‘กสทช.’​ จับมือ ‘ไอทียู’​ จัดสัมมนาพัฒนาบุคลากร​ด้านเอไอ เตรียม​รับ ‘5G’ ในอนาคต​

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยระหว่างการประชุมเชิงปฏิบัติการเอ็นบีทีซี-ไอทียู-เอ็นไอเอ เซ็นเตอร์ ออฟ เอ็กเซลเลนท์ 2019 ว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ร่วมกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู​) และสถาบัน​เทคโนโลยี​แห่งชาติเกาหลี จัดงานสัมมนาเพื่อการพัฒนา​บุคลากรด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในประเด็น​สำคัญ อาทิ 1.การใช้ประโยชน์​จากเอไอ 2.ปัญญา​อุปสรรค จากการนำเอไอไปใช้งาน

นายฐากร กล่าวว่า การจัดสัมมนานี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะจะช่วยผลักดันการขับเคลื่อน 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต​ ซึ่ง 5G จะมีความเกี่ยวเนื่องกับทั้งเอไอและอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที)​ และหาก 5G ไม่เกิดขึ้นเอไอและไอโอทีก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จึงต้องมีจัด​สัมมนา​ทั้งสองเรื่องควบคู่​กัน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อน 5G ให้เกิดขึ้นตามกรอบเวลาที่วางไว้

“สาเหตุที่ต้องผลักดันการขับเคลื่อน 5G ให้เป็นวาระแห่งชาติ​ และมีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน นั้น เนื่องจากหลายประเทศ อาทิ สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย มีความพยายามผลักดันการขับเคลื่อน 5G โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G ระดับชาติเช่นกัน จึงไม่อยากให้เรื่องนี้ล่าช้า ซึ่งไทยจะเกิดความเสียเปรียบ​” นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า 5G จะแตกต่างจากระบบ 3G และ 4G ที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน​ โดยภาคโทรคมนาคม​จะได้รับประโยชน์​เพียง 20% ส่วนอีก 80% จะเกิดประโยชน์​ในอุตสาหกรรม​อื่น เช่น โลจิสติกส์, การเกษตร, การคมนาคม, ภาคการศึกษา, อุตสาหกรรม​การผลิต และสาธารณสุข ​เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน และดึงเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ​ได้จำนวนมาก

Advertisement

“คาดว่า การประมูลคลื่นความถี่ครั้งต่อไป จะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนมกราคม 2563 ซึ่งเป็นจัดการประมูลล่วงหน้า ในรูปแบบการประมูลหลายย่านความถี่พร้อมกัน (มัลติแบนด์)​ ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 700, 2600 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 26-28 กิกะ​เฮิรตซ์​ ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 1800, 3500 เมกะเฮิรตซ์ จะจัดการประมูลลำดับถัดไป” นายฐากร กล่าว

“ภายในเดือนพฤศจิกา​ยนนี้ จะต้องได้ข้อสรุปการจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งหมด โดยการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ จากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)​ จะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์​ ที่ปัจจุบัน​อยู่ในการถือครองของบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)​ เพื่อให้บริการในดาวเทียมไทยคม 5 จะสิ้นสุดสัญญา​สัมปทาน​ในวันที่ 11 กันยายน 2564 ทำให้คลื่นความถี่จะพร้อมใช้งานได้หลังจากนั้น และไทยคม จะต้องย้ายไปใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 3700-4200 เมกะเฮิรตซ์​แทน เพื่อไม่ให้ลูกค้าได้รับผลกระทบ” นายฐากร กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมเชิงปฏิบัติการเอ็นบีทีซี-ไอทียู-เอ็นไอเอ เซ็นเตอร์ ออฟ เอ็กเซลเลนท์ 2019 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-19 กันยายน​ 2562 โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 80 คน จากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก อีกทั้ง มีวิทยากรให้องค์ความรู้ด้านเอไอ จากองค์กรชั้นนำและมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image