วางกรอบ5แนวทาง สู่อุตสาหกรรมอัจฉริยะ

หมายเหตุ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จัดงานสัมมนา ภายใต้หัวข้อ “[SIAM]2 Model-Pathway Toward Smart Industry : สานพลัง เสริมทัพ ปรับสู่อุตสาหกรรมอัจฉริยะ” ที่เมืองทองธานี โดยมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและนักลงทุนทั้งภาคการผลิตและบริการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม สมาคม มูลนิธิ สถาบันการศึกษา หน่วยงานวิชาการ และประชาชนผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วม

พสุ โลหารชุน
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมมีความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมก็เปลี่ยนแปลงไป ในภาวะที่สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลกและเศรษฐกิจไทย ทำให้อัตราการขยายตัว (จีดีพี) ของภาคอุตสาหกรรมปรับลดลง

แต่เชื่อว่าทุกวิกฤตมีโอกาส โดยภาคอุตสาหกรรมไทยจะต้องทำความเข้าใจและปรับตัวเพื่อโอกาสของอุตสาหกรรมไทยที่จะสามารถเติบโตไปในอนาคตได้ โดยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าและบริการควบคู่ไปกับการกระจายรายได้ไปสู่เศรษฐกิจฐานราก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเร่งขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม มีเอกภาพ และบูรณาการ ตามกรอบแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

Advertisement

ภายใต้นโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มี 5 แนวทางสำคัญ ได้แก่ แนวทางแรก การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (เอสเคิร์ฟ) เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นในประเทศ ต่อยอดนโยบายในส่วนที่ดำเนินการไปแล้ว เช่นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) มีค่ายรถยนต์ต่างๆ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กว่า 5.3 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (โรโบติก) ได้รับการส่งเสริมการลงทุนกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมชีวภาพ (ไบโอ) ที่มีความคืบหน้าอย่างมาก โดยมีมูลค่าการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มูลค่ากว่า 9 พันล้านบาท ซึ่งการดำเนินงานในระยะต่อไปจะประกาศนโยบายอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะเพื่อเชื่อมโยงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น อุปกรณ์และระบบที่เกี่ยวข้องกับ รถไฟฟ้า ท่าเรือ สนามบิน เป็นต้น

แนวทางที่สอง ยกระดับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และสตาร์ตอัพให้เติบโตและเข้มแข็ง ผ่านการยกระดับผลิตภาพของธุรกิจและนวัตกรรมใหม่มาใช้ โดยมีศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ไอทีซี 4.0) ที่มีภาคเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินงานด้วยเพื่อการขับเคลื่อนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถปรับโครงสร้างการผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ่านกลไกของไอทีซี 4.0 ที่มีอยู่ทั่วประเทศ 105 แห่ง ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ ด้านสตาร์ตอัพ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เอ็มโอยู ร่วมกับเครือข่ายภาครัฐ สถาบันการเงินและภาคเอกชนรวม 13 หน่วยงาน อาทิ กลุ่ม ปตท. กลุ่มไทยเบฟ กลุ่มซีพี ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น ขับเคลื่อน อินโนสเปซ ไทยแลนด์ ภายใต้บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีทุนตั้งต้นราว 700 ล้านบาท เพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริม และพัฒนาสตาร์ตอัพ
แบบครบวงจร ตั้งแต่การบ่มเพาะ เสริมการเรียนรู้ และร่วมลงทุน จะเริ่มดำเนินการในเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ สำหรับปีงบประมาณ 2563 กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการเสนอของบประมาณทั้งสิ้นรวม 1.4 หมื่นล้านบาท จำนวนนี้ 3 พันล้านบาทเป็นงบที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับผลิตภาพและนวัตกรรมมาใช้

Advertisement

แนวทางที่สาม ด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ เพื่อยึดโยงการพัฒนาอุตสาหกรรมกับศักยภาพเชิงพื้นที่และกระจายรายได้สู่ภูมิภาค โดยการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี และเขตเศรษฐกิจชายแดน (เอสอีซี) ซึ่งในส่วนของ 3 พื้นที่ชายแดนที่เป็นจุดที่มีศักยภาพสูง เช่น นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว นิคมอุตสากรรมตาก และนิคมอุตสาหกรรมสงขลา มีการดำเนินการคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีนักลงทุนติดต่อเข้ามาเพื่อลงทุน มูลค่ารวมกว่า 7.5 พันล้านล้านบาท

นอกจากนี้ จะมีด้านการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไบโอ มีเป้าหมายผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไบโอ (ไบโอฮับ) ในอาเซียน ในปี 2570 ซึ่งมีการลงทุนเข้ามาในพื้นที่อีอีซีกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท และมีแผนจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ เพื่อผลักดันและกระตุ้นผู้ประกอบการให้ตื่นตัวมากขึ้น เช่น ฉะเชิงเทรา อุบลราชธานี และลพบุรี เป็นต้น รวมทั้งจะชูโมเดลเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการเกษตรเชื่อมโยงการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม

แนวทางที่สี่ การส่งเสริมการประกอบการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (เซอร์คูลาร์อีโคโนมี) การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของสถานประกอบการให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (กรีน อินดัสทรี) พัฒนาระบบกำจัดกากอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ การปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับระยะยาว

นอกจากนี้ มีประเด็นเร่งด่วนที่กระทรวงอุตสาหกรรมต้องดำเนินการ คือ การสร้างเศรษฐกิจชุมชน มุ่งสร้างรายได้ในรูปแบบใหม่ๆ จะมีการแก้ไขกฎหมายที่เอื้อต่ออุตสาหกรรมหมุนเวียน นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาใช้ รวมทั้งมีการประสานให้ธุรกิจรายใหญ่มีการเชื่อมโยงซัพพลายเชนกับธุรกิจขนาดเล็กด้วย

และแนวทางที่ห้า การปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมไปสู่ สมาร์ท กอฟเวิร์นเมนต์ โดยจะเร่งนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในการบริการและปฏิบัติการของกระทรวงอุตสาหกรรมในทุกมิติ ทั้งการยื่นขอใบอนุญาตออนไลน์ ระบบการชำระค่าบริการออนไลน์ รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการด้านต่างๆ ด้วยแพลตฟอร์มไอ อินดัสทรี ทั่วประเทศประเทศภายในปีนี้

สำหรับกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายทั้งหมดจะเน้นความร่วมมือตามแนวทางประชารัฐ ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม สถาบันการเงิน สถานบันการศึกษา ประชาชน เป็นต้น เข้ามาทำงานและประสานกัน ขจัดปัญหาต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นและช่วยกันแก้ไขให้เกิดความสะดวกเป็นการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

เมื่อผนวกศักยภาพประเทศไทย ที่มีความพร้อมด้านปัจจัยต่างๆ เช่น สิทธิประโยชน์การลงทุนจากบีโอไอ จะทำให้เกิดการลงทุนพัฒนาทั้งจากนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติ ทำให้อุตสาหกรรมไทยมีทิศทางเติบโตดีขึ้นและยั่งยืนในอนาคต

ทวีสุข สายะศิลปี
ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ดิจิทัล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

บริษัทพลังงานอย่าง ปตท. มีความท้าทายและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัลที่รวดเร็วในหลายด้าน จึงต้องปรับเปลี่ยนโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ทั้งในองค์กรและการให้บริการลูกค้าตามพฤติกรรมของลูกค้าเป็นดิจิทัลมากขึ้น มีการใช้สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์ไอโอทีที่มากขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันที่มาจากฟอสซิลไปสู่พลังงานไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจต้องปรับตัวให้อยู่ได้ โดยต้นทุนการดำเนินงานให้ต่ำลงและสามารถแข่งขันได้ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ที่ผ่านมาได้ดำเนินการ อาทิ ระบบเซ็นเตอร์ต่างๆ เข้ามาติดตั้งเพื่อติดตามระบบงานและตรวจสอบการทำงานของอุปกรณ์ สามารถรู้ล่วงหน้าว่าอุปกรณ์ถึงเวลาต้องซ่อมบำรุง ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนและวางแผนการซ่อมบำรุงได้ ไม่ต้องมีการสต๊อกอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็น

รวมทั้งการนำข้อมูลขององค์กรที่มีอยู่มาวิเคราะห์และนำมาใช้ อาทิ การออกบลูการ์ดทำให้ทราบพฤติกรรมลูกค้าและมีข้อมูลมากขึ้น การทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม การใช้ข้อมูลขององค์กรปัจจุบันยังนำมาใช้ไม่เพียงพอ ปีนี้จึงจะผลักดันให้เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เช่น การนำเสนออนุมัติเรื่องเพื่ออนุมัติต้องมีการนำข้อมูลขึ้นมานำเสนอและวิเคราะห์

นอกจากนี้ ต้องเปลี่ยนคนให้มีความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีและนำมาประยุกต์ใช้องค์กรได้ รวมทั้งการนำมาใช้จริง และต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (ไซเบอร์ซีเคียวริตี)

สัมพันธ์ ศิลปนาฎ
รองประธานและผู้จัดการทั่วไป บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด

การปรับทักษะ (รีสกิล) และพัฒนาทักษะ (อัพสกิล) เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวทุกคนและเป็นเรื่องสำคัญสำหรับธุรกิจ เพราะปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สำหรับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไทย คือ การนำระบบออโตเมชั่น และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) มาใช้ ในช่วงที่ผ่านมานำออโตเมชั่นเข้ามาช่วยคนทำงานได้ แต่กระทบกับแรงงานระดับล่าง ซึ่งกระแสการเปลี่ยนแปลงขณะนี้นำระบบเอไอเข้ามาใช้จะเริ่มกระทบกับพนักงานระดับกลางและระดับผู้นำขององค์กร

ในอดีตโครงสร้างองค์กรจะมีหลายระดับชั้น เพราะคนคาดหวังการเติบโตในหน้าที่การงานต้องมีตำแหน่งรองรับ แต่หากเอไอเข้ามาช่วยทำงาน สามารถทำงานได้ทุกขั้นตอนโดยไม่ผ่านพนักงานระดับกลางหรือผู้บริหารระดับสูง เป็นการเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้ต่างไปจากองค์กรแบบเดิมๆ ที่ช้าและยุ่งยาก ทำให้เราจำเป็นต้องรีสกิลและอัพสกิล ดังนั้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนต้องอย่าหยุดพัฒนาทั้งตนเองและทีมงาน

ที่ผ่านมาการรีสกิลและอัพสกิลของไทยรอให้รัฐบาลเข้ามาดูแล แต่เรื่องนี้เอกชนต้องเป็นเจ้าภาพ เพราะรู้ว่าต้องพัฒนาด้านไหน พัฒนาอย่างไร พัฒนานานเท่าใด รองรับงานใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ประพิน อภินรเศรษฐ์
นายกสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย

ในยุคนี้สู้อย่างไร คือ ห้ามหยุดนิ่ง และต้องขับเคลื่อนธุรกิจโดยใช้ดิจิทัลและอินโนเวชั่น เป็นเทรนด์ของทั่วโลก ทั้งนี้ ภาพรวมการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในปี 2560 ใช้รวมกันอยู่ที่ราว 3.80 แสนตัว ในกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ยางและพาสติก ยาและอาหาร เป็นต้น และสำหรับปี 2561 เพิ่มขึ้นมาอีก 1% หรืออยู่ที่ 3.84 แสนตัว ซึ่งแนวโน้มจะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้น ไทยจะต้องปรับเปลี่ยนนำมาใช้มากขึ้น เช่น ระบบยกของ ระบบจัดเรียงสินค้า ระบบจัดชิ้นงานเข้าเครื่อง เป็นต้น โดยเฉพาะเมื่อมีแรงกดดันจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุและปัญหาแรงงานต่างด้าวที่ลดลง เพราะจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้

วิลาสินี กิตติเกษมศักดิ์
กรรมการผู้จัดการ บริษัท คิงส์สเตลล่า แลบบอราทอรี่ จำกัด

ในกลุ่มมี 4 บริษัทที่ดำเนินธุรกิจแตกต่างกัน และขนาดธุรกิจต่างกัน เรื่องยากคือการอินทิเกรด อย่างไรก็ตาม ได้มีการนำระบบเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ในการบริหารงาน เช่น ระบบบริหารสต๊อกในคลังสินค้า ระบบเช็กออเดอร์ผ่านโทรศัพท์มือถือ มีการนำระบบเซ็นเซอร์เข้ามาใช้ทราบสถานะการผลิต ระบบเครื่องจักรอัตโนมัติ เป็นต้น

แต่ปัญหาที่พบคือ พนักงานอาจจะตามไม่ทันต้องเร่งปรับทักษะ และพัฒนาทักษะ ด้านการใช้งานเทคโนโลยีนวัตกรรมให้กับพนักงาน รวมทั้งการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าเพื่อนำข้อมูลมาใช้งานมากขึ้น

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด

เทคโนโลยีบล็อกเชน คือเฟสที่สองของอินเตอร์เน็ต จะกระทบกับตัวกลางอย่าง ธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ เพราะบล็อกเชนจะทำให้การแลกเปลี่ยนต่างๆ ไม่มีตัวกลางและมีความโปร่งใส เหมือนเฟสแรกที่ทำให้เกิดการพัฒนาแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยไม่มีตัวกลาง เช่น ไปรษณีย์ในการส่งจดหมาย โทรเลข เป็นต้น สำหรับแนวคิดของบิทคับ คือ ตลาดหลักทรัพย์ยุคใหม่ ไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางเหมือนยุคเก่า สามารถซื้อขายทุกอย่างกันได้เอง เช่น หุ้น อสังหาริมทรัพย์
เป็นต้น

ต่อไปอยากเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมสามารถซื้อขายผ่านบิทคับได้ ไม่จำเป็นต้องมีเงินทั้งก้อนแต่สามารถร่วมกันลงทุนหลายคนใน 1 ยูนิต มีการแบ่งผลตอบแทนตามสัดส่วนเงินลงทุนหรือการถือหุ้น เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image