“อธิรัฐ” มอบนโยบาย จท. เน้นย้ำใช้กม.จัดระเบียบท่าเรือ

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายผู้บริหารกรมเจ้าท่าในวันนี้ (5 ส.ค.) จะมีการเน้นย้ำกำกับเรื่องการใช้กฎหมาย โดยจะจัดระเบียบใหม่ทั้งหมด ในส่วนของท่าเรือและเรือโดยสารที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากมีทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ซึ่งจะทำให้เรือที่ผิดกฎหมายเปลี่ยนเป็นถูกกฎหมายให้ได้ ตั้งเป้าจะดำเนินการในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมดก่อน เนื่องจากความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะในสถานการณ์ขณะนี้ที่อาจจะเกิดเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้นได้ อาทิ การลอบวางระเบิด ซึ่งท่าเรือเป็นอีกจุดที่มีประชาชนใช้งานหนาแน่น และมีผู้โดยสารในแต่ละวันค่อนข้างมาก จึงต้องให้ความสำคัญกับด้านนี้และทำให้มากกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้

นายอธิรัฐ กล่าวว่า รวมถึงจะมีการพัฒนาระบบการขนส่งที่เชื่อมต่อกัน ทั้งทางน้ำและทางบก จะมีการหาวิธีที่จะทำให้ท่าเรือเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายต่างๆ และเชื่อมทางบกกับป้ายรถเมล์ รวมถึงอาจจะสามารถบูรณาการให้เชื่อมต่อทางอากาศเพิ่มเติม ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นนโยบายหลักของกระทรวงคมนาคมตั้งแต่แรกอยู่แล้ว โดยมีนโยบายเร่งด่วนในการพัฒนาท่าเรือที่มีอยู่ในปัจจุบัน จำนวน 19 ท่า เพื่อพัฒนาให้เชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ ได้ และเพิ่มมาตรฐานให้เทียบเท่าสากลมากขึ้น โดยจะมีการพัฒนาท่าเรือนำร่องที่มีอยู่แล้วอย่างท่าเรือสาทร ให้เป็นท่าเรือต้นแบบ ในการพัฒนาให้เป็นสถานีท่าเรือปิด เหมือนสถานีรถไฟหรือสนามบิน โดยจะใช้งบประมาณในการพัฒนาท่าเรือทั้ง 19 ท่า จำนวน 800 ล้านบาท เฉพาะท่าเรือสาทรจะใช้งบประมาณ 14 ล้านบาท พร้อมกับเปิดให้เอกชนเข้ามาประกอบธุรกิจในพื้นที่ได้ อาทิ ร้านสะดวกซื้อ ซึ่งจะเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในปี 2563-2564 เนื่องจากต้องการที่จะแบ่งเบาความหนาแน่นในการเดินทางผ่านทางบกและทางราง ซึ่งการเดินทางน้ำก็ถือเป็นอีกทางเหลือหนึ่ง ที่หากได้รับความนิยมมากขึ้น ก็จะสามารถลดปริมาณการสัญจรทางบกและทางรางได้

“ขณะนี้แผนในระยะสั้นได้เน้นย้ำถึงการดูแลความปลอดภัยให้รัดกุมมากขึ้น หลังเกิดเหตุลอบวางระเบิดหลายจุดในกรุงเทพฯเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสั่งการให้ดูแลความปลอดภัยในท่าเรือโดยสารทุกแห่ง ขอให้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอในการตรวจตราเฝ้าระวัง และที่สำคัญคือ การตรวจสอบกล้องวงจรปิดทุกจุด เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เมื่อเกิดเหตุใดขึ้นต้องไม่มีคำว่ากล้องเสียเกิดขึ้น โดยเท่าที่ตรวจสอบขณะนี้มาตรการมีความพร้อมในการเฝ้าระวังมากพอแล้ว เพียงแต่ต้องกำกับให้แข็งแรงขึ้น”นายอธิรัฐกล่าว

นายอธิรัฐ กล่าวว่า ในส่วนของเรือโดยสารในพื้นที่กทม.และปริมณฑล การเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา เรือคลองแสนแสบ ปัจจุบันสภาพตัวเรือที่บริการอาจไม่ดีนัก ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าไปเจรจาขอความร่วมมือกับภาคเอกชนให้มีการปรับปรุงสภาพให้ดีและมีมาตรฐานมากยิ่งขึ้น สำหรับโครงการปรับปรุงสภาพท่าเรือในกทม.จำนวน 19 ท่า ขณะนี้ทราบว่าปรับปรุงไปแล้ว 16 ท่า เหลืออีก 3 ท่า ที่จะให้กรมเจ้าท่าเร่งรัดในการปรังปรุงต่อไป โดยยืนยันว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนภายใน 3 เดือนต่อจากนี้

Advertisement
นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า

นายสมศักดิ์ ห่มม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า การปรับปรุงท่าเรือให้มีความทันสมัยอยู่ในแผนการดำเนินการของกรมเจ้าท่าที่จะใช้งบประมาณหมดในการพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา 19 แห่ง ซึ่งมีงบประมาณทั้งหมด 800 ล้านบาท โดยกรมเจ้าท่ามีแผนที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 แต่กระทรวงคมนาคมต้องการเร่งรัดแผนให้เร็วขึ้นหรือเสร็จภายในปี 2563-2564 ซึ่งส่วนนี้ก็จะพยายามดำเนินการให้เต็มที่ โดยแผนการปรังปรุงและพัฒนาท่าเรือทั้ง 19 ท่านั่น เนื่องจากต้องการเพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทางผ่านทางน้ำมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่ 5 หมื่นคนต่อวัน แต่ในช่วงเทศกาลหรือช่วงที่มีผู้โดยสารใช้บริการมากสุด มีจำนวนกว่าแสนราย ซึ่งมากเกินขีดความสามารถในการรองรับจำนวนผู้โดยสารของท่าเรือที่รับได้เพียง 5-7 หมื่นคนต่อวันเท่านั้น จึงจะมีการพัฒนาให้ท่าเรือทุกแห่งสามารถบริการด้วยความทันสมัยและมีคุณภาพในการบริการที่ดีขึ้น ซึ่งคาดว่าหากท่าเรือพัฒนาแล้วเสร็จแล้วจะมีผู้ใช้บริการไม่ต่ำกว่าวันละ 200,000 คน

“การพัฒนาท่าเรือต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะไม่สามารถปิดพื้นที่ปรับปรุงทั้งหมดได้ ต้องศึกษาเพื่อให้เกิดผลกระทบกับประชาชนที่ใช้บริการให้น้อยที่สุด”นายสมศักดิ์กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้กรมเจ้าท่ายังได้รับมอบหมายให้ทำการเร่งรัดจัดระเบียบความปลอดภัยการสัญจรทางน้ำ และตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของเรือโดยสารและท่าเรือทั้งหมด รวมถึงแก้ปัญหาการรุกล้ำลำน้ำสาธารณะให้เรียบร้อยเร็วที่สุด เพื่อยกระดับความปลอดภัยในการเดินทางผ่านทางน้ำให้มากที่สุด โดยเบื้องต้นจะมีการเข้าไปเจรจากับเอกชนที่ทำความผิดก่อน และให้โอกาสในการแก้ไขปัญหาให้เรียบร้อย ซึ่งหากพบว่ามีเอกชนรายใดไม่ยอมแก้ไขให้ถูกต้อง ก็จะใช้ไม้แข็งเข้าว่าต่อไป โดยในขณะนี้พบว่ามีเอกชนที่ทำความผิดในการลุกล้ำลำน้ำสาธารณะอยู่เพียง 10% และสามารถแก้ไขไปได้แล้วกว่า 90% ซึ่งตั้งเป้าที่จะจัดการให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image