เตาเผาขยะ กทม.(3) โดย : ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์

2ตอนที่แล้วได้กล่าวถึงการกำหนดราคากลาง ข้อกำหนดด้านเทคโนโลยี และข้อกำหนดทางเทคนิคบางประการที่ก่อให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความโปร่งใสในการคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอโครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช และศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม

สำหรับตอนสุดท้าย จะกล่าวถึงบางประเด็นที่อาจเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ยื่นข้อเสนอบางรายแต่เอื้อประโยชน์ให้บางราย และความเห็นสำหรับกรุงเทพมหานครและท้องถิ่นอื่นๆ ที่กำลังพัฒนาโครงการที่มีเอกชนร่วมลงทุนและบริหารดำเนินการ

โครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดขยะโดยระบบเตาเผา ขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ของแต่ละศูนย์มีมูลค่าของการลงทุนแห่งละประมาณ 2,500-3,000 ล้านบาท เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน

ดังนั้น คุณสมบัติของเอกชนที่จะเข้าร่วมโครงการนอกจากประสบการณ์ทางเทคนิคในการออกแบบ ก่อสร้างและบริหารโครงการที่มีขอบเขตของงานในลักษณะเดียวกันแล้ว คุณสมบัติด้านศักยภาพในการลงทุนและความมั่นคงในการบริหารจัดการการเงินก็มีความสำคัญเช่นกัน แต่เอกสารขอบเขตของงานของโครงการนี้กลับไม่มีข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติดังกล่าว เว้นแต่ในหลักเกณฑ์และสิทธิในการพิจารณาที่กล่าวถึงหนังสือรับรองการสนับสนุนด้านการเงินของสถาบันการเงินในประเทศ กับเรื่องเงินทุนจดทะบียนของผู้ยื่นข้อเสนอ ซึ่งทั้งสองข้อมีเพียง 70 คะแนน จากคะแนนรวมที่นำมาพิจารณา 1,600 คะแนน

Advertisement

แม้ว่าโครงการนี้จะใช้คำว่า “จ้างเหมา” แต่พิจารณาด้วยเนื้อหาแล้วมีลักษณะเป็น “สัญญาสัมปทาน” เพราะเป็นการให้สิทธิแก่คู่สัญญาเพื่อกำจัดขยะเป็นระยะเวลา 20 ปี ซึ่งการกำจัดขยะถูกกำหนดไว้ให้เป็นหน้าที่ของท้องถิ่น

ดังนั้น ศักยภาพในการลงทุนและความมั่นคงการบริหารการเงินจึงมีความสำคัญ ทั้งในช่วงเวลาของการลงทุนก่อสร้างและช่วงเวลาของการบริหารดำเนินงานตลอดระยะยาว 20 ปี

หมายความว่า กรุงเทพมหานครต้องอยู่กับเอกชนคู่สัญญาไปจนกว่าจะครบอายุสัญญา

Advertisement

ที่ผ่านมา บางโครงการหลังจากทำสัญญาแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรของเอกชน บางรายเปลี่ยนแปลงจนเกือบไม่มีร่องรอยของกรรมการบริหารชุดเดิมที่เคยเสนอไว้ในวันยื่นข้อเสนอ บางรายมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น หรือกระทั่งบางโครงการบริษัทที่จะทำหน้าที่ดูแลด้านเทคนิคถอดตัวออกไปจากบริษัทร่วมค้า สิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นย่อมมีผลกระทบต่อโครงการและการให้บริการกำจัดขยะจนนำไปสู่ความขัดแย้งของคู่สัญญา

เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ในบางสัญญาจึงกำหนดเงื่อนไขให้เอกชนรายที่ได้รับคัดเลือกต้องจัดตั้งบริษัทของโครงการขึ้นมาใหม่เพื่อป้องกันไม่ให้ความเสียหายที่เกิดจากผลประกอบการในกิจการอื่นๆ มีผลกระทบต่อการบริหารดำเนินการโครงการ หรือการกำหนดไว้ในสัญญาให้เอกชนคู่สัญญาต้องแจ้งถึงการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญก่อนที่จะดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของบริษัทหรือการเปลี่ยนแปลงกรรมการหรือผู้บริหารระดับสูงหรือการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นหลัก ซึ่งเงื่อนไขสำคัญเหล่านี้นอกจากจะถูกกำหนดในสัญญาแล้ว ยังต้องแสดงไว้ในเอกสารขอบเขตของงานด้วย

ย้อนกลับมาดูหลักเกณฑ์และสิทธิในการพิจารณาของโครงการ พบว่าเกณฑ์การให้คะแนนได้ให้ความสำคัญกับเอกสารอ้างอิงที่ระบุไว้จำนวนมาก การจัดเตรียมเอกสารแต่ละอย่างให้ครบถ้วนเป็นเรื่องยุ่งยากสำหรับเอกชนต่างประเทศที่ประสงค์จะร่วมยื่นข้อเสนอ เนื่องจากเอกสารที่ต้องการเหล่านั้นต้องแปลเป็นภาษาไทยและต้องผ่านการรับรองจากสถานทูตไทยในประเทศเจ้าของผลงาน ซึ่งยากที่จะจัดเตรียมให้ครบถ้วนในระยะเวลาที่จำกัด

อย่างไรก็ตาม เมื่อกรุงเทพมหานครได้ข้ามพ้นกระบวนการคัดเลือกไปจนได้ข้อเสนอที่เหมาะสมแล้ว ยังคงมีเรื่องสำคัญที่ต้องให้เอกชนดำเนินการก่อนจะอนุญาตให้ลงมือก่อสร้าง นั่นคือการกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งระหว่างขั้นตอนของการก่อสร้างและการบริหารดำเนินการหลังการก่อสร้าง โดยเฉพาะการออกแบบปล่องเตาเผาที่ต้องใช้แบบจำลองการวิเคราะห์คุณภาพอากาศที่เกิดจากการเผา (Air Quanlity Modeling)

สำหรับกรุงเทพมหานคร การทำงานร่วมกับเอกชนในโครงการนี้แตกต่างไปจากโครงการจ้างเหมาอื่นๆ ที่มีเพียงการตรวจรับงานตามงวดตามวาระ แต่ต้องเน้นบทบาทในการกำกับดูแลและการบริหารสัญญา ไม่ปล่อยให้เอกชนดำเนินการใดๆ ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานและข้อกำหนดหรือสร้างเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรม จนทำให้การดำเนินงานของเอกชนขาดประสิทธิภาพจนอาจเกิดผลกระทบที่รุนแรงได้

ที่ผ่านมา มีข้อบกพร่องของเจ้าหน้าที่หรือผู้ปฏิบัติงานในการกำกับดูแลและการบริหารสัญญา จากหลายสาเหตุ เช่น ความไม่คุ้นเคยกับการกำกับดูแล เนื่องจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ปฏิบัติงานมักเป็นฝ่ายลงมือทำเอง ขาดทักษะในการกำกับดูแล หรือไม่เข้าใจข้อกำหนดหรือเงื่อนไขของสัญญา

ในบางโครงการผู้ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลไม่เคยเห็นสัญญาของโครงการเลย ปัญหาเหล่านี้ กรุงเทพมหานครต้องเตรียมความพร้อมแก่เจ้าหน้าที่หรือผู้ปฏิบัติงานที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับดูแลให้เข้าใจหน้าที่และบทบาท

อีกทั้งต้องเข้าใจว่า “การกำกับดูแลที่ดีจะช่วยให้เอกชนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะเป็นผลดีต่อประชาชน”

อุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การกำกับดูแลและการบริหารสัญญาของเจ้าหน้าที่หย่อนยานจนเกิดความเสียหายต่อองค์กร ก็คือการเข้ามามีส่วนร่วมของเอกชนด้วยความไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรมหรือเข้ามาด้วยอิทธิพลไม่ว่าจะเป็นด้านใด ย่อมมีผลต่อการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่

และในที่สุดมีผลต่อการดำเนินงานที่อาจไม่เป็นไปตามมาตรฐานและข้อกำหนดของโครงการ ผลร้ายจะตกกับประชาชนจนกว่าจะสิ้นสุดอายุสัญญา

ดร.พิรียุตม์ วรรณพฤกษ์
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image