กกร.คาดส่งออกติดลบ เหตุเทรดวอร์-บาทแข็งฉุดศก. ชงรัฐออกมาตรการกระตุ้น

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติคงคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ประเทศไทย ในปี 2562 ไว้ที่ 2.9-3.3% ส่วนการส่งออกคาดว่าจะติดลบ 1 ถึง 1% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป จะเพิ่มขึ้น 0.8-1.2% โดยประเมินว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 มีแนวโน้มชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2562 ที่จีดีพีโต 2.8% เนื่องจากการส่งออกและการใช้จ่ายภายในประเทศ มีสัญญาณที่อ่อนแรงลงอย่างต่อเนื่อง

นายปรีดี กล่าวว่า สำหรับในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทาย จากหลายปัจจัยต่างประเทศที่เข้ามากระทบเยอะ โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน (เทรดวอร์) ที่สหรัฐฯเตรียมปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 10% วงเงิน 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนจีนได้ตอบโต้ด้วยการปล่อยค่าเงินหยวนให้อ่อนค่าหลุดระดับ 7 หยวนต่อเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งถือว่าอ่อนค่าที่สุดในรอบ 11 ปี จึงถูกสหรัฐฯออกมาระบุว่าเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งอาจจะมีมาตรการออกมาตอบโต้เพิ่มเติมได้ อีกทั้งการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (เบร็กซิท) ยังมีความเป็นไปได้มากขึ้น ที่จะออกแบบไร้ข้อตกลงด้วย

“จากปัจจัยทั้งหมดสร้างแรงกดดันเพิ่มต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ทำให้ต้องหันมาเพิ่มแรงหนุนให้กับเศรษฐกิจในประเทศแทน กระตุ้นให้มีการใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่ม โดยเฉพาะมาตรการระยะสั้นจากภาครัฐ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาวะภัยแล้ง และฟื้นความเชื่อมั่นของภาคเอกชน โดยที่กกร.จะติดตามสถานการณ์ต่างๆ เพื่อประเมินทิศทางการปรับตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป”นายปรีดีกล่าว

นายปรีดี กล่าวว่า ขณะเดียวกันในวันพรุ่งนี้ สภาอุตวสหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)และสภาหอการค้าไทยจะเข้าหารือรวมกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อดูแลอัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงินบาทเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการส่งออก ผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขายลดผลกระทบจากอัตราอลกเปลี่ยน และในวันที่14สิงหาคมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน 3 สถาบัน(กกร.)จะเดินทางเข้าพบ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เพื่อหาแนวทางกระตุ้นการส่งออกและการค้าชายแดน

Advertisement

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแกว่งผันผวน และอาจปรับแข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นแรงกดดันที่ไม่เอื้อต่อภาพการฟื้นตัว ของการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 6 สิงหึมที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าแล้ว 5.9% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นอัตราที่แข็งค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ทำให้ภาคการส่งออกอยู่ในช่วงยากลำบากในการฟื้นตัวมาก ทำให้ต้องหันมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เน้นการบริโภคภายในประเทศ

“มาตรการที่น่าจะได้ผลในระยะสั้นมากสุด คงเป็นมาตรการทางภาษี เพื่อช่วยเหลือภาคเกษตรและภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงรายได้ของบุคลลคธรรมดาด้วย หรือจะมีมาตรการกระตุ้นผ่านการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็ได้ ในส่วนของเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา เชื่อว่าในระยะยาวจะไม่ได้รับผลกระทบอะไร แต่ในระยะสั้นอาจส่งผลในเชิงจิตวิทยาได้บ้าง เนื่องจากเชื่อมั่นว่าภาครัฐสามารถควบคุมสถานการณ์ได้”นายสุพันธุ์กล่าว

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคการส่งออกต่อจากนี้ คงต้องหันมาเน้นที่ประเทศในกลุ่ม CLMV รวมถึงการค้าตามแนวชายแดนมากขึ้น โดยภาครัฐจะต้องเร่งผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่นให้เกิดขึ้นจริง ทดแทนการซื้อขายผ่านเงินสหรัฐฯ รวมถึงกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งหากเป็นไปได้อยากให้มีการส่งเสริมการจัดประชุมสัมมนาในต่างจังหวัดมากขึ้น เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยสินค้าในชุมชมมากขึ้น โดยในวันพรุ่งนี้ (8 สิงหาคม) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าไทย จะเข้าหารือรวมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อหารือในเรื่องต่างๆ ต่อไป

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image