สกู๊ป : เหมืองเขาน้อยพัทลุงž สั่นคลอนวิถีชุมชนž

เหตุอุกอาจเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ระหว่างการเปิดเวทีรับฟังความเห็นของชุมชน โดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง กรณีการขอประทานบัตรที่ 1/2562 ลงวันที่ 26 เมษายน 2562 ของ บริษัท สิงห์ศิลาทอง จำกัด เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรม ชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) เนื้อที่ 67-1-19 ไร่ ที่กำหนดให้เชิญประชาชนทุกหมู่บ้านในเขตชุมชนในพื้นที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น คลุมพื้นที่หมู่ 4 ต.คลองใหญ่ อ.ตะโหมด และหมู่ 1 ต.หนองธง อ.ป่าบอน จ.พัทลุง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย

ชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่งเข้าขัดขวางคุกคามสื่อมวลชนที่เข้าสังเกตการณ์ โดยเฉพาะ เอกชัย อิสระทะ นักพัฒนาเอกชน เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน และเป็นนักปกป้องสิทธิชุมชน ถูกควบคุมตัวนำไปกักขังไว้ในที่แห่งหนึ่ง ถูกข่มขู่ความปลอดดภัย ก่อนจะได้รับปล่อยตัวภายหลัง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต้องลงมาสั่งการด้วยตัวเอง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลให้ความเป็นธรรมกับผู้เสียหาย

คดีความคงต้องว่ากันไปกันตามกระบวนการยุติธรรม

Advertisement

สำหรับพื้นที่ขอประทานเหมืองแร่มีความสำคัญและจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อชุมชน ก็เป็นสิ่งหนึ่งน่าติดตาม

พื้นที่เหมืองแร่ดังกล่าว ชาวบ้านเรียกว่า “เขาน้อยŽ” ตั้งอยู่ในท้องที่บ้านโหล๊ะบ้า หมู่ 4 ต.คลองใหญ่ อ.ตะโหมด จ.พัทลุง มีพื้นที่หน้ากว้างประมาณ 300 เมตร ยาวประมาณ 800 เมตร คาบเกี่ยว ต.หนองธง อ.ป่าบอน จ.พัทลุง ข้างบนเขาน้อยจะเป็นป่าต้นน้ำที่ยังคงสมบูรณ์ติดเทือกเขาบรรทัด มีต้นไม้ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ขึ้นปกคลุมอยู่เต็มพื้นที่ โดยเฉพาะพืชสมุนไพรหลากหลายชนิดที่ชาวบ้านเก็บมาเป็นยารักษาโรค

ในพื้นที่ของทำเหมืองแร่ ยังมีถ้ำอยู่ถึง 4 แห่งด้วยกัน ได้แก่ 1.ถ้ำโต๊ะวัน หรือทวดเขาน้อย ความกว้างจุคนประมาณ 50 คน ลึกต้องใช้บันไดลงไปประมาณ 8-9 เมตร 2.ถ้ำขี้ค้างคาว หรือถ้ำต้นไทร ซึ่งข้างในจะมีถ้ำเล็กถ้ำน้อยแตกย่อยออกไปอีกประมาณ 4-5 ถ้ำ 3.ถ้ำมายา ขนาดลึกลงไปประมาณ 15 เมตร กว้าง 7-8 เมตรเช่นกัน และ 4.ถ้ำทวดฝ้าย หรือถ้ำแม่ชี ไม่มีทางเข้าต้องโรยตัวลงจากด้านบนยอดเขาอย่างเดียว ลึกประมาณ 100 เมตร กว้างประมาณ 1 ไร่

Advertisement

ที่ดินโดยรอบเขาน้อยเป็นพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน ทั้งสวนปาล์ม ยางพารา และสวนทุเรียน ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ทำให้เกิดเป็นชุมชนท่องเที่ยว โอท็อป นวัตวิถี หมู่บ้านโหล๊ะบ้า ชาวบ้านในพื้นที่แม้ไม่เห็นด้วย แต่จำยอมขายพื้นที่ให้กับบริษัททำเหมืองแร่เพื่อความปลอดภัย เพราะถูกกลุ่มอิทธิพลข่มขู่บังคับ

ก่อนหน้านี้เมื่อในปี 2540 เคยมีการยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองแร่เช่นกัน แต่ถูกชาวบ้านคัดค้าน เพราะหวั่นเกรงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิต จึงรวมตัวคัดค้านจนต้องยกเลิกไป

ขณะที่ในการขอทำเหมืองแร่ครั้งนี้ หากสามารถดำเนินการได้ ผู้ขอประทานบัตรจะทำเหมืองโดยวิธีเหมืองเปิด โดยใช้เครื่องจักรหนัก และการเจาะระเบิด ไม่มีการใช้น้ำในการผลิต สิ่งที่ตามมาคือ ฝุ่นละออง ในพื้นที่โครงการและจากการขนส่งแร่ออกจากพื้นที่สู่ถนนเส้นหลัก ถนนชำรุด และเสียงดังจากการระเบิดหิน แรงสั่นสะเทือน การปลิวกระเด็นของเศษหิน และที่สำคัญกระทบกับวิถีของชาวบ้านในพื้นที่ พื้นที่ก่อเกิดสมุนไพร ยารักษาโรคพื้นบ้านที่รักษากันมายาวนาน

หมอสมุนไพรในพื้นที่รายหนึ่งกล่าวว่า พื้นที่ที่ทำเหมืองแร่ เป็นพื้นที่อุดมไปด้วยยาสมุนไพรพื้นบ้าน ไปที่เดียวได้ครบทุกตัวยา ไม่ว่าจะเป็นสมุนไพรโคหาย 3 ชนิด ดำ แดง ขาว ที่รักษาโรคริดสีดวง สมุนไพร ไอเหล็ก เป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงเส้น บำรุงกระดูก สมุนไพรพญางิ้ว บำรุงเลือด และมีหลายหลายชนิดที่หาได้จากเขาน้อย ยาแก้ลม ยาแก้ตาลในเด็ก ซึ่งหากพื้นที่ถูกทำเหมืองแร่ คงต้องเข้าไปลึกไปในป่า ซึ่งการเอายาสมุนไพรมาจากป่านั้น เอาเฉพาะส่วนที่จำเป็น เพื่อให้ยาสมุนไพรนั้นสามารถงอกใบต่อได้

แต่หลังจากมียื่นเรื่องทำเหมืองแร่ ก็ไม่ได้เข้าไปในพื้นนี้อีกเลย เพราะถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าในพื้นที่ มีคนของผู้ยื่นทำเหมืองแร่มาบอกห้ามเข้าไปเอายาสมุนไพรในพื้นที่เขาน้อย ขณะนี้มีคนงานของผู้ยื่นทำเหมืองแร่ เข้ามาปักเขต ตัดโค่นต้นไม้ เตรียมปรับพื้นไว้บางส่วนแล้ว แต่ยังไม่มีการปลูกสร้างอาคาร โดยชาวบ้านในพื้นที่ก็หวาดกลัวไม่เข้าไปยังพื้นนั้น ตนเองก็หาสมุนไพรมาทำยาได้ยากขึ้น ต้องอาศัยเข้าป่าไปลึกๆ เพื่อให้ได้ตัวยาสมุนไพร เพราะยังมีคนไข้ที่ต้องการยาต้มไปกินอยู่ ซึ่งตรงนี้คนไข้ที่มาขอยาก็เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น ตอนนี้ก็มีลูกศิษย์ช่วยหาตัวยาให้บ้าง แต่ก็ยังเดือดร้อน ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องยาสมุนไพรที่หายากขึ้น แต่ยังกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ทั้งเรื่องน้ำ แหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะน้ำตกลาดเตยที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ที่สุด เขาน้อยคงต้องปิด เพราะนักท่องเที่ยวคงไม่อยากเข้ามาแล้วเจอกับฝุ่นละออง เสียงดัง จากการทำเหมือง

ขณะที่ กู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผวจ.พัทลุง กล่าวการดำเนินการเรื่องนี้ว่า คงต้องสอบถามถึงขั้นตอนกระบวนการทั้งหมดว่า สำนักงานอุตสาหกรรมทำครบถ้วนหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็น
กระบวนการส่งหนังสือ กระบวนการปิดประกาศ หรืออื่นๆ ตามระเบียบกำหนด เบื้องต้นเชื่อว่ากระบวนการอาจจะไม่ครบถ้วน หรือครบถ้วนแต่อาจจะไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเรื่องส่งหนังสือเชิญร่วมประชุมที่ไม่ถึงมือของชาวบ้านที่เห็นว่าจะมีการคัดค้าน เพราะมีชาวบ้านร้องมาว่าไม่ได้รับหนังสือ

หากตรวจสอบทั้งหมดแล้ว พบการเปิดเวทีไม่สมบูรณ์ จะต้องมีการยกเลิก และต้องเปิดเวทีใหม่ภายใน 60 วัน ที่สำคัญต้องหารือดูระเบียบว่า หากจำต้องมีการยกเลิกเวที จริงๆ ต้องดูว่าเป็นอำนาจของใครในการสั่งการ แต่หากในระเบียบอำนาจไม่ได้อยู่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด ทางจังหวัดก็จะต้องรีบทำเรื่องหารือไปยังผู้ที่มีอำนาจโดยตรงต่อไป เพื่อให้ทันกรอบของเวลา

จากนี้คงต้องจับตากันว่า อนาคตวิถีชุมชนรอบ เขาน้อยŽ จะได้การรักษาไว้ หรือปรับเปลี่ยนไปอย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image