มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐจะไปตายดาบหน้า : สมหมาย ภาษี

ออกมาแล้วครับ ผลงานที่ยอดเยี่ยมและรวดเร็วของคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ยืดอกรับประกันด้วยตำแหน่งผู้นำของรัฐบาลใหม่ ออกมาเมื่อวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคมนี้เอง แบ่งได้เป็น 4 ชุดด้วยกัน

ชุดแรก คือมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร แน่นอนเรื่องเกษตรกรไทยชนชั้นที่เคยถูกขนานนามว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่นับวันกระดูกสันหลังนี้ก็งอลงๆ ไปเรื่อยจนใบหน้าลงไปอยู่ระดับท้องแล้วในทุกวันนี้ ถ้ารัฐไม่ช่วยก็มีแต่รอวันตาย จริงๆ แล้วเกษตรกรไทยนั้นถือว่างอมเต็มทีแล้ว ฝนแล้งเป็นเรื่องที่ไปโทษเทวดาไม่ได้ แต่ปัญหาราคาพืชผลหลักตกต่ำโดยทั่วไปนั้น รัฐยังไม่มีน้ำยามาแก้ มันไม่ง่ายเหมือนมาตรการกระตุ้นเที่ยวนี้ จัดเงินมาอัดลูกเดียว รัฐบาลไหนก็ทำได้ แต่อะไรจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าไม่มีใครพูดถึง

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชุดใหญ่คราวนี้มีตั้งแต่สินเชื่อฉุกเฉินผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เจ้าเก่า ให้เกษตรกรกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท วงเงิน 50,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ด่วนดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย อันนี้ก็ ธ.ก.ส.ทำอยู่เป็นประจำ วงเงินค่อนข้างน้อยแค่ 5,000 ล้านบาท เงินจำนวนนี้จริงๆ ก็คือเงินที่รัฐจะจ่ายชดเชยค่าดอกเบี้ยที่ ธ.ก.ส.ต้องขาดทุนนั่นเอง เช่นเดียวกับมาตรการฟื้นฟูผลผลิตอีก 5,000 ล้านบาท และสุดท้ายก็เป็นมาตรการช่วยเหลือต้นทุนการปลูกข้าว ก็มีลักษณะเหมือนๆ กัน คือให้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินกู้หรือเพิ่มวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แล้วรัฐจัดเงินงบประมาณช่วยเหลือ ธ.ก.ส. ในส่วนของดอกเบี้ยที่ขาดแบบที่เคยทำอยู่เป็นประจำ

ผมไม่ทราบว่าท่านผู้อ่านยังจำเรื่องมาตรการให้ ธ.ก.ส.ช่วยรัฐบาลในโครงการรับจำนำข้าวเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้วได้หรือไม่ ตอนนั้น ธ.ก.ส.ต้องอัดเงินทั้งของตัวเองที่มีอยู่และทั้งเงินกู้ที่หามาจากการค้ำประกัน รวมแล้วถึงหลายแสนล้านบาท ขณะนี้ยังมีหนี้ที่รัฐบาลต้องทยอยจัดใช้คืน ธ.ก.ส. ทั้งต้นและดอกเบี้ย ซึ่งมาในวันนี้ยังมีวงเงินค้าง ธ.ก.ส. อยู่เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 300,000 ล้านบาท คราวนี้ก็ไม่พ้นที่รัฐจะต้องอัดงบประมาณใช้หนี้ให้ ธ.ก.ส.ในหลายๆ ปีข้างหน้าโปะลงไปในวงหนี้เก่าที่รัฐยังจ่ายไม่หมด เรื่องนี้ก็คือปัญหาที่จะโยนไปให้รัฐบาลหน้าต้องไปรับผิดชอบ

Advertisement

มาตรการชุดที่สอง ก็หนีไม่พ้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ มีทั้งแถมเงินให้คนไทยไปเที่ยวแล้วเบิกเงินจากรัฐตามจำนวนที่กำหนด เรื่องนี้ทำกันเป็นประจำทุกปี คนจนและคนเงินเดือนน้อยไม่ได้รับอานิสงส์ในเรื่องนี้หรอก เพราะเขาไม่มีเงินออมจะไปเที่ยวได้ ทั้งๆ ที่อยากจะไปเหมือนคนอื่นเขา ครั้งนี้รัฐบาลได้ออกมาตรการใหม่ออกมาด้วย คือมาตรการฟรีวีซ่าหรือการไม่เก็บค่าวีซ่าเข้าเมืองไทย รายละประมาณ 2,000-3,000 บาท สำหรับนักท่องเที่ยวจากจีนและอินเดีย ก็คงจะได้ผลดีพอสมควร แต่อย่าลืมว่านักท่องเที่ยวจากสองประเทศนี้ เขาเป็นนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายน้อยและยังเป็นภาระในทางที่ไม่ค่อยดีเมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวจากยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และเกาหลี หวังว่าหน่วยงานที่ดูแลการท่องเที่ยว คงไม่ปล่อยให้นักท่องเที่ยวน้ำไม่ดีมาไล่นักท่องเที่ยวน้ำดีนะครับ คิดหาทางป้องกันไว้

มาตรการชุดที่สาม คือการจัดแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากสถาบันการเงินของรัฐ เช่น จากธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย เพื่อให้แก่กิจการที่เป็น SME หรือผู้ต้องการซื้อบ้านราคาถูก มาตรการนี้ยังรวมถึงการสนับสนุนให้นักลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่มาทดแทนเครื่องจักรเก่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น โดย
รัฐบาลลดภาษีเครื่องจักรใหม่มาทดแทนเครื่องจักรเก่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้น โดยรัฐบาลลดภาษีเครื่องจักรใหม่ไม่เกิน 1.5 เท่า มาตรการนี้เคยใช้บ้างในอดีต ดีมากแต่รัฐก็ต้องขาดรายได้จากภาษีไปมาก

มาตรการชุดที่สี่ คือมาตรการเพิ่มสวัสดิการคนจน ซึ่งมาตรการนี้รัฐบาลที่แล้วได้สร้างระบบและมาตรฐานไว้เป็นหลักเป็นฐานดีแล้ว ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐถึง 14.5 ล้านราย ถือว่าเป็นมาตรการจัดเงินช่วยเหลือคนจนที่ดี ซึ่งจะต้องตั้งงบประมาณทำไปทุกปีในอนาคต แต่คราวนี้ได้มีการเพิ่มวงเงินให้สำหรับผู้สูงอายุอีก 500 บาทต่อเดือน และค่าเลี้ยงดูบุตรอีก 300 บาทต่อเดือน ในช่วง 2 เดือนข้างหน้า มาตรการนี้ดูเป็นเรื่องกะปริดกะปรอยให้ใน 2 เรื่อง เพียง 2 เดือน เป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น

Advertisement

ลองมาดูว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดแรกที่ออกมาเป็นครั้งแรกโดย ครม.เศรษฐกิจเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมนี้ และจะมีการนำเสนอเข้า ครม.เต็มชุดในหนึ่งหรือสองสัปดาห์ต่อไปนั้น จะมีผลต่อเศรษฐกิจและภาวะการคลังภาครัฐมากน้อยเพียงใด

ท่านผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังคือ คุณลวรณ แสงสนิท ซึ่งเป็นบุคคลที่มีส่วนคิดและผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงิน 320,000 ล้านบาท ในครั้งนี้ได้พูดด้วยความมั่นใจว่ามาตรการที่ออกมาครั้งนี้เป็นมาตรการระยะสั้นที่เพียงพอ โดยจะทำและจะจ่ายเงินทันทีตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมนี้ และเดือนต่อๆ ไป ไม่เกินปี 2562 นี้ และคาดหวังว่าจะสามารถทำให้เพิ่มรายได้ประชาชาติในปี 2562 นี้ไม่น้อยกว่า 0.5% ซึ่งถ้าเป็นไปตามคาดก็เป็นอัตราการเพิ่มที่มาก เช่น ตั้งเป้าหมายไว้ว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวได้ 3.0% ถ้าไม่ทำอะไรเลยปลายปีจะเห็นผลว่าอาจเพิ่มได้แค่ 2.5% เมื่อได้อัดยาบำรุงชุดนี้เข้าไปทำให้เพิ่มได้ 0.5% ก็จะถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เช่น รองศาสตราจารย์ ดร.ประชา คุณธรรมดี ซึ่งเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีความรู้ความสามารถสูงมากท่านหนึ่ง ได้ให้ความเห็นว่า มาตรการนี้จะได้ผลดีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าจะฟันฝ่าแรงเสียดทาน หรือหลุมบ่อของภาวะในด้านลบได้แค่ไหน เช่น พื้นฐานของหนี้ครัวเรือนที่สูงมากของไทย ภาวะการส่งออก ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หนึ่งในสี่ที่สำคัญที่สุดของไทย ซึ่งในปี 2562 นี้ การส่งออกต้องตกอยู่ในภาวะติดลบ 6 เดือนที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าก็ติดลบไป 5 เดือนแล้ว ที่เหลืออีก 6 เดือนสุดท้าย ก็พอจะมองออกว่าจะติดลบไปอย่างมากที่จะหยุดยั้งค่าเงินบาทที่ยังแข็งต่อเนื่องแม้มีการลดอัตราดอกเบี้ยลงมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่น่าห่วงกว่าหลุมบ่อทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ก็คือปัญหาด้านการคลังภาครัฐทั้งด้านรายจ่ายหรือด้านงบประมาณแผ่นดิน และรายได้แผ่นดินที่มีแต่เตี้ยลงบนโครงสร้างภาษีเดิม ที่คิดว่าปีหน้าตั้งแต่มกราคม 2563 จะมีการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นนั้น รัฐก็คงได้เงินทั้งปีไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งก็ต่ำมากเพราะรัฐบาลและรัฐสภาที่แล้วล้วนกลัวว่าตนเองและพวกพ้องจะต้องจ่ายเงินภาษีที่จะเก็บจากคนที่มีเงินมากไป จึงมีการช่วยกันบอนไซภาษีดังกล่าวให้แคระแกร็นตั้งแต่ก่อนคลอด รวมทั้งได้มีการดึงกำหนดคลอดในช่วงอุ้มท้องนานถึง 4 ปี ช้าเป็นประวัติการณ์ทำลายสถิติของรัฐบาลปฏิวัติทั้งปวง

สำหรับด้านงบประมาณรายจ่ายในปี 2563 ที่กำลังมีการพิจารณากันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งคาดว่าจะไม่ทันใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่นั้น ก็จะเห็นผลงานของรัฐบาลใหม่ว่าคงกลัวสำนักงบประมาณ และจะไม่กล้าเปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ๆ ใดๆ ที่จะสามารถสนองนโยบายในการหาเสียงของหลายพรรคการเมืองได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ดังนั้น ก็อาจพูดได้ว่ารัฐบาลชุดนี้ทำได้แต่เพียงการออกมาตรการระยะสั้น ซึ่งเป็นเรื่องซ้ำๆ ซากๆ แต่มาตรการระยะกลางและระยะยาวนั้น อย่าได้หวังพึ่งภูมิปัญญาของท่านเลย ผลที่สุดก็เกรงว่าทั้งรัฐบาลและประชาชนคนไทย ก็จะต้องตายไปด้วยกัน เพราะตามสภาวะเศรษฐกิจโลกทุกวันนี้ ชาติต่างๆ ก็ต้องดิ้นรนกันถ้วนหน้า ประเทศที่แกร่งไม่ใช่เฉพาะจีนและสหรัฐอเมริกาที่ซัดกันนัวเนียเท่านั้น ประเทศอังกฤษ เยอรมนีและชาติอื่นๆ ในยุโรป หรือแม้กระทั่งประเทศสิงคโปร์ที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดของอาเซียนก็กระอักกันจนหน้าซีดทั้งนั้น

ที่กล่าวว่ารัฐบาลไทยจะไปตายในดาบหน้านั้น ขอให้ไปดูงบประมาณของรัฐบาลในปี 2563 นี้ให้ดีๆ แน่นอนที่สุดจะพบแต่งบใช้หนี้ที่มีแต่เพิ่มขึ้น ไม่เฉพาะใช้หนี้การขาดดุลงบประมาณเท่านั้น ซึ่งการกู้แต่ละปีก็อยู่ในกรอบสากล คืองบขาดดุลไม่เกินกรอบของกฎหมายวินัยการคลังที่วางไว้ แต่ไอ้งบใช้หนี้ผูกพันที่เบี้ยวไม่ได้ที่ไม่เกี่ยวกับงบขาดดุลนั้นมีมากเกินตัวแล้วนับตั้งแต่งบใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูที่เกิดตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง งบใช้หนี้โครงการรับจำนำข้าวจำนวนมหาศาล งบใช้หนี้การผ่อนชำระในการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงต่างๆ ที่มีอยู่กว่า 1 ล้านล้านบาท เช่น การซื้อเรือดำน้ำ และอาวุธยุทโธปกรณ์มากมายของกระทรวงกลาโหมตั้งแต่ปืน รถถัง เรือลาดตระเวน จนถึงเครื่องบินรบ งบผูกพันในการก่อสร้างถนนของกระทรวงคมนาคมงบผ่อนชำระหนี้ให้ ขสมก. และของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตลอดจนหนี้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ซึ่งมีการตั้งบัญชีรูปแบบแปลกๆ ไม่ให้คนรู้ว่าเป็นหนี้ เป็นต้น เหล่านี้มีอีกเยอะ

ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่จะพากันไปตายในดาบหน้าทั้งนั้น รัฐบาลก่อน คสช.และรัฐบาล คสช.ก็ได้พ้นไปแล้วไปเสวยสุขอยู่ในที่ต่างๆ กันแล้ว ใครเป็นรัฐบาลตั้งแต่นี้จะต้องรับเละแน่

สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image