นักวิชาการแนะภาคอุตฯรับมือ 3 ความเสี่ยงครึ่งปีหลัง

นักวิชาการแนะภาคอุตฯรับมือ 3 ความเสี่ยงครึ่งปีหลัง

ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยระบบสารสนเทศการจัดการภัยพิบัติและความเสี่ยง และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาครัฐและโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยได้มีการนำเอาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการผลิตเข้ามาใช้ในระบบอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น แต่จากข้อมูลกลับพบว่าโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งยังไม่มีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติที่มากพอ ส่งผลให้ทุกครั้งที่เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยพิบัติในด้านอื่น ๆ มักจะเกิดผลกระทบต่อระบบการผลิตทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องและหลายธุรกิจจำเป็นต้องหยุดชะงัก ทั้งยังส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ของประเทศ กระทบความเชื่อมั่นในการลงทุนและลดโอกาสทางธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ โรงงานอุตสาหกรรมทุกขนาดรวมทั้งกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี จึงควรมีการสรรหาเทคโนโลยีเพื่อรองรับหรือป้องกันผลกระทบดังกล่าว รวมถึงมีแผนในการบริหารความเสี่ยงเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงาน (Business Continuity Management) ให้มากขึ้น ซึ่งยังเป็นผลดีในด้านการลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาที่ในภาพรวมมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี

ดร.ณัฏฐ์ กล่าวว่า สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 นี้ ภาคอุตสาหกรรมไทยควรหันมาให้ความสนใจและวางแผนในเรื่องความเสี่ยงทางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะจากภัยพิบัติ 3 ประเภทได้แก่ ภัยแล้ง โดยเฉพาะในปีนี้ด้วยเหตุจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตเนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภทจำเป็นจะต้องใช้น้ำเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิต โดยคาดว่าพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบมากจะเป็นพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น เขตอีอีซีคือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา น้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งอาจไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในระดับที่รุนแรง แต่อาจมีผลในด้านความล่าช้าและความต่อเนื่องทั้งในการกระจายสินค้า การผลิต รวมถึงผลกระทบที่มีต่อเครื่องจักรและความปลอดภัย ส่วนปัญหาอุทกภัยคาดว่าปีนี้จะไม่อยู่ในระดับวิกฤติ เนื่องด้วยข้อมูลการระบายของน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ และข้อมูลสภาพภูมิอากาศที่ไม่น่ากังวลมากนัก และปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 โดยเฉพาะในช่วงปลายปี (พฤศจิกายน – ธันวาคม) จนยาวไปถึงต้นปีถัดไปที่อาจจะมีความรุนแรง โดยโรงงานอุตสาหกรรมควรมีแผนควบคุมมลพิษที่เกิดจากกระบวนการผลิต รวมทั้งการจัดการหากสภาวะดังกล่าวอยู่ในขั้นวิกฤติ ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของบุคลากรหรือผู้ใช้แรงงาน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image