การศึกษาไทยกับการสร้าง‘ภาพ’ โดย : ธงชัย สมบูรณ์

เพราะการศึกษาเป็นกระบวนการที่ส่งผ่านการพัฒนาทุกๆ มิติของรัฐชาติ ฉะนั้นอำนาจทางการศึกษาที่แท้จริงคือ อำนาจในการพัฒนารัฐชาติโดยรวม แต่บางครั้งการศึกษาเองก็ถูกทำลายโดยความไม่กระจ่างและความไม่ต่อเนื่องของผู้ที่มีอำนาจเข้ามา
สร้างงานที่ขาดระบบและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น วาทกรรมที่เห็นได้ชัดคือ การปรับเพื่อที่จะแก้ไข แต่ความเป็นจริงเพียงใช้อำนาจที่ตนเอง “สร้างงาน” ขึ้นมาใหม่เท่านั้นเอง

การศึกษาไทยที่ดีต้องสร้าง “ภาพ”

หลายคนคุ้นชินกับคำศัพท์ “สร้างภาพ” ที่มีความหมายในเชิงลบ แต่ในเนื้อความทางสื่อสัญญะที่ฉายออกมานั้นเป็นความหมายที่ต้องยอมรับกัน เช่นเดียวกับ การศึกษาไทยที่มีการสร้างภาพโดยเฉพาะการผูกขาดกับผู้มีอำนาจและบ่อยครั้งที่ผู้มีอำนาจดังกล่าวทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ “หุ่นไล่กา” เท่านั้นกล่าวคือ ไม่มีชีวิตจิตใจ แต่เป็นตัวตนที่สามารถสร้างพลังความหวาดกลัวต่ออีกาได้ และที่ปรากฏเกลื่อนกลาดมักจะพบเห็นหุ่นไล่กาที่ปราศจากหัวและแขนขาที่สมบูรณ์ ถึงแม้ว่าการสร้างภาพจะเป็นวาทกรรมในเชิงลบ แต่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมรรคผลโดยรวมแล้ว การศึกษาไทยจำเป็นต้องสร้างภาพและให้ได้ภาพที่ดีได้ ดังนี้

1 ภราดรภาพ กล่าวคือ การศึกษาจะต้องสร้างความเป็นปึกแผ่นในความกลมเกลียวระหว่างเนื้อหาวิชากับแก่นแกนข้อความรู้ในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น ข้อความรู้หรือองค์ความรู้ที่รัฐชาติหยิบยื่นให้จะเป็นกระบวนการที่มาจากผู้มีอำนาจทั้งสิ้น ซึ่งหมายถึงกระทรวงศึกษาธิการ ความไม่ลงตัวที่เห็นอย่างชัดเจน คือเปลี่ยนแปลงแต่ไม่พัฒนา ซึ่งภราดรภาพเพื่อการพัฒนาที่เกิดขึ้นต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ชุดข้อความรู้ของโลก (World perspectives on Education) เป็นหลัก สิ่งที่รัฐจะต้องสร้างภราดรภาพและกำหนดออกมาสู่นโยบายที่ทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทของการเปลี่ยนแปลงและปริมณฑลข้อความรู้คือ ความชัดเจนในเชิงการปฏิบัติได้อย่างแท้จริงในลักษณะของเนื้อหา (Contents) หลักสูตร (Curriculums) และกระบวนวิชาที่เรียน (Courses of Study) แต่ภาพที่เห็นในปัจจุบันพบว่า มีความเหินห่างและยังมีการอภิปรายหรือการเข้าถึงที่คลุมเครือ

Advertisement

2 มิตรภาพ การศึกษาที่ดีคือการสร้างมิตรภาพแบบรวม ไม่ว่าจะเป็นบริบทระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ผู้เรียนกับผู้เรียน ผู้เรียนกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ผู้มีอำนาจในการวางแผนการศึกษาด้วยกันก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นอยู่คือ “มิตรภาพจอมปลอม” หลายครั้งที่มีเหตุการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ความรุนแรงเชิงอำนาจ และความรุนแรงเชิงผู้เสพและให้ มิตรภาพที่ดีต้องหยิบยื่นให้กันและกันด้วยความจริงใจ เพื่อการพัฒนา

และที่สำคัญ มิตรภาพจะต้องไม่แสดงออกในลักษณะ “พรรคพวก” แต่เป็นมิตรภาพสำหรับทุกคน และสำหรับสิ่งแวดล้อมทั้งปวง

3 เอกภาพ มีนักวิชาการหลายท่านที่ได้แสดงฐานคิดและวิพากษ์การศึกษาไทยว่าขาดเอกภาพ เอกภาพทางการศึกษาที่ดีนั้นต้องสามารถทำให้ผู้เรียนหรือผู้คนในรัฐชาติเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด เกิดการเปลี่ยนแปลงการกระทำและมุ่งพัฒนาการนำข้อความรู้/องค์ความรู้ต่างๆ ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพของสังคมต่อไปได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เอกภาพทางการศึกษาไทยต้องมีลักษณะที่ประมวลความรอบรู้ที่มีให้ไปสู่การใช้ชีวิตที่ดีงามได้

Advertisement

4 คุณภาพ การสร้างภาพของการศึกษาไทยที่ดีอีกประการหนึ่งคือ คุณภาพทางการศึกษา ซึ่งสามารถพิสูจน์และมีมาตรวัดประเมินผลได้จากการศึกษาที่มอบให้กับผู้คนทั้งรัฐชาติที่นำพามาในรูปแบบของระบบการศึกษาต่างๆ คุณภาพเชิงตรรกะที่ง่ายสุดคือ การศึกษาที่ดีต้องสามารถให้ผู้เรียนคิดเป็นและคิดได้ และง่ายไปกว่านั้น ต้องรู้จักกาลเทศะว่า อะไรควรคือไม่ควร อะไรที่ทำแล้วเป็นประโยชน์โดยรวม อะไรที่ทำแล้ว และคุณภาพทางการศึกษาที่งดงามคือการสร้าง “วุฒิภาวะ” ของผู้คนให้สอดคล้องกันระหว่างวัยวุฒิและคุณวุฒิด้วย

5 สารัตถภาพ คือมาตรฐานแก่นของข้อความรู้/องค์ความรู้แห่งชาติ (National Standardized Knowledge) ที่มุ่งให้ผู้เรียนในรัฐชาติได้รับครบครันตามกระบวนการเรียนรู้และตามลักษณะการจัดการศึกษาในแต่ละประเภท แต่ละระดับด้วย สารัตภาพทางการศึกษาที่ดีนั้นจะต้องมีการเทียบเคียงกับมาตรฐานของการศึกษาโลกด้วย เพราะแต่ละประเทศย่อมมีบริบทและมิติทางด้านสังคมแตกต่างกัน

ด้วยเหตุนี้ รับชาติหรือผู้ที่มีอำนาจทางการศึกษาจะต้องรีบกำหนดมาตรแก่นข้อความรู้/องค์ความรู้แห่งชาติต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้

6 สุนทรียภาพ การศึกษาที่ดีคือการสร้างผู้คนให้มีสติปัญญา มีความรู้ที่สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ และที่สำคัญการศึกษาต้องสร้างสุนทรียภาพทั้งในทางตรงและทางอ้อม และเพิ่มให้ลงไปให้ถึงตัวผู้เรียนหรือผู้คนที่ได้รับการศึกษาไม่ลักษณะใดก็ลักษณะหนึ่ง เพราะสุนทรียภาพจะทำให้ผู้เรียนหรือผู้คนมีลักษณะเป็น “ละมุนภัณฑ์” ไม่เป็น “กระด้างภัณฑ์” สุนทรียภาพในการสร้างภาพนั้น คือ ความงามในศิลปวัฒนธรรมของชาติ ความยิ่งใหญ่ในสถาบันชาติ สถานศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์ที่บรรพบุรุษได้สั่งสมมาจนถึงทุกวันนี้

7 สันติภาพ แนวคิดหลักอีกประการหนึ่งของการสร้างภาพทางการศึกษาที่ทั่วโลกให้ความสนใจ คือ การสร้างสันติภาพ สันติภาพจะนำมาซึ่งความผาสุกของมนุษยชาติโดยรวมและทำให้เป็นพลังขับเคลื่อนที่มีผลต่อการพัฒนาที่ปราศจากการแบ่ง “ขั้ว” ทั้งปวง หลักของสันติภาพที่ง่ายสุด คือ การแบ่งปัน การมองถึงว่า ทุกคนมีคุณงามความดีแตกต่างกัน และสันติภาพที่ดีต้องถูกปลูกฝังจากใจที่งดงาม และป็นแบบอย่างได้เป็นอย่าง สันติภาพเชิงอำนาจก็เช่นเดียวกันต้องปราศจากการกระทบกระทั่ง ส่อเสียดด้วยวาจา หรือการแสดงออกในทางเป็นปรปักษ์ การศึกษาของรัฐชาติที่ดีงามต้องปลุกจิตสำนึกให้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กปราศจากการใช้ความรุนแรง ทั้งกาย วาจา ใจ

เพียงแค่นี้ความสงบสุขร่มเย็นก็มาเยือนได้อย่างเร็ววัน

8อานุภาพ พลังอานุภาพของการศึกษาที่จะนำพาให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างชื่อเสียงให้กับรัฐชาติได้เป็นอย่างดีนั้น คือการพัฒนาทางด้านเกษตรกรรมเป็นหลัก แต่ต้องมีการศึกษาค้นคว้าวิจัยศาสตร์ทางด้านเกษตรกรรมต่างๆ (Agricultural Sciences) ผสมผสานกับความเป็นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ (Modern Sciences) ให้มากขึ้น อานุภาพหนึ่งที่การศึกษาไทยต้องได้รับการหยิบขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแห่งชาติ คือ การศึกษาเชิงท่องเที่ยว เพราะความได้เปรียบทางกายภาพที่พบว่าทุกๆ ภูมิภาคมีความงดงามทั้งทางธรรมชาติและอัตลักษณ์วัฒนธรรม ชื่อเสียงของรัฐชาตินั้นเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากมาย เพียงแค่ทั้งรัฐบาลและคนไทยทั้งประเทศที่จะให้ความสำคัญก็ผ่านระบบการศึกษาที่เพ่งพินิจลงไป

9 มโนภาพ การสร้างภาพที่ดีทางการศึกษาอีกประการหนึ่ง คือ การมองภาพเชิงอนาคต รัฐบาลหรือผู้ที่มีอำนาจทางการศึกษาจำเป็นการมองบริบทและปริมณฑลของข้อความรู้/องค์ความรู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด มโนภาพทางการศึกษาที่ดีนั้นต้องอยู่บนหลักของความเป็นไปได้ หลักคุ้มค่าของการลงทุน และที่สำคัญการศึกษาต้องสามารถ “ถอดรหัส” ชีวิตของผู้เรียนหลังจบการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษาได้ด้วย มโนภาพที่ดีไม่จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน

แต่มโนภาพที่ดีต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาสังคมเศรษฐกิจแห่งชาติ และแผนพัฒนาคนทั้งประเทศเป็นหลักด้วย

บทสรุป

ตลอดระยะเวลาที่ผ่าน อาจกล่าวได้ว่า บางภาพของการศึกษาก็ประสบผลสำเร็จและนำพาการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ บางภาพยังดูขาดมิติของ “สีสันและแสงสว่าง” ที่เป็นองค์ประกอบหลัก แต่ทั้งนี้หากพิจารณาการศึกษาไทยแบบกว้างๆ จะยังพบว่า มีการสร้างภาพมากกว่าสร้างสุข ผู้มีอำนาจทางการศึกษารวมทั้งนักวิชาการบางส่วนกลายเป็นนักวิชาเกิน กล่าวคือ มองไปในสิ่งที่เพ้อฝันไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นจริงของสังคมไทย ซ้ำร้ายยังทำตัวเป็น “หุ่นไล่กา” ที่มีร่างกายไม่สมประกอบ บ้างก็หัวขาด บ้างก็แขนขาด ขาขาด แต่มีอำนาจไล่อีกาได้ ถึงเวลาแล้วที่การศึกษาไทยซึ่งเปรียบนาข้าวที่อุดมสมบูรณ์ไม่จำเป็นต้องมีหุ่นไล่กา เพียงแต่หมั่นดูแล ตรวจตรา

และที่สำคัญ ใส่ปุ๋ยการศึกษาให้มากขึ้น การศึกษาไทยจะยืนยงและคงกระพัน…อย่างแน่นอน

ธงชัย สมบูรณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image