‘สุริยะ’ เจาะข้อมูลเวียดนามชิงนักลงทุนเข้าไทย ขอ 2 สัปดาห์คลอดแพคเกจชง ‘สมคิด’ เคาะ

‘สุริยะ’ เจาะข้อมูลเวียดนามชิงนักลงทุนเข้าไทย ขอ2สัปดาห์คลอดแพคเกจชง ‘สมคิด’ เคาะ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรรว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยระหว่างนำคณะผู้บริหารและคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พบปะภาคเอกชน สถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยในเวียดนาม ที่สถานกงสุลใหญ่ประจำประเทศเวียดนาม ว่า ในการหารือครั้งนี้เพื่อดูว่านักลงทุนต้องการอะไรบ้าง หรือได้รับสิทธิประโยชน์อะไรบ้างในการเข้าไปลงทุนที่เวียดนาม เพื่อเป็นแนวทางให้ไทยกำหนดสิทธิประโยชน์ที่ตอบโจทย์ตรงกับความต้องการนักลงทุน โดยไทยจะให้มากกว่าแบบมาตรการต่อมาตรการ เบื้องต้นพบว่า เวียดนามมีจุดแข็งเรื่องอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำถูกกว่า มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)เติบโตประมาณ 6-7% มีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดการในการเจรจาสิทธิประโยชน์แก่นักลงทุน และยังมีมาตรการแบบให้เช่าฟรีด้วย นอกจากนี้ต้นทุนค่าไฟฟ้ายังอยู่ในระดับต่ำ มีการเปิดการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป(อียู)

นายสุริยะกล่าวว่า เวียดนามมีจุดอ่อนคือ กฎหมายการลงทุนบางข้อเขียนคลุมเครือ ทำให้นักลงทุนไม่ได้สิทธิประโยชน์ตามที่เข้าใจแต่แรก ซึ่งจุดนี้ต่างกับไทยที่มีสิทธิประโยชน์ชัดเจน ไม่เปลี่ยนแปลง และไทยมีจุดแข็งเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครบวงจรสามารถอำนวยความสะดวกรองรับการค้าการลงทุน แรงงานไทยมีทักษะฝีมือสูงให้สิทธิต่างชาติถือครองที่ดิน เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ได้ นอกจากนี้ จากการหารือยังพบว่า ปัจจุบันเวียดนามมีนักลงทุนระดับเศรษฐีเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและรายได้ ดังนั้นอีกมุมหนึ่งก็จะชักจูงนักลงทุนกลุ่มนี้เข้าไปลงทุนไทย อาทิอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอื่นที่ไทยมีศักยภาพและเวียดนามเข้าลงทุน

นายสุริยะกล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ. กลับไปสรุปสถานการณ์และผลการหารือครั้งนี้ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อกำหนดมาตรการดึงดูดการลงทุนในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม และเสนอนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณา เชื่อมกับมาตรการภาพรวมที่แต่ละหน่วยงานกำลังดำเนินการอยู่

Advertisement

นายสุริยะกล่าวว่า สถานทูตไทยประจำประเทศเวียดนาม รายงานตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ของเวียดนามในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน) อยู่ที่  2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6 แสนล้านบาท ขณะที่ไทยอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท จากยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนรวมครึ่งแรกปี 2562 มูลค่ากว่า 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งตัวเลขของเวียดนามเติบโตมาจากฐานต่ำจึงสูง อย่างไรก็ตามกระทรวงอุตสาหกรรมจะเร่งดึงดูดการลงทุนให้สำเร็จตามเป้าหมายของรัฐบาลแน่นอน

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการ สศอ.กล่าวว่า แม้ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำของเวียดนามจะอยู่ในระดับต่ำกว่าไทย แต่สิ่งที่นักลงทุนไม่รับรู้คือ ค่าแรงดังกล่าวยังไม่ได้บวกค่าสวัสดิการต่างๆ ที่ต้องนำมานับรวมเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการด้วย ทำให้สุดท้ายค่าแรงมีความใกล้เคียงกับไทย นอกจากนี้บางสิทธิประโยชน์ของเวียดนามมีการกำหนดโควต้าเมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในเวียดนาม กลับไม่ได้สิทธิประโยชน์จริง ตรงนี้เป็นจุดอ่อนที่ไทยต้องพิจารณาเพื่อชูสิทธิประโยชน์ไทยที่มีความชัดเจนมากกว่า

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image