เพิ่มเงินรับซื้อโซลาร์ปชช. พลังงานอัดสินเชื่อ ชี้สนใจแค่4เมก-ยกเลิกคำขอเพียบ

เพิ่มเงินคืนชีพโซลาร์ปชช. กกพ.เสนอ2บ.-พลังงานอัดสินเชื่อ ชี้สนใจแค่4เมก-ยกเลิกคำขอเพียบ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงาน แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชน(โซลาร์ภาคประชาชน) ปริมาณ 100 เมกะวัตต์ต่อปีในปีนี้ ภายหลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เตรียมปรับหลักเกณฑ์ให้จูงใจประชาชนเพื่อเดินหน้าโครงการในปี 2563 ว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)พิจารณา และนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาเพื่อจูงใจประชาชนให้สนใจมากขึ้น เบื้องต้นคาดว่าจะใช้วิธีเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าจากเดิมที่กำหนดรับซื้อไว้ 1.68 บาทต่อหน่วย เพราะน่าจะจูงใจประชาชนมากที่สุด ส่วนจะเป็นอัตราเท่าใดต้องรอข้อเสนอจากกกพ.อีกครั้ง นอกจากนี้อาจพิจารณาสินเชื่อเพื่อสนับสนุนเงินทุนให้ประชาชนด้วย เพราะปัจจัยด้านต้นทุนการติดตั้งเป็นอุปสรรคสำคัญ ต้องหาวิธีลดต้นทุนให้ประชาชน นอกจากนายสนธิรัตน์ ยังกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาถึงแนวทางการกำจัดซากแผงโซลาร์ และแบตเตอรี่ด้วย

แหล่งข่าวกล่าวว่า ล่าสุดได้รับรายงานตัวเลขการขอติดตั้งโซลาร์ประชาชนที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ถึงปัจจุบัน พบว่า ตัวเลขการลงทะเบียนและยื่นเอกสารรวม 759 ราย จำนวน 4,036 กิโลวัตต์ หรือประมาณ 4 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น คำขอการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) 285 ราย 1,433 กิโลวัตต์ และคำขอการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) 474 ราย 2,603 กิโลวัตต์ หากพิจารณาเฉพาะคำขอที่ทำสัญญาซื้อขายแล้ว มีจำนวน 47 ราย 253 กิโลวัตต์ และพบว่าประชาชนยกเลิกคำขอสูงถึง 553 ราย 2,875 กิโลวัตต์ จึงตั้งข้อสังเกตได้ว่าประชาชนอาจสนใจในช่วงแรก แต่พบว่าต้องใช้เวลาคืนทุน 7 ปีสำหรับไฟบ้านปกติ จากต้นทุน 2-3 แสนบาท ทำให้หลายรายไม่เดินหน้าต่อ

นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกกพ. กล่าวว่า กกพ.ยังรอนโยบายจากกระทรวงพลังงานอย่างเป็นทางการถึงการปรับรูปแบบโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ซึ่งเดิมกกพ.มีแผนปรับปรุงรายละเอียดให้จูงใจภายในสิ้นปีนี้อยู่แล้ว เบื้องต้นอาจต้องทำแผนประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น จ่ายค่าไฟฟ้าในอัตรา 3,000-4,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป เพราะกลุ่มนี้คืนทุนเร็ว

Advertisement

แหล่งข่าวจากกกพ. กล่าวว่า กกพ.เตรียมนำเสนอ 2 แนวทางเบื้องต้น คือ การเปิดให้กลุ่มธุรกิจที่ใช้ไฟตลอดทั้งวันเข้าร่วมโครงการได้เช่นเดียวกับกลุ่มครัวเรือน เพื่อปริมาณการผลิตถึงเป้าหมาย 100 เมกะวัตต์ต่อปีได้เร็วขึ้น และการปรับราคารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดิม 1.68 บาทต่อหน่วย เป็น 2 บาทต่อหน่วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image