‘เชียงคำ’ อ่วม! น้ำป่าหลากเซาะตลิ่ง-คอสะพานทรุด ‘ลำเหมือง’ เส้นทางเกษตรขาด

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สืบเนื่องจากคืนวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา มีฝนตกหนักในพื้นที่ อ.เชียงคำ จ.พะเยา ตลอดทั้งคืน ส่งผลทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำลาวและลุ่มน้ำยวน จนถึงเวลา 08.44 น. ยังมีฝนตกต่อเนื่อง

นายจรัญ กาญจนปัญญานนท์ นายอำเภอเชียงคำ จ.พะเยา กล่าวว่า คืนที่ผ่านมาได้มีฝนตกหนักในพื้นที่ อ.เชียงคำ ปริมาณฝนสะสม 12 ชั่วโมง ที่บ้านคะแนง หมู่ 10 ต.แม่ลาว วัดได้ 93.5 มม. ส่งผลให้น้ำป่าไหลหลากท่วมฉับพลันในพื้นที่ลุ่มน้ำลาวและลุ่มน้ำยวน ต.แม่ลาว ต.ร่มเย็น ต.เวียง เกิดความเสียหายหลายจุด ประกอบด้วย

1.คันกันน้ำ บ้านไชยพรม หมู่ 5 ต.เวียง ถูกน้ำกัดเซาะเสียหาย ทำให้น้ำลำเมืองหลวงไหลบ่าเข้ามาท่วมขังในหมู่บ้านล้า หมู่ 4 บ้านไชยพรม หมู่ 5 ต.เวียง ผิวจราจรถนนสายบ้านทาง-บ้านป่าแดด ช่วงหน้าโรงเรียนบ้านไชยพรม

Advertisement

2.คอสะพานบ้านคะแนงฝั่งบ้านคะแนง หมู่ 10 ต.แม่ลาว ถูกน้ำกัดเซาะบางส่วน แต่ยังสามารถให้รถสัญจรข้ามไปมาได้

3.บ้านวังถ้ำ หมู่ 4 ต.แม่ลาว ลำเหมืองปุยขาด กว้าง 3 เมตร ยาว 5 เมตร เส้นทางการเกษตรและลำเหมืองชำรุดเสียหาย กว้าง 4 เมตร ยาว 15 เมตร ด้านสถานการณ์น้ำยวน ไหลไหลากจากต้นน้ำ ต.ร่มเย็น กัดเซาะตลิ่งบริเวณหัวสะพานบ้านวังเค็มใหม่ หมู่ 2 ต.เจดีย์คำ จนถึงผิวถนน

Advertisement

“เบื้องต้น อ.เชียงคำ แจ้งให้ปลัดอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งเทศบาลตำบล (ทต.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ออกสำรวจพื้นที่ประสบภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนแล้ว” นายจรัญกล่าว

ขณะเดียวกัน นายปราโมกข์ ปิงเมือง หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมอาวุโสสำนักงานชลประทานพะเยา จ.พะเยา เปิดเผยว่า ล่าสุดสถานการณ์น้ำโดยทั่วไปในพื้นที่พะเยา 9 อำเภอ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นตามลำดับจาก 20-23% ขณะระดับน้ำทั่วไปตามห้วย หนอง คลอง บึงปริมาณน้ำเพิ่มนับ 70-80% โดยเฉพาะกว๊านพะเยาบริเวณเนื้อที่กว่า 12,000 ไร่ จากระดับน้ำเมื่อเดือนมีนาคม-เมษายนผ่านมาระดับน้ำเหลือเพียงแค่ 9 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ภาพรวมของกว๊านพะเยาขณะนี้ระดับกักเก็บน้ำได้รวม 25 ล้าน ลบ.ม. เฉลี่ยแล้วคิดเป็น 75% ของความจุระดับน้ำในกว๊านทั้งหมด 33.84 ล้าน ลบ.ม. หากปริมาณน้ำเพิ่มเข้ามาอีก 25% ระดับน้ำในกว๊านพะเยาก็จะครบระดับกักเก็บ 100% 33.84 ล้าน ลบ.ม.

“ส่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของแผนการและแนวทางของกรมชลประทานพะเยา จะได้ดำเนินการกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดปานกลางและขนาดกลางในพื้นที่พะเยา 68 ตำบล 9 อำเภอ กว่า 60 อ่าง/แห่ง เพื่อให้ระดับกักเก็บน้ำอย่างน้อย 50-60% ขึ้นไป ได้เน้นแหล่งน้ำที่สำคัญของจังหวัดคือ “กว๊านพะเยา” ให้มีปริมาณน้ำดิบอย่างน้อย 30-33 ล้าน ลบ.ม. และตามความจุกักเก็บของกว๊านพะเยา หลังที่ได้มีการก่อสร้างอย่างเป็นทางการ และสร้างประตูระบายน้ำแบบพับได้ สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นถึง 55 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 66.66% และยังได้แจ้งเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำให้กับ เกษตรกรในพื้นที่ท้ายน้ำและท้ายกว๊านพะเยา 4 อำเภอ คือ อ.ดอกคำใต้-ภูกามยาว-จุน และ อ.เชียงคำ แล้วแจ้งให้ทราบอย่างเป็นทางการแล้ว ได้เน้นการแจ้งเกี่ยวกับการปลูกพืชหน้าแล้งให้ใช้น้ำอย่างประหยัดมีระบบหรือไม่ฟุ่มเฟือย เพราะน้ำในกว๊านส่วนหนึ่งต้องนำไปใช้อุปโภคและบริโภค ให้กับชาวพะเยาแต่ละพื้นที่ทั้งจังหวัด 9 อำเภอ” นายปราโมกข์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image