‘ธรรมนัส’ ลงพื้นที่ติดตามโครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง คาดสร้างเสร็จ ปี’66

‘ธรรมนัส’ ลงพื้นที่ติดตามโครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง คาดสร้างเสร็จ ปี’66

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 25 สิงหาคม ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน  นายชูชาติ รักจิตร ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง นายจานุวัตร เลิศศิลป์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 และเจ้าหน้ากรมชลประทานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามโครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง พร้อมรายงานความเป็นมาของโครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ประมาณ 2,000 คน ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอแม่วาง ตำบลบ้านกาด อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ ทางคณะยังได้ลงพื้นที่ตรวจจุดที่จะใช้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่วาง ในพื้นที่บ้านใหม่ปางเติม ตำบลบ้านกาด อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีพื้นที่จะได้รับผลประโยชน์ 3 อำเภอ ประมาณ 18,000 ไร่

สำหรับพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำแม่วาง เดิมในช่วงฤดูแล้งน้ำในลำน้ำแม่วางและลำห้วยสาขามีปริมาณน้ำไหลค่อนข้างน้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำ ทำให้พื้นที่ทางการเกษตรขาดแคลนน้ำ ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย แต่ในทางตรงกันข้ามในช่วงฤดูฝนน้ำในลำน้ำแม่วางกับมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก จึงทำให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรสองฝั่งลำน้ำแม่วางได้รับความเสียหาย และเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นายธงชัย วงศ์เหรียญทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนั้น ได้เสนอเรื่องก่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำแม่วางต่อสำนักงานชลประทานที่ 1 ซึ่งได้มีการพิจารณาจัดทำรายงานการศึกษาโครงการเบื้องต้น แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2549

โดยพื้นที่โครงการอ่างเก็บน้ำแม่วางตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ขาน-แม่วาง จำนวน 1,129 ไร่ ซึ่งจะต้องมีรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามมติ ครม. เกี่ยวกับป่าอนุรักษ์เพิ่มเติม 26 เมษายน 2554 มีแผนดำเนินการในปี 2563 ซึ่งตามแผนงานจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2564 และเสร็จในปี 2566 รวมระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ใช้งบประมาณในการก่อสร้างประมาณ 520 ล้านบาท

เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะมีพื้นที่รับน้ำฝนเหนืออ่างเก็บน้ำ 420 ตร.กม. ฝนเฉลี่ยทั้งปี 634 มม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำเฉลี่ย 209.93 ล้าน ลบ.ม./ปี จะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรในฤดูฝน 18,000 ไร่ ฤดูแล้ง 8,000 ไร่ ถือเป็นแหล่งน้ำช่วยเหลือสนับสนุนการเพาะปลูกในเขตพื้นที่การเกษตรของราษฎรบริเวณสองฝั่งลำน้ำแม่วางและพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งในการอุปโภค-บริโภค พร้อมทั้งช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ สร้างอาชีพใหม่ทางการประมง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของราษฎรในท้องถิ่นอีกด้วย

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image