ยังไม่จบ! ศักดิ์สยาม สั่งรองปลัดคมนาคมหารือ 4 หน่วยงานปมใครมีสิทธิ์อนุญาตใช้ทาง

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าได้มีการหารือเพื่อหาข้อยุติในกรณีข้อขัดแย้งของโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของกระทรวงคมนาคม อาทิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กรมท่าอากาศยาน (ทย.) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กรมทางหลวง กรมธนารักษ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยด้านการบินคือ องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินประเทศไทย (AOC) และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น โดยได้ข้อสรุปว่า พื้นที่ที่เป็นบริเวณที่เป็นโครงการของซีพีเอ็น อยู่นอกเขตการครอบครองของทอท. แต่เป็นเขตการดูแลของกรมท่าอากาศยานและกรมธนารักษ์ ประกอบกับวันนี้ (30 ส.ค.) ศาลปกครองได้มีคำสั่งให้ ทอท.รื้อย้ายสิ่งกีดขวางต่างๆ ออกจากโครงการเซ็นทรัล วิลเลจ โดย ทอท.จะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันนี่

“ปัญหาที่เกิดขึ้น เรื่องแรกเป็นการอนุญาตก่อสร้างทางเชื่อมบนถนนทางหลวง หมายเลข 370 ซึ่งขณะนี้ยังมีประเด็นในเรื่องของความชัดเจนของผู้ที่มีอำนาจ หรือมีสิทธิในการอนุญาตให้ใช้เส้นทางเป็นหน่วยงานใด ซึ่งก็มี 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมธนารักษ์ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กรมทางหลวง และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) จึงมอบหมายให้นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ในการหารือร่วมกันระหว่าง 4 หน่วยงานให้ได้ข้อสรุปอีกครั้งในช่วงสัปดาห์หน้า โดยภายหลังได้ข้อสรุป ทางซีพีเอ็นจะต้องดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป”นายศักดิ์สยามกล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า สำหรับปัญหาอีกเรื่อง เป็นความปลอดภัยทางการบิน ซึ่งหากดูตามแผนที่พบว่าพื้นที่ของโครงการเซ็นทรัลวิลเลจอยู่นอกเหนือการดูแลของทอท. เพราะทอท.มีขอบเขตการพิจารณาเรื่องนี้ อยู่ในสนามบินสุวรรณภูมิเท่านั้น ซึ่งพื้นที่ของโครงการต้องถือเป็นหน้าที่ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) โดยปัจจุบันพบว่ามีกฎหมายตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเดินอากาศ ได้กำหนดไว้แค่การดูแลเรื่องบังคับใช้เพียงการกำหนดความสูงของอาคารที่ก่อสร้างใกล้กับสนามบิน จะต้องไม่สูงเกินมาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมากพท.ได้ดำเนินการตรวจสอบโครงการดังกล่าวแล้ว พบว่าไม่เป็นผลกระทบต่อความปลอดภัยทางการบิน แต่ที่ประชุมก็สั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้มากขึ้น

กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติให้กพท.ทำหนังสือแจ้งซีพีเอ็น เพื่อให้ทราบว่าผลการตรวจสอบโครงการปลอดภัยหรือไม่ และให้ซีพีเอ็น ทำหนังสือรายงานกลับมายังกพท. ในประเด็นข้อสังเกตถึงกิจกรรมที่มีความกังวลในเรื่องความปลอดภัย นอกจากนี้ยังให้กพท.เร่งจัดทำรายงานความปลอดภัยทางการบินให้กับไอเคโออนุมัติอีกครั้ง และจัดส่งให้กับเอกชนในพื้นที่รับทราบเป็นแนวทางเดียวกัน และให้ทอท.นำสิ่งกีดขวางออกนอกพื้นที่โครงการ รวมถึงให้ทอท.และซีพีเอ็นทำความเข้าใจกับประชน และสหภาพทอท.ให้รับรู้ในทิศทางเดียวกันด้วย

Advertisement

“วันนี้ที่ประชุมดูเฉพาะในกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมเท่านั้น คือการรุกล้ำพื้นที่และความปลอดภัย ซึ่งผลก็ปรากฏแล้วว่าซีพีเอ็นไม่ได้รุกล้ำพื้นที่ใดๆ ส่วนเรื่องความปลอดภัยเพิ่มเติม ก็จะให้ซีพีเอ็นไปคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนและถูกกฎหมายในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ทราบว่าปัจจุบัน กพท.อยู่ระหว่างร่างรายละเอียดใน พ.ร.บ.การเดินอากาศ ปี 2562 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุดที่มีผลบังคับใช้แล้วในเดือน มิถุนายน 2562 โดยมีประเด็นเบื้องต้นที่ กพท.จะต้องตรวจสอบโครงการก่อสร้างใกล้เคียงสนามบิน 4 เรื่อง คือ 1. ปล่อยแสงเลเซอร์ 2. คลื่นเสียง และคลื่นวิทยุ 3. ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไฟฟ้า และ 4. กิจกรรมอื่นๆ ที่ผู้อำนวยการ กพท.เป็นผู้กำหนด ซึ่งจะต้องไม่สร้างภาระให้แก่ประชาชน และไม่ใช่เฉพาะโครงการของซีพีเอ็นเท่านั้น แต่สิ่งก่อสร้างทั่วไปก็ต้องมีการตรวจสอบเช่นเดียวกัน

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ถึงแม้ว่ารายละเอียดข้อกำหนดในร่างพ.ร.บ.การเดินอากาศ ฉบับล่าสุดจะยังไม่แล้วเสร็จ แต่เบื้องต้นก็มีการกำหนดคร่าวๆ แล้ว อาทิ การตรวจสอบผลกระทบเรื่องควัน ผลกระทบที่ก่อให้เกิดอันตรายอื่นๆ อาทิ นก แสงไฟ และเสียง ที่ประชุมจึงขอให้กพท.ทำหนังสือแจ้งผลตรวจสอบเรื่องความสูงไปยืนยันให้ซีพีเอ็น ขณะเดียวกันก็ได้ขอให้ทางซีพีเอ็น ทำหนังสือยืนยันข้อสังเกตของประกาศที่เตรียมจะบังคับใช้ด้วยว่า จะมีแนวทางหรือมีมาตรการป้องกันเรื่องนี้อย่างไรต่อไป

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image