เปิดใจ ‘น้องเอิง’ นักบินฝนหลวงหญิงคนแรกของไทย ขึ้นบินช่วยแก้ภัยแล้งอีสานใต้ (คลิป)

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ จ.สุรินทร์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้ลงพื้นที่ไปติดตามการปฏิบัติภารกิจการปฏิบัติการทำฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานตอนใต้ ของ น.ส.สร้อยสกุล คุณสุข หรือน้องเอิง อายุ 25 ปี ซึ่งเป็นนักบินฝนหลวงหญิงคนแรกของไทย เป็นชาว จ.จันทบุรี ประจำหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุรินทร์ หลังจากศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้นำเครื่องบินกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ชนิดคาราแวน จำนวน 3 ลำ พร้อมนักบิน เจ้าหน้าที่ และอุปกรณ์ในการปฏิบัติการทำฝนหลวง มาประจำยังพื้นที่สนามบินสุรินทร์ภักดี อ.เมือง ทำการบินเพื่อทำฝนหลวงช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่หลังประสบกับปัญหาภัยแล้ง รวมทั้ง อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง อ.เมือง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปาเลี้ยงคนเมือง และตำบลรอบนอก แห้งขอดวิกฤตหนัก น้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาอยู่ในขณะนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน จนถึงขณะนี้ เป็นเวลาร่วม 2 เดือนแล้ว โดยมี น.ส.สร้อยสกุล เป็นหนึ่งในทีมที่ร่วมปฏิบัติงานทุกครั้ง

น.ส.สร้อยสกุล กล่าวว่า ส่วนตัวชื่นชอบ และสนใจอาชีพนี้อยู่แล้ว ได้มาทำหน้าที่นักบินสำรวจ ถือว่าได้ทำตามความฝันของตัวเอง ได้ช่วยเหลือเกษตรกร ทำประโยชน์ให้แก่คนอื่น โดยได้ขึ้นบินเป็นปีที่ 2 ปัญหา และอุปสรรคเกี่ยวกับเรื่องงานการบินไม่มีอะไร ได้เรียนรู้งานในแต่ละเฟส และพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ทุกครั้งที่ขึ้นบิน ต้องสนใจในสภาพอากาศว่าต้องการทำให้ฝนตกเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้ได้ มีความภาคภูมิใจ เวลาที่ทำฝน เริ่มตั้งแต่วางแกน จนเห็นการพัฒนาของเมฆ ทำจนฝนตก ถือเป็นความภาคภูมิใจ ดีใจในแต่ละไฟท์ที่ได้ขึ้นไปบิน และทำให้ฝนตกได้ ตนเรียนจบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ ด้วยความที่ทางบ้านมีอาชีพเกษตรกร และทำสวน มีความเข้าใจว่าฝนตก มีน้ำ เป็นทรัพยากรสำคัญในการทำอาชีพแบบนี้ และการที่ได้เข้ามาทำงานที่นี่ รู้สึกดีใจจริงๆ ที่ได้ช่วยเหลือตรงนี้ได้ และได้สานต่อศาสตร์ของพระราชาด้วย

นายวิทยา อัปมาโถ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.สุรินทร์ กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงที่ จ.สุรินทร์ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร ในพื้นที่บริเวณ จ.สุรินทร์, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรให้รอดพ้นภาวะแห้งแล้ง และป้องกันผลกระทบของฝนทิ้งช่วงในช่วงนี้ การดำเนินการช่วงนี้ จะเร่งช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรก่อน หลังจากนั้นหากพื้นที่การเกษตรมีน้ำเพียงพอ ก็จะเพิ่มในแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค แหล่งน้ำต้นทุน อ่างเก็บน้ำต่างๆ เพื่อใช้ในการผลิตน้ำประปา ทั้ง จ.สุรินทร์ และบุรีรัมย์ด้วย

Advertisement

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image