเดียว ย่อมแสดงให้เห็นได้ว่า การฟ้องร้องคดีอาญาต่อเยาวชนซึ่งในขณะกระทำความผิดขับรถยนต์พุ่งเข้าชนท้ายรถตู้สาธารณะ บนทางยกระดับอุตราภิมุข ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารจำนวน 14 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่ง และหน่วยงานของรัฐอีกแห่งหนึ่ง เป็นเหตุให้รถตู้คันดังกล่าวชนขอบทางยกระดับอย่างแรง ส่งผลให้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนหลายคนนั้น

ตัวจำเลยซึ่งเป็นเยาวชน ณ ขณะนั้น ย่อมได้รับประโยชน์โดยมีกฎหมายเป็นตัวช่วย จากผลการกระทำความผิดทางอาญาของตน อันเนื่องด้วยเหตุผลอันเป็นองค์ประกอบสำคัญ คือ เขายังเป็นเยาวชนที่อายุไม่เกิน 18 ปี และการถูกพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชำนัญพิเศษ อันที่จริงแล้ว จำเลยทุกคนจะยากดีมีจน หากแต่ยังเป็นเยาวชนตามนิยามของกฎหมายศาลเยาวชนและครอบครัวฯ ก็ย่อมได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับเดียวกัน คงมิได้มีการแบ่งแยกฐานะทางสังคม ฐานะการเงิน หรือเอาเรื่องความรวย จน มาเป็นตัวตัดสินให้จำเลยคนหนึ่งคนใดได้รับประโยชน์หรอกครับ

แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 27 จะได้บัญญัติว่า “บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน” แต่ความเป็นจริงเด็กหรือเยาวชน ย่อมมีวุฒิภาวะ และความรู้ความเท่าทันในการใช้ชีวิตที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ หรือคนที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ในทางสากล รวมถึงประเทศไทย จึงได้มีการบัญญัติกฎหมายในลักษณะข้างต้น

Advertisement

อันที่จริง โดยความเห็นส่วนตัว เห็นว่ากฎหมายบัญญัติเนื้อหาไว้ดีแล้ว แต่ปัญหาอาจเกิดจากการบังคับใช้ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้ดุลพินิจด้วยก็ส่วนหนึ่ง การให้โอกาสเด็กหรือเยาวชนที่พลาดพลั้งจากการกระทำความผิดอาญา ให้เขาได้เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ย่อมเป็นแนวคิดที่ดีครับ กฎหมายก็เขียนชัดนะครับว่า… คำนึงถึงบุคลิกลักษณะ สภาพร่างกายและสภาพจิตของเด็กหรือเยาวชนซึ่งแตกต่างกันเป็นคนคนไป…

มิใช่ว่าหากเยาวชนอายุ 17 ปี กระทำความผิดความอาญา ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยสมมุติจะต้องใช้แนวบรรทัดฐานเดียวกัน คือ รอการลงโทษ รอการกำหนดโทษ ทุกคดีเสมอไป เพราะเขายังอายุ 17 ปี ก็กระไรอยู่

หากสมมุติข้อเท็จจริงในคดีอาญา เขามิได้ยอมรับผิด มิได้สำนึกในการกระทำของตน หรือบอกว่ายอมรับผิดไม่ได้ ขอโทษไม่ได้ ใช้คำว่า เสียใจ เพราะกลัวมีผลต่อคดีแพ่ง ที่อาจทำให้ตนเองต้องจ่ายเงินเยอะ นักกฎหมายหรือผู้ใช้กฎหมาย เรายังควรใช้บรรทัดฐานเดียวในการตัดสินปัญหาที่คล้ายคลึงกันโดยตลอดหรือไม่ ยังคงเป็นคำถามที่น่าคิดสำหรับกรณีเยาวชนที่กระทำความผิดอาญา

ในทางกลับกัน หากเยาวชน (ผู้กระทำความผิด หรือจำเลย เป็นผู้ยากจน หรือไม่มีฐานะทางการเงินที่ดีพอ) การเรียกร้องทรัพย์สิน เงินทอง จากผู้กระทำความผิดหรือจำเลย เป็นจำนวนเงินหลักสิบล้าน ก็คงมิได้ประโยชน์อะไร เพราะจำเลยก็คงไม่มีอะไรจะให้อยู่ดี ปัญหาที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่มีฐานะ หากมีเงินหรือหากมีทางชดใช้เยียวยาให้เขาได้ แต่มิได้อยากจะจ่าย มิประสงค์จะชดเชยให้กับฝ่ายที่ถูกกระทำ นั่นแหละครับคือปัญหาที่ฝ่ายโจทก์ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานอัยการหรือผู้เสียหายในคดีอาญา คงต้องนำเสนอข้อเท็จจริงให้ศาลทราบ

ฉะนั้น ข้อเสนอเพื่อการศึกษาความเป็นไปได้ในอนาคต ก็คือ ก่อนศาลจะพิพากษาคดีอาญา ที่มีข้อหาว่าจำเลยซึ่งเป็นเยาวชน ได้กระทำความผิดอาญา โดยมีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาที่มีข้อหาว่าเยาวชนกระทำผิด การนำประเด็นเรื่องการจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายโจทก์ ผู้เสียหาย ควรจะพิจารณาไปพร้อมกันก่อนจะได้หรือไม่ โดยอาศัยช่องทางกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หมวดที่ว่าด้วยการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

ทั้งนี้ จำเลยหรือผู้กระทำความผิดหากมีสถานะทางการเงินที่สามารถบรรเทาปัญหา ก็ควรแสดงความจริงใจ ชำระให้เขาไปเลย หากจะต่อรองกันอย่างไร ก็ต่อรองในชั้นนั้นไปเลย มิใช่หาช่องทางกฎหมาย หาวิธีการชดเชยความเสียหายบางส่วนก่อน และขอให้ฝ่ายโจทก์คือผู้เสียหายยอมจบคดีอาญาก่อน แล้วคดีแพ่งค่อยไปว่ากันอีกที หลังรอให้คดีอาญาสิ้นสุดลง ซึ่งจะทำให้ฝ่ายโจทก์ต้องรอคอยความยุติธรรมที่นานเกินไปจากการต้องต่อสู้กับจำเลย นะครับ

นพดล ปกรณ์นิมิตดี

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image