‘กสทช.’ ชู 3 หลักการ ถกเวที ‘เอทีอาร์ซี’ เล็งจับมือ ‘โอทีที’ ตั้งศูนย์ยืนยันความถูกต้องข่าวสาร (มีคลิป)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการเตรียมการก่อนการประชุมผู้นำองค์กรกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมในภูมิภาคอาเซียน หรือการประชุมอาเซียน เทเลคอมมูนิเคชั่น เร็กกูเลเตอร์ เคานซิล (เอทีอาร์ซี) ครั้งที่ 25 ในวันที่ 20 สิงหาคม 2562 โดยประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศได้ประชุมร่วมกันถึงเรื่องกิจการที่ให้บริการบนโครงข่ายโทรคมนาคม หรือบริการ โอเวอร์ เดอะ ท๊อป (โอทีที) ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้เสนอข้อมูลการกำกับดูแลกิจการโอทีทีต่อที่ประชุม โดยขอให้อยู่ภายใต้ 3 หลักการ คือ 1.แนวทางการกำกับดูแลต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ในฐานะผู้ประโภค อาทิ เมื่อมีการออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลแล้ว ประชาชนจะต้องรับภาระค่าบริการที่สูงขึ้น 2.การจัดเก็บรายได้ของแต่ละประเทศ จากผู้ให้บริการโอทีทีเข้ารัฐ และ 3.ขอให้ผู้ให้บริการโอทีที ให้ความร่วมมือกับแนวทางของที่ประชุมด้วย

นายฐากร กล่าวว่า ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ได้เสนอให้มีการจัดศูนย์ประสานความร่วมมือและยืนยันความถูกต้องข้อมูลข่าวสาร ในประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ เพื่อทำหน้าที่ยืนยันความถูกต้อง ซึ่งในกรณีพบข่าวปลอมหรือข่าวลวง ศูนย์นี้จะประสานไปยังผู้ให้บริการโอทีทีเพื่อทำการแก้ไข จากเดิมที่ต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบประมาณ 1 เดือน จะเหลือเวลา 1-2 วัน ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการทำงาน และยับยั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง ได้รวดเร็วขึ้น

“ศูนย์ประสานความร่วมมือและยืนยันความถูกต้องข้อมูลข่าวสาร จะสนับสนุนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (เฟคนิวส์) ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งแนวทางการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว เบื้องต้นอยากให้ผู้ให้บริการโอทีที ว่าจ้างบริษัทภายนอกที่มีความน่าเชื่อถือในแต่ละประเทศเป็นผู้ดูแล โดยให้หน่วยงานกำกับดูแลอย่างสำนักงาน กสทช. หรือรัฐบาล จะเป็นผู้กำกับดูแลศูนย์นี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเชื่อว่าประเทศสมาชิกจะเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว และจะนำไปสู่การออกเป็นมติที่ประชุมอาเซียนต่อไป” นายฐากร กล่าว

Advertisement

นายฐากร กล่าวว่า ส่วนแนวทางการจัดเก็บรายได้ค่าใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศจากผู้ให้บริการโอทีทีนั้น แต่ละประเทศจะนำเสนอต่อที่ประชุมเอทีอาร์ซีต่อไป ซึ่งคงออกเป็นมติกว้างๆ เพื่อให้ทุกประเทศเริ่มดำเนินการได้พร้อมกัน โดยจะไม่กำหนดอัตราการจัดเก็บที่ตายตัว แล้วแต่แต่ละประเทศจะพิจารณา ซึ่งคาดว่า ภายในวันที่ 20-21 สิงหาคมนี้จะได้ข้อยุติ

“แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามจัดเก็บรายได้จากผู้ให้บริการโอทีทีเข้ารัฐ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ฉะนั้น ครั้งนี้จึงมีความท้าทาย แต่ก็เชื่อว่าผู้ให้บริการโอทีทีจะให้ความร่วมมือด้วยดี โดยดูจากการตอบรับในการเข้าร่วมการประชุมของผู้ให้บริการโอทีที 5 ราย ได้แก่ เฟซบุ๊ก, ไลน์, วอลต์ดิสนีย์, แอมะซอน และเน็ตฟลิกซ์ ส่วนผู้ให้บริการโอทีทีรายอื่น เช่น ยูทูป ทวิตเตอร์ เป็นต้น จะมีการประสานเพื่อเข้าหารือร่วมกันต่อไป” นายฐากร กล่าว

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image