‘โภคิน’ ชวน ‘บิ๊กตู่’ ร่วมแก้ รธน. เชื่อ ‘ท่านก็เหนื่อย’ อยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่วอยซ์ สเปซ ถนนวิภาวดี รังสิต มีการจัดเสวนา ‘วาระฝ่ายค้าน มุมมองสะท้อนปัญหาประเทศ กับ 3 ขุนพลทางความคิด

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.โภคิน พลกุล กรรมการยุทธศาสตร์ด้านนโยบายและแผนงานพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ 7 พรรคฝ่ายค้าน ร่วมรณรงค์ผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมาส่วนใหญ่คนร่างมาจากการยึดอำนาจ ไม่ได้ผ่านการประชามติเหมือนอย่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ประชาชนมีส่วนร่วม รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จึงไม่ฟรีแอนด์แฟร์ แม้จะอ้างว่าได้ผ่านประชามติแล้ว แต่ก็มีประชาชนบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับรับธรรมนูญฉบับนี้ถูกดำเนินดคี เหตุใดจึงไม่ร่างรัฐธรรมนูญด้วยประชาชน เห็นชอบด้วยประชาชน ใช้วิธีเลือกตั้งโดยตรง ให้ได้สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จากการเลือกตั้งของประชาชน เบ็ดเสร็จ 99 คน จังหวัดละคน ร่างรัฐธรมนูญที่ชัดเจน ที่เราเสนอคือเลือกมาประมาณ 200 คน จากทุกจังหวัด หารด้วยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4 แสนคนโดยประมาณ จังหวัดใดประชากรมากก็มีผู้มารับเลือกตั้งมาก เพราะปัจจุบันมี ส.ว.250 คนที่มาจากการแต่งตั้ง และระบบ ส.ส.ที่เป็นปัญหา ถ้าวันนี้ให้รัฐสภาเลือกอีกก็ไม่แฟร์เท่ากับให้ประชาชนเลือก แต่ละฝ่ายให้ข้อมูลเต็มที่ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นคนจัดการเลือกตั้งที่ฟรีแอนด์แฟร์ โดยทั้งสังคมช่วยกันจับตาดู ไม่ต้องเชื่อมกับรัฐสภา ให้ประชาชนเลือกคนไปร่างรัฐธรรมนูญ

ตอนนี้ทั้ง 7 พรรคฝ่ายค้าน ขอให้มี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อร่างคณะกรรมการขึ้นมา ผ่านขั้นตอนประชามติต่อไป จึงจะถือว่าร่างโดยประชาชน เห็นชอบด้วยประชาชน ที่ต้องเสนอแบบนี้ ลึกๆแล้ว เป็นเพราะสังคมไทยขาดความยุติธรรม มีการเลือกปฏิบัติ จึงต้องสร้างกติกาที่ทุกฝ่ายเห็นชอบ ขอแค่เรื่องเดียวพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาร่วมเดินวิธีนี้ได้หรือไม่ จะได้หลุดจากกับดักที่เราต้องเผชิญ

มาตรา 279 การนิรโทษกรรมให้กับการยึดอำนาจทั้งหมด ให้ชอบด้วยกฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แม้จะไม่ใช่นิรโทษกรรมสุดซอย แต่เช่นนี้ยิ่งกว่านิรโทษกรรมสุดซอย เพราะไม่มีซอยให้เดิน ข้อนี้ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ จึงควรจะได้รับการแก้ไข และที่จริงไม่มีความจำเป็นต้องมีมาตรานี้ แต่ที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องมีมาตรา 279 สืบเนื่องมาจากอดีต ที่เขียนสมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร (อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด) ซึ่งคนที่เขียนแทนที่จะปกป้องประชาธิปไตย ปกป้องประชาชน แต่กลับกลายเป็นปกป้องเผด็จการ ถ้าประชาชนเลือกคนไปร่างแล้วร่างด้วยเผด็จการอีก ถึงตอนนั้นก็คงยอม

Advertisement

แต่ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะมาตราใดหรือร่างใหม่ทั้งฉบับ ต้องผ่านรัฐสภา ผ่าน 3 วาระ ประชาชนเข้าชื่อ 50,000 คน ซึ่งมีโอกาสยากมาก กว่าจะครบ แต่ ส.ส. 100 คน ได้อยู่แล้วเพราะแค่เพื่อไทยก็ทำได้ แต่ทั้งนี้ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภารวมกัน นี่คือด่านแรก เกินกึ่งหนึ่งเป็นไปไม่ได้ และต้องได้ ส.ว. อีก 1 ใน 3 ประเด็นคือ แม้ ส.ส. 500 คนเห็นด้วย แต่ ส.ว.ไม่ยอมรับหลักการ วาระที่ 1 ก็ตกไป จึงเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องช่วยกัน ไม่ใช่ตีรวน มาเดินวิถีนี้ร่วมกันได้หรือไม่ เพราะ ส.ว.ก็เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ต้องปลุกกระแสเหมือนปี 2540 ที่เริ่มปี 2538 ที่นายกบรรหาร ศิลปะอาชา (อดีตนายกรัฐมนตรี) เห็นด้วยกับการปฏิรูปการเมืองว่าอยู่แค่นักการเมืองไม่ได้ ต้องลงมาสู่ภาคประชาชน จึงมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่สมัยนั้นง่ายกว่าตอนนี้ ไม่ต้องเอาเงื่อนไข ส.ว. 1 ใน 3 มาล็อก เมื่อยกร่างเสร็จ เสนอต่อรัฐสภา มีการรณรงค์ของภาคประชาชน ถ้าครั้งนี้เราใช้รูบแบบ วิธีการ และความรู้สึกมีส่วนร่วมเหมือนครั้งนั้น เดินไปด้วยกัน ดีไม่ดีก็แก้ไขกันต่อไป ถ้าแรงกดดันมากพอ รัฐสภาก็น่าจะฟังไม่มากก็น้อย

วันนี้บ้านเมืองมีปัญหา เศรษฐกิจย่ำแย่เป็นเพราะกติกา เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ก็เหนื่อย ห่วงว่าจะกันบางพรรคบางคน แต่ตอนท้ายเขียนบทเฉพาะกาลที่กลายเป็นกันตัวเอง แถลงนโยบาย ต้องแสดงที่มาของรายได้ ก็ไม่ได้แสดง กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ถ้าพล.อ.ประยุทธ์จะแก้รัฐธรรมนูญเองก็ทำไม่ได้ ในวาระ 3 ถ้าฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย 20 เปอร์เซ็นต์ ก็ตกอีก สรุปว่าทำอะไรไม่ได้เลย เป็นรัฐธรรนูญที่เจตนาให้แก้ได้ยาก

“ส่วนตัวเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ อยากเห็นความปรองดอง ทำไมเราไม่ทำอะไรร่วมกันสักเรื่อง เรื่องอื่นแตกต่างได้ แต่เรื่องนี้ทำร่วมกันสักเรื่องได้หรือไม่ เนื้อหาเถียงไม่จบ แต่กระบวนการไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม แม้เนื้อหาดี คนไม่ยอมรับก็ไปไม่ได้ ปัจจุบันเรามีภาคธุรกิจที่ผูกขาด ภาคประชาชนที่เดือดร้อนแทบตาย รัฐบาลในยุคดิจิทัล เส้นสายต้องน้อยที่สุด ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ติดงบดุล จะไปรวยได้อย่างไร ที่เป็นอย่างนั้นเพราะกลุ่มหนึ่งมองอีกกลุ่มว่าผิด เราตั้งธงเดินด้วยกันดีหรือไหม ดีไม่ดี ค่อยว่ากันที่ระบบ อย่ามองฝ่ายค้านหรือคนที่เรียกร้อง วิพากษ์วิจารณ์นายกฯว่าเป็นศัตรู เพราะเราป็นคนไทย ต่างหวังดีกันหมด ถ้าผู้นำทุกฝ่ายทำอย่างนี้ ฟังซึ่งกันและกัน จะไม่มีใครคิดร้ายต่อใคร” รศ.ดร.โภคินกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image