เตาเผาขยะ กทม.(2) โดย : ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

ตอนที่แล้ว ได้ให้ความเห็นเรื่องการกำหนดราคากลางค่ากำจัดขยะของโครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม

สำหรับตอนที่ 2 มีประเด็นทางเทคนิคที่น่าสนใจอยู่ 2 เรื่องซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความสงสัยถึงความโปร่งใสของโครงการ จึงถือเอาโอกาสนี้มาทำความเข้าใจร่วมกัน เพราะในอนาคตเราคงเลี่ยงไม่พ้นที่ต้องอยู่กับการกำจัดขยะด้วยเทคโนโลยีพวกนี้ เมื่อเข้าใจแล้ว เราจะได้ช่วยกันตรวจสอบ ประเด็นทางเทคนิคที่จะกล่าวถึงได้แก่ การกำหนดเทคโนโลยีของเตาเผา และการระบุจำนวนชั่วโมงของการเผา

การกำหนดเทคโนโลยีของเตาเผา

เอกสารขอบเขตของงานหรือ TOR โครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ในรายการรายละเอียดของงาน เงื่อนไขด้านไฟฟ้ากำหนดไว้ว่า “ผู้รับจ้างจะต้องลงทุนก่อสร้างโรงงานเตาเผามูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงานด้วยเทคโนโลยีเตาเผามูลฝอยแบบตะกรับ (Stoker Type) พร้อมติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน”

Advertisement

การกำหนดเทคโนโลยีเตาเผาให้เป็นแบบตะกรับเท่านั้นเป็นการกีดกันเทคโนโลยีอื่นหรือไม่ ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีการเผาสักนิด การเผามีหลากหลายประเภท หากเราพิจารณาถึงกระบวนการเผาอย่างเดียว ก็มีทั้งแบบที่เผาอย่างสมบูรณ์หรือที่เรียกกันว่า Incineration, การเผาที่ใช้อากาศหรือออกซิเจนน้อยประเภท Pyrolysis หรือ Gasification แล้วยังมีการเผาด้วยพลังงานความร้อนสูงขนาดเถ้าหลอมละลายที่เรียกว่า Ash Melting หรือขั้นเผาแบบ Plasma

การเลือกใช้เทคโนโลยีการเผาขึ้นกับประเภทของเชื้อเพลิงหรือวัสดุที่ต้องการเผา กรณีของขยะชุมชนที่ไม่คัดแยกมีขยะประเภทต่างๆ ปะปนกัน การเผาแบบ incineration จะมีความเหมาะสมที่สุดซึ่งได้รับการพิสูจน์มาจากหลายๆ ประเทศที่ใช้เตาเผากำจัดขยะ รวมทั้งหลายท้องถิ่นในประเทศไทย เช่น เตาเผาของเทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลนครขอนแก่น หรือของ กทม.ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอย หนองแขม

ส่วนการเผาแบบอื่นๆ ต้องมีการจัดเตรียมหรือปรับคุณภาพของเชื้อเพลิงก่อนหรืออย่างน้อยขยะต้องแยกเผาเฉพาะขยะบางประเภทที่เผาได้จึงยังไม่เหมาะสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน

Advertisement

การกำหนดวิธีการเผาแบบ Incineration จึงไม่เป็นการกีดกันเทคโนโลยีอื่นเพราะเป็นการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเปรียบเหมือนการเลือกใช้รถกระบะ Pick up เพื่อการโดยสารและบรรทุกสิ่งของซึ่งการใช้ประโยชน์แตกต่างไปจากรถยนต์นั่งธรรมดา

เตาเผาแบบตะกรับหมายถึงการป้อนขยะเข้าไปในเตาเผาด้วยการเคลื่อนตัวของแผงตะกรับโดยมีอากาศที่ใช้ในการเผาไหม้เป่าเข้าทางด้านล่างของตะกรับ การเคลื่อนตัวของตะกรับอาจแตกต่างกันขึ้นกับการออกแบบให้เหมาะสมกับองค์ประกอบของขยะ ขยะที่มีความชื้นสูงอาจใช้เวลาในการเคลื่อนตัวนานขึ้นเพื่อไล่ความชื้นทำให้เกิดการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์

ในทางเชิงกลยังมีทางเลือกอีกแบบที่เรียกว่า เตาเผาฟลูอิดไดส์เบด (Fluidized Bed Incinerator) ขยะเคลื่อนตัวเข้าเตาเผาด้วยอากาศที่มีความเร็วสูงทำให้ขยะลอยตัวบนวัสดุตัวกลางที่มีความร้อนจนเกิดการเผาไหม้ วัสดุตัวกลางที่ใช้ในเตาประเภทนี้ได้แก่ ทรายหรือแร่ควอตซ์ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการเผาไหม้ที่ดี ขยะต้องถูกย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ ก่อน แตกต่างจากเตาเผาแบบตะกรับที่สามารถรับขยะได้ทุกขนาด

ถ้าจะเปรียบเทียบง่ายๆ เตาเผาแบบตะกรับก็เหมือนการผัดก๋วยเตี๋ยวในกระทะ มีตะหลิวทำหน้าที่คนและกลับทั้งเส้น ผักและเนื้อ จนสุกพร้อมๆ กัน ส่วนเตาเผาแบบฟลูอิดไดส์เบดเหมือนการคั่วถั่ว คั่วเกาลัดใช้ทรายเป็นตัวกลาง การคั่วแบบนี้ต้องไม่เอาของหลายๆ อย่างมาปนกัน ไม่เช่นนั้นจะเข้าตำรา “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้”

โดยสรุปแล้ว การกำหนดให้เป็นเตาเผาแบบตะกรับจึงมีความเหมาะสมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการกำจัดขยะที่สังคมไทยยังไม่สามารถแยกขยะจากแหล่งกำเนิด หากในอนาคต เราสามารถแยกขยะได้ดี เตาเผาประเภทนี้ก็จะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และอาจได้พลังงานกลับคืนมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น

คราวนี้กรณีจำนวนชั่วโมงของการเผาซึ่งกำหนดไว้ในรายการรายละเอียดของงาน หัวข้อกระบวนการทำงานและค่าพารามิเตอร์ในการออกแบบ “ผู้ยื่นข้อเสนอต้องเสนอในทุกสภาพการทำงานจำนวนชั่วโมงการทำงานของการเผามูลฝอย จะต้องไม่น้อยกว่า 8,000 ชั่วโมงต่อปี”

ชั่วโมงทำงานของการเผาหมายถึงชั่วโมงทำงานของเตาเผาอย่างต่อเนื่องในรอบหนึ่งปีการกำหนดให้ชั่วโมงการเผาไม่น้อยกว่า 8,000 ขั่วโมงต่อปี หมายความว่ากรุงเทพมหานครต้องการระบบที่มีประสิทธิภาพที่สามารถทำงานอย่างต่อเนื่องและหยุดได้เพียงปีละครั้งเดียวโดยใช้เวลาเพื่อการซ่อมบำรุงไม่เกิน 1 เดือน

การกำหนดชั่วโมงทำงานไม่น้อยกว่า8,000 ชั่วโมงต่อปีส่วนใหญ่จะเป็นประสิทธิภาพการทำงานของโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์ที่มีการประกับคุณภาพ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินหรือโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ส่วนกรณีของเตาเผาขยะมีปัจจัยเสี่ยงค่อนข้างมาก ตั้งแต่องค์ประกอบของขยะที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาหรือสิ่งปนเปื้อนที่ไม่คาดคิด

ดังนั้น ในรายงาน WORLD BANK TECHNICAL GUIDANCE REPORT เรื่อง Municipal Solid Waste Incineration แนะนำให้กำหนดชั่วโมงการทำงานของเตาเผาประมาณ 7,500 ชั่วโมงต่อปี เพื่อให้สามารถทำการซ่อมบำรุงได้ปีละ 2 ช่วงเวลา ซึ่งจะทำให้เตาเผามีประสิทธิภาพสม่ำเสมอในระยะยาว

กรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับประเด็นชั่วโมงทำงานของเตาเผา เมื่อพิจารณาจากหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกข้อเสนอ กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องแสดงหลักฐานประสบการณ์ในการดำเนินการโรงงานเตาเผาขยะเพื่อผลิตพลังงานที่เดินระบบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

หากเตาเผานั้นสามารถทำงานได้มากกว่าหรือเท่ากับ 8,000 ชั่วโมงต่อปี จะได้คะแนนเต็ม แต่ถ้าน้อยกว่าที่กำหนดจะไม่ได้คะแนนเลย

การกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคที่สูงก็เป็นประโยชน์ เพราะกรุงเทพมหานครจะได้ระบบที่มีคุณภาพ แต่ก็ต้องพิจารณาด้วยว่าประสบการณ์ในการดำเนินงานที่มากกว่า 8,000 ชั่วโมงต่อปีที่แสดงไว้นั้น มีสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขเช่นไร มีขอบเขตของงานและเงื่อนไขสอดคล้องกับโครงการนี้หรือไม่ เช่น ขยะที่ป้อนเข้าระบบเป็นขยะที่ไม่ได้รับการคัดแยกเช่นเดียวกับสังคมไทยหรือไม่ การผลิตพลังงานของโครงการที่อ้างอิงเป็นการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือเป็นเพียงพลังงานความร้อนซึ่งมีรายละเอียดทางเทคนิคที่แตกต่างกัน

สุดท้าย เมื่อผู้ยื่นข้อเสนอได้รับการพิจารณาให้ดำเนินโครงการแล้ว แต่ภายหลังไม่สามารถเดินระบบได้ 8,000 ชั่วโมงต่อปีตามข้อกำหนด กรุงเทพมหานครจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะข้อกำหนดนี้ไม่ใช่แค่เงื่อนไขทางเทคนิค แต่เป็นข้อกำหนดที่เชื่อมโยงกับคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอด้วย

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image