‘ธรรมนัส’พร้อมรองอธิบดีกรมชลฯติดตามสร้างอ่างน้ำญวน พะเยา

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการเพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำน้ำญวน โดยมีนายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน นายวิทยา แก้วมี ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง นายวิวัธน์ชัย คงลำธาร ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 5  นายปรีชา จานทอง ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ และบรรยายายสรุปความเป็นมาโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำญวน ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ณ บริเวณหัวงานฝายตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา

โดยเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดําเนินเยี่ยมราษฎรที่ บ้านร่องส้าน อําเภอเชียงคํา จังหวัดพะเยา และที่กิ่งอําเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน ได้มีพระราชดําริให้พิจารณาจัดสร้างฝายเก็บกักน้ำในลําห้วยไร่ เพื่อใช้ในพื้นที่เพาะปลูกตลอดจนการอุปโภคบริโภคในเขตบ้านร่องส้าน รวมทั้งอ่างเก็บน้ำในลําน้ำญวน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ตั้งแต่บ้านใหม่ร่มเย็นจนถึงบ้านร่องส้าน

โดยพื้นที่ลุ่มน้ำน้ำญวน มีปริมาณน้ำฝนรายปีเฉลี่ยประมาณ 1,438 มิลลิเมตร/ปี และมีปริมาณน้ำท่ารายปีเฉลี่ยถึงประมาณ 53.10 ล้านลูกบาศเมตร/ปี ผลการรวบรวมข้อมูล กชช.2ค. (ปี พ.ศ. 2554) พบว่า ในพื้นที่อำเภอเชียงคำมีปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่ม-น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตรในระดับความรุนแรงปานกลางถึงมาก นอกจากนี้เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของอำเภอเชียงคำมีสภาพลาดชัน ในช่วงฤดูฝนเกิดปัญหาน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาสูงลงมายังพื้นที่ด้านล่าง โดยเฉพาะบริเวณลำน้ำน้ำญวนกับลำน้ำแม่ลาวซึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ทำให้น้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่สองฝั่งเป็นระยะเวลา 1-2 วันเป็นประจำเกือบทุกปี

กรมชลประทานรับสนองพระราชดำริโดยเริ่มวางโครการและศึกษาความเหมาะสมพร้อมกับศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วเสร็จในปี 2556 ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ คชก. ซึ่งคาดว่าประมาณต้นปี 2563 จะได้รับการเห็นชอบรายงาน EIA จาก คชก. และ กก.ลว. หลังจากนั้นกรมชลประทานจะได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมด้านการขออนุญาตใช้พื้นที่และก่อสร้างต่อไป ซึ่งตามแผนงานจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565 และเสร็จในปี 2569 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 2,650 ล้านบาท

Advertisement

เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะมีพื้นที่รับน้ำฝนเหนืออ่างเก็บน้ำ 150 ตร.กม ฝนเฉลี่ยทั้งปี 1,436 มม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเฉลี่ย 53.10 ล้าน ลบ.ม./ปี จะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรในฤดูฝน 20,910 ไร่ ฤดูแล้ง 8,364 ไร่ เป็นแหล่งน้ำช่วยเหลือการอุปโภค-บริโภคของราษฎร เป็นแหล่งทำการประมง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของราษฎรในท้องถิ่นอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image