ผู้ส่งออกเตรียมตัว มี.ค.63 อาเซียนบังคับใช้ระเบียบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าฉบับใหม่

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับปรุงระเบียบปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียนให้ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจปัจจุบันว่า คณะอนุกรรมการความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Intersessional SC-AROO)  ได้ตั้งเป้ากำหนดเริ่มใช้บังคับการปรับปรุงระเบียบปฏิบัติฯ ที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ในวันที่ 31 มีนาคม 2563 หลังจากคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียนให้การรับรองระเบียบปฏิบัติฯ และประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินกระบวนการภายในแล้วเสร็จ

นายอดุลย์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ไทยและอาเซียนได้บรรลุข้อตกลงการปรับปรุงระเบียบปฏิบัติการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของอาเซียนให้ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจปัจจุบัน โดยให้ยกเลิกการระบุราคา FOB บนหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form D ทุกกรณี จากเดิมกำหนดให้ต้องระบุราคา FOB ภายใต้เกณฑ์สัดส่วนวัตถุดิบภายในภูมิภาค และยอมรับการลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature and Seal: ESS) ใน Form D ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรปลายทาง อันเนื่องจากความคลาดเคลื่อนของลายมือชื่อที่ปรากฏบน Form D และตัวอย่างลายมือชื่อที่แจ้งไว้กับศุลกากรปลายทาง รวมถึงป้องกันการปลอมแปลง Form D โดย กรมฯ มั่นใจว่าการปรับปรุงระเบียบฯ ดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับความสะดวกในการยื่นขอรับและขอใช้สิทธิ Form D

นายอดุลย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ระเบียบปฏิบัติฯ ที่ปรับปรุงใหม่ในครั้งนี้ ได้ควบรวมระเบียบปฏิบัติฯ ภายใต้โครงการนำร่องการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของอาเซียนจากสองโครงการเป็นหนึ่งเดียว ( ASEAN-Wide Self-Certification (ASWC)) ก่อให้เกิดความชัดเจน ครอบคลุมอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองด้วย

“ไทยและอาเซียนอยู่ระหว่างการหารือเพื่อจัดทำระบบการขึ้นทะเบียนและฐานข้อมูลผู้ส่งออกที่ได้รับสิทธิในการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน ให้ศุลกากรปลายทางเข้าสู่ระบบฯ เพื่อตรวจสอบข้อมูลผู้ส่งออกที่ได้รับสิทธิฯ ได้สะดวกทันท่วงทียิ่งขึ้น โดยไม่เกิดความสับสนว่าข้อมูลชุดใดที่อัพเดตล่าสุด เพื่อให้ผู้ส่งออกสามารถรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเองได้ทันทีหลังจากที่ลงทะเบียนกับกรม” นายอดุลย์ กล่าว

Advertisement

นายอดุลย์ กล่าวว่า เมื่อ AWSC มีผลบังคับใช้ จะเอื้อให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ที่อยู่ในเขตจังหวัดชายแดนสามารถมาใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้กรอบอาเซียนด้วยต้นทุนธุรกรรมและโลจิสติกส์ที่ต่ำลง รวมถึงเพิ่มความสะดวกในการจัดหาวัตถุดิบจากภูมิภาคมาใช้ในการผลิตผ่านการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า โดย กรมฯ ได้เริ่มจัดสัมมนาและคาราวารเจ้าหน้าที่สำหรับเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติฯ Form D ฉบับปรับปรุงล่าสุด รวมถึงขั้นตอนและระเบียบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง (AWSC) แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image