สกู๊ป น.1 : สำรวจ‘The Cave’ ‘ขุนน้ำนางนอน’ โลกจำ-ไทยลืม?

ภารกิจช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชนทั้ง 13 ชีวิตติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ที่ จ.เชียงราย เมื่อปี 2561 โด่งดังไปทั่วโลก ล่าสุดบริษัทหนังยักษ์ใหญ่ของโลกได้ปล่อยตัวอย่างภาพยนตร์ “นางนอน” (The Cave) เป็นการถ่ายทอดภารกิจช่วยเหลือออกมาให้ยลโฉม ในมุมมองของอาสาสมัครชุดต่างๆ ที่ไม่เคยถูกเผยแพร่มาก่อน ภายใต้ผลงานการกำกับโดย ทอม วอลเลอร์

ภาพยนตร์มีกำหนดเข้าฉายวันที่ 28 พฤศจิกายนนี้ในประเทศไทย แต่ก่อนหน้านั้นจะทำการฉายรอบปฐมทัศน์โลกที่เทศกาลหนัง BFI London Film Festival ประเทศอังกฤษ ช่วงเดือนตุลาคมนี้ เชื่อว่าหลังภาพยนตร์นี้ออกฉายจะเป็นการประชาสัมพันธ์ให้โลกได้รู้จักประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนหลั่งไหลมาเยี่ยมชมกันอีกครั้ง

Advertisement

แต่ที่น่าตกใจ เพราะล่าสุด ยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต รมว.ทรัพยากรฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “ผมรู้สึกตกใจ เพราะทุกอย่างที่ถ้ำหลวงยังคงเหมือนเดิมและไม่ได้มีการพัฒนาหรือปรับปรุงใดๆ เลย นับจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นจนถึง ณ ขณะนี้ ถนนหนทาง สิ่งอำนวยความสะดวกยังคงเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่ถ้ำหลวงน่าจะเป็นจุดหนึ่งซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สนใจให้แวะมาเที่ยวชมจากชื่อเสียงที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่ภาพที่เห็นกลับตรงข้ามกับสิ่งที่ผมคิด”

“ผมได้แต่ร้องโอ้อนิจจา เห็นแล้วอยากร้องไห้ รัฐบาลประกาศสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาถ้ำหลวงเป็นพันล้านบาท แต่สิ่งที่เห็นมีแค่เพียงหอศิลป์ของอาจารย์เฉลิมชัย (เฮียเบอะของผม) ที่สร้างโดยไม่ได้ใช้งบของรัฐบาลเลย ถ้ำหลวงไม่ได้รับการพัฒนาไปตามงบประมาณที่ได้รับแม้แต่น้อย ทั้งๆ ที่ในปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติจำนวนล้านกว่าคนได้มาเที่ยวชมสถานที่แห่งนี้แล้ว แต่กลับไม่มีห้องบรรยาย มีห้องน้ำที่สร้างเสร็จแล้วแต่ใช้งานไม่ได้ ถนนแตกระแหงรอการฟื้นฟู มีคนเอาม้ามารับจ้างขี่โดยสาร โดยอ้างว่าผู้ใหญ่ฝากมา ทำให้เกิดคำถามว่า เงินที่ได้มาไปอยู่ไหน เอาไปบำรุงสถานที่หรือเข้ากระเป๋าตนเอง
ผมต้องขอรบกวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพี่น้องประชาชนช่วยกันตรวจสอบด้วยนะครับ”

Advertisement

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 30 ต.ค.61 ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อการพัฒนา 3,899.5 ล้านบาท โดยครอบคลุมการพัฒนาถ้ำหลวงเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ และขุนน้ำนางนอนที่มีพื้นที่ถ้ำทรายทองและแหล่งน้ำสีเขียวมรกตเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ รวมทั้งขอใช้พื้นที่ไร่ยาสูบพื้นที่ปากทางเข้าอีกประมาณ 700 ไร่

ขณะที่ ประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าฯเชียงราย ชี้แจงว่า งบประมาณที่ทางรัฐบาลอนุมัติกว่า 3,000 ล้านบาท เป็นแผนพัฒนาทั้งระบบทั้งพื้นที่ถ้ำหลวง พื้นที่โดยรอบไปเชื่อมโยงถึงพื้นที่เวียงหนองหล่ม ซึ่งเป็นกรอบที่กว้างที่จะใช้บุคคลและระยะเวลาในการดำเนินการ ตอนนี้ยังกระชับพื้นที่ดำเนินการลงเหลือเพียงพื้นที่ถ้ำหลวง ซึ่งงบประมาณที่รัฐบาลอนุมัติยังไม่ลงมาถึงพื้นที่แม้แต่บาทเดียว เนื่องจากจะต้องเสนอโครงการหรือแผนพัฒนาเข้าไปก่อน ซึ่งทางจังหวัดได้เร่งหารือกับทุกฝ่ายเสนอแผนและโครงการส่งไปยังกระทรวงเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาและอนุมัติให้ดำเนินการ ช่วงนี้ทางจังหวัดก็ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ต้องรอการอนุมัติแผนพัฒนาและงบประมาณจากส่วนกลางก่อน

ด้าน กวี ประสมพล นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ระบุว่า ปัจจุบันถ้ำหลวงมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยววันปกติประมาณ 800-1,000 คน และช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์จะอยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000 คน

“การพัฒนาถ้ำหลวงหน่วยงานไม่สามารถดำเนินการเองได้ ต้องได้รับความเห็นชอบหรือสั่งการจากกรมอุทยานฯหรือกระทรวงทรัพยากรฯ เพราะต้องใช้งบกลาง ซึ่งทางหน่วยงานเป็นเพียงหน่วยที่ดูแลพื้นที่ไม่ให้ได้รับผลกระทบหรือความเสียหาย และอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาเยือนให้ดีที่สุด โดยทางหน่วยก็อยากเห็นการพัฒนาถ้ำหลวงโดยเร็วที่สุดเพราะทุกวันนี้ถนนทางเข้าก็ไม่ค่อยดีนัก ตอนนี้ที่มีงบประมาณเข้ามาก็เป็นเรื่องของการจัดทำป้ายอุทยานฯอันใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการและการจัดทำนิทรรศการที่ถ้ำหลวงและ
สระน้ำมรกต ขุนน้ำนางนอน” กวีกล่าว

ด้าน กมลไชย คชชา ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 กล่าวว่า งบประมาณที่รัฐบาลอนุมัติเป็นงบกลางซึ่งยังไม่ได้ลงมายังพื้นที่ และการดำเนินการต้องปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวหลายฝ่าย ทำให้ขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ อาจต้องใช้เวลา อีกทั้งยังมีระเบียบในเรื่องของเขตป่าไม้และเขตอุทยานฯ

“การเป็นวนอุทยานการดำเนินการหรือการนำงบประมาณจากส่วนกลางมาใช้ค่อนข้างลำบาก ที่ผ่านมาทางสำนักจึงมุ่งเน้นการระดมเจ้าหน้าที่ในการออกสำรวจแนวเขตพื้นที่เพื่อเสนอประกาศเป็นเขตอุทยานฯ โดยขณะนี้เสร็จหมดแล้วอยู่ระหว่างให้กฤษฎีกาตีความในพื้นที่ทับซ้อนเขตที่อยู่อาศัยของชุมชนและหน่วยงานอื่น ซึ่งเขตที่อยู่อาศัยไม่น่ามีปัญหาเพราะไม่มีชาวบ้านอาศัย และทางโครงการพัฒนาพื้นที่ดอยตุงที่เคยขอใช้พื้นที่ก็เห็นด้วยที่จะประกาศเป็นเขตอุทยานฯโดยคืนพื้นที่บางส่วนให้ จากเดิมวนอุทยานถ้ำหลวงมีประมาณ 5,900 ไร่ ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 12,000 ไร่ ส่วนพื้นที่ทับซ้อนอื่นๆ ก็อาจมีที่ ส.ป.ก.บ้าง แต่ก็อยู่ที่การพิจารณาตีความและเชื่อว่าจะประกาศได้ในเร็วๆ นี้” นายกมลไชยระบุ

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ถ้ำหลวงยังไม่มีงบประมาณลงมาดำเนินการ เนื่องจากเคยมีการศึกษาผลกระทบหรือสภาพแวดล้อม ล่าสุดทางกระทรวงทรัพย์ได้ให้งบ 17 ล้านบาท ทำทีโออาร์แผนพัฒนาทั้งหมดโดยอยู่ระหว่างการหาหน่วยงานซึ่งอาจเป็นสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ก็ต้องใช้เวลาเช่นกัน

การพัฒนาระยะแรกโดยเฉพาะในเรื่องของถนนและภูมิทัศน์โดยรอบ เดิมทีกรมทางหลวงชนบทได้จัดงบประมาณ 30 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงถนนทางเข้า แต่เนื่องด้วยติดระเบียบป่าไม้ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ จึงประสาน อบจ.เชียงราย เพื่อทำการซ่อมแซม แต่ติดระเบียบราชการก็มีอันต้องสะดุดไป ล่าสุดมีบริษัทเอกชนเสนอตัวเข้ามาปรับปรุงถนนให้ซึ่งอยู่ในกระบวนการพิจารณาหากไม่ติดขัดอะไรก็สามารถดำเนินการได้

ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้จัดงานครบรอบ 1 ปีภารกิจกู้ภัย 13 หมูป่า แต่โครงการพัฒนาต่างๆ ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานแบบไทยๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image