‘เฉลิมชัย’สั่งจับตาสถานการณ์น้ำใกล้ชิด มั่นใจ 2-3 วัน ปัญหาอุทกภัยคลี่คลาย

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมรับฟังติดตามสถานการณ์น้ำ และมอบนโยบายในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศ ว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น คาดว่าภายใน 2-3 วันนับจากนี้ ระดับน้ำที่ท่วมสูงในหลายพื้นที่จะทยอยกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขความเสียหายในพื้นที่ชัดเจนมากนัก ต้องรอให้น้ำลดลง แล้วจะเร่งให้กรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปประเมินความเสียหายให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ พร้อมประเมินมูลค่าความเสียหาย เพื่อดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรเข้าสำรวจความเสียหายหลังจากน้ำลดแล้ว และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนประกาศเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย เพื่อรัฐบาลจะได้ประเมินความเสียหายและมีการชดเชยต่อไป ขณะนี้คาดว่าภายในเดือนกันยายนนี้ เกษตรกรจะเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ ซึ่งหลังจากเก็บเกี่ยวแล้วจะมีพื้นที่รองรับน้ำได้ถึง 2,000 – 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ในขณะนี้ต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าไปในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่การเกษตรที่กำลังจะเก็บเกี่ยว หากทำตรงนี้ได้ความเสียหายก็จะลดลง

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว ได้สั่งการให้กรมชลประทานสำรวจพื้นที่ที่จะเป็นแหล่งรองรับน้ำ เช่น ทุ่งบางระกำ และทุ่งทะเลหลวง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่รองรับน้ำไว้ใช้ในแล้งหน้า และเพื่อการอุปโภค-บริโภคด้วย โดยพื้นที่ที่จะมาแหล่งรองรับน้ำนี้รัฐบาลจะหาวิธีการเยี่ยมยา เช่น จ่ายค่าเช่า เป็นต้น ให้พื้นที่เหล่านั้นได้อยู่อาศัยได้ แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบของกฎหมาย และจะมีการส่งเสริมอาชีพ อาจมีการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วม ยังคงมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 14 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร, อุตรดิตถ์, สุโขทัย, เพชรบูรณ์, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, กาฬสินธุ์, ขอนแก่น, มหาสารคาม, อุดรธานี, อุบลราชธานี, ชอำนาจเจริญ, สกลนคร และนครพนม โดยกรมชลประทานได้จัดส่งเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆ ไปช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมทั่วประเทศแล้ว

Advertisement

นอกจากนี้ ยังสั่งการให้ทางหน่วยงานในพื้นที่ เสาะหาพื้นที่ลุ่มต่ำใหม่ๆ ที่เหมาะสมจะเป็นแหล่งน้ำที่จะเก็บกักน้ำเพิ่มด้วย ซึ่งล่าสุดเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 42,331 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 61% ของความจุเขื่อนรวมกันทั้งหมด เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 22,401 ล้านลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีก 29,000 ล้านลบ.ม. และเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาเขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกัน 10,855 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 44% ของความจุเขื่อนรวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 4,159 ล้านลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีก 14,000 ล้านลบ.ม.

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image