‘เวนเดอร์’คึก ปลุกลงทุน’5G’

“เกาหลีใต้” เป็นประเทศแรกในโลกที่เปิดให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ทั่วประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดย มุน แจ อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ตั้งเป้าว่า 5G จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้กระเตื้อง เฟื่องฟู ได้อีกทางหนึ่ง

การดำเนินการดังกล่าวของเกาหลีใต้ ถือเป็นการชิงตัดหน้าเพื่อนบ้านที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานานอย่าง “ญี่ปุ่น” ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการ 5G แบบจำกัดในปีนี้ ก่อนเดินหน้าเต็มสูบรับการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในปี 2020 หรือปี 2563

การที่ทั้งสองประเทศในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์ด้านโทรคมนาคม (เวนเดอร์) เริ่มขยับเขยื้อน เป็นสัญญาณที่ดีกับประเทศที่มีฐานะเป็นผู้ใช้งาน โดยเฉพาะประเทศไทย ที่บทเรียนเมื่อครั้ง 3G เฉื่อยแฉะกว่าหลายประเทศเป็น 10 ปี และ 4G ที่ล้าหลังอยู่ 7-8 ปี ให้ต้องเร่งฝีเท้าวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ 5G ได้ทันที ที่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการทั่วโลก ทั้งนี้ นอกจากภาครัฐแล้ว ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ “โอเปอเรเตอร์” มีส่วนสำคัญในการผลักดันการขับเคลื่อน 5G อย่างมาก

ผลการศึกษา “5G ในอาเซียน จุดประกายการเติบโตในตลาดองค์กรและผู้บริโภค” ซึ่ง “ซิสโก้” และบริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการอย่าง “บริษัท เอ.ที.เคียร์เน่” ชี้ว่า การเปิดบริการ 5G จะช่วยเพิ่มรายได้ต่อปีของโอเปอเรเตอร์ในไทยได้มากถึง 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 34,000 ล้านบาท ภายในปี 2568

Advertisement

ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่จะเปิดให้บริการ 5G ในปี 2564 คาดว่าการเติบโตในระยะแรกหลังจากที่ปรับใช้เทคโนโลยี 5G มาจากลูกค้าระดับสูงที่มีอุปกรณ์รองรับ และฐานลูกค้าจะค่อยๆ ขยายตัวเมื่ออุปกรณ์ที่รองรับมีราคาลดลง

ด้วยเหตุนี้ จึงคาดว่าจำนวนผู้ใช้ 5G ในอาเซียนจะเกิน 200 ล้านราย ในปี 2568 โดยอินโดนีเซีย จะมีผู้ใช้งานกว่า 100 ล้านราย สูงสุดในภูมิภาค สำหรับประเทศไทย คาดว่า จำนวนผู้ใช้ 5G จะมีสัดส่วน 33% ในปี 2568

ดาร์เมช มัลฮอตรา กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคอาเซียน กลุ่มธุรกิจโอเปอเรเตอร์ของซิสโก้ ให้ข้อมูลว่า การเปิดให้บริการ 5G จะต้องอาศัยการลงทุนจำนวนมากในด้านเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงเครือข่ายให้ทันสมัย สำหรับในภูมิภาคอาเซียน โอเปอเรเตอร์มีแนวโน้มจะลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่ออัพเกรดเครือข่าย 4G และสร้างขีดความสามารถด้าน 5G อย่างค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยให้ระบบ 4G และ 5G ทำงานควบคู่กันไปอย่างราบรื่น อีกทั้งโอเปอเรเตอร์ สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการลงทุนและมีผลตอบแทนจากการลงทุนที่ยั่งยืน

Advertisement

ทั้งนี้ ผลการศึกษาระบุว่า ในอาเซียนจะต้องแก้ไขปัญหาท้าทายที่สำคัญที่สุด ได้แก่ ย่านความถี่ที่เปิดให้ใช้งานช้าเกินไปสำหรับบริการ 5G ส่งผลให้เครือข่ายที่เปิดตัวใหม่ด้อยประสิทธิภาพ โดย 5G ประกอบด้วย 3 ย่านความถี่หลักที่จะใช้งานทั่วโลกในระยะสั้น ได้แก่ ย่านความถี่ต่ำ (700 เมกะเฮิรตซ์), ย่านความถี่กลาง (3.5 ถึง 4.2 กิกะเฮิรตซ์) และย่านความถี่สูง บนสเปกตรัม มิลลิมิเตอร์เวฟ (24 ถึง 28 กิกะเฮิรตซ์) ในภูมิภาคอาเซียน

ย่านความถี่เหล่านี้กำลังถูกใช้งานสำหรับบริการอื่นๆ เช่น ย่านความถี่ต่ำใช้สำหรับฟรีทีวี และย่านความถี่กลางใช้สำหรับบริการดาวเทียม แม้ว่าสเปกตรัม มิลลิมิเตอร์เวฟ จะพร้อมใช้งาน แต่ในการติดตั้งระบบ จำเป็นที่จะต้องรวมย่านความถี่ต่ำเข้าไว้ด้วย เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการขยายพื้นที่บริการให้ครอบคลุมเขตชานเมืองและชนบท รวมถึงการเชื่อมต่อภายในอาคาร

ขณะที่ “โอเปอเรเตอร์” จะต้องสร้างกลุ่มผลิตภัณฑ์ 5G โดยกำหนดราคาอย่างรอบคอบ และโยกย้ายผู้บริโภคไปสู่เครือข่ายความเร็วสูง ผู้บริโภคมีความตื่นเต้นเกี่ยวกับ 5G และยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อคุณภาพที่ดีกว่า ซึ่งแตกต่างจากเทคโนโลยี 3G และ 4G ดังนั้น ผู้ให้บริการจึงไม่ควรเข้าร่วมในสงครามตัดราคาเพียงเพื่อที่จะดึงดูดลูกค้าจำนวนมาก และหวังว่าจะสามารถคิดค่าบริการเพิ่มในภายหลัง

ส่วนองค์กรขนาดใหญ่ ทางโอเปอเรเตอร์จำเป็นที่จะต้องสร้างความสามารถใหม่ๆ และรวมบริการเชื่อมต่อเข้ากับโซลูชั่นและแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อช่วยให้ลูกค้าเข้าใจ ปรับใช้ และขยายการใช้งานที่ช่วยเพิ่มมูลค่า นอกจากนี้ ผู้ให้บริการจะต้องรับมือกับคู่แข่งรายใหม่ๆ ที่ให้บริการเครือข่ายส่วนตัวแก่องค์กร

การเปิดตัว 5G ในอาเซียนมีศักยภาพโดยรวมที่สูงมาก อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพ ภูมิภาคนี้จำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาท้าทายที่สำคัญ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เช่น หน่วยงานกำกับดูแล โอเปอเรเตอร์ และองค์กรต่างๆ เนื่องจากความท้าทายด้านระบบนิเวศ หรืออีโคซิสเต็มส์ และมูลค่าที่สูงมากเป็นเดิมพัน

“หน่วยงานกำกับดูแลจึงต้องเข้ามามีบทบาทหลัก และต้องเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาสำคัญๆ เช่น การจัดสรรคลื่นความถี่ในระยะสั้น การสนับสนุนการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และการส่งเสริมการพัฒนาระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้ระดับประเทศ โดยครอบคลุมทั่วภูมิภาค” ดาร์เมชระบุ

ด้าน วัตสัน ถิรภัทรพงษ์ กรรมการผู้จัดการซิสโก้ประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน เสริมว่า ธุรกิจทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคสำคัญๆ เช่น ภาคการผลิตกำลังมองหาเทคโนโลยีจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม การเปิดให้บริการ 5G ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะเร่งการปรับใช้เทคโนโลยี และนำประโยชน์มหาศาลมาสู่องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่ผู้บริโภคยังคอยการเปิดตัว 5G เพื่อพัฒนาการใช้งานอุปกรณ์ ซึ่งแนวโน้มทั้งสองนี้จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ปัจจุบัน “โอเปอเรเตอร์” กำลังเตรียมพร้อมที่จะเปิดตัวบริการ 5G โดยมีแนวโน้มว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 300,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในภูมิภาคอาเซียนภายในปี 2568 เชื่อว่าผลจากการลงทุน 5G จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับโอเปอเรเตอร์ 6-9% ในภาคคอนซูเมอร์ (บีทูซี) และเพิ่มรายได้ 18-22% ในภาคธุรกิจเอนเตอร์ไพรส์ (บีทูบี)

5G จะช่วยผลักดันการใช้งานในหลากหลายรูปแบบที่ก้าวล้ำมากขึ้น เช่น สมาร์ทซิตี้, อุตสาหกรรม 4.0, เครือข่ายอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) ขนาดใหญ่ และอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้โอเปอเรเตอร์สามารถเพิ่มรายได้ทั้งจากกลุ่มผู้บริโภคและลูกค้าองค์กร จากประสิทธิภาพของ 5G ที่รองรับการเชื่อมต่อที่เร็วขึ้น 50 เท่า พร้อมความรวดเร็วในการตอบสนองที่มากขึ้น 10 เท่า และใช้พลังงานในการเชื่อมต่อน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับ 4G ซึ่งนับเป็นคุณลักษณะเด่น 3 ข้อที่สำคัญ ได้แก่ การรับส่งข้อมูลที่รวดเร็ว การหน่วงเวลาต่ำ และการเชื่อมต่อที่ใช้พลังงานต่ำ

ความเร็วสูง การหน่วงเวลาต่ำ และการเชื่อมต่อที่ปรับปรุงดีขึ้น คือปัจจัยหลักที่จะช่วยให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมสามารถจัดหาบริการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่เร็วเป็นพิเศษ สามารถรองรับการสตรีมวิดีโอความละเอียดสูง การเล่นเกมผ่านระบบคลาวด์ และการนำเสนอคอนเทนต์แบบอินเทอร์แอคทีฟที่ขับเคลื่อนด้วย อักเมนต์ เรียลลิตี้ (เออาร์) และเวอร์ชวล เรียลิตี้(วีอาร์) ให้แก่ผู้บริโภค

จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีในการเปิดตัวการให้บริการ 5G สำหรับโอเปอเรเตอร์ เพราะปัจจุบันการรับส่งข้อมูลบนระบบเซลลูลาร์กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้ใช้มีการใช้งานบริการและคอนเทนต์ต่างๆ บนอุปกรณ์ส่วนบุคคลเพิ่มมากขึ้น

“ขณะเดียวกัน องค์กรต่างๆ ก็มองหาหนทางในการใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ ที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ), ไอโอที, ระบบการพิมพ์ 3 มิติ,ระบบหุ่นยนต์ขั้นสูง และอุปกรณ์สวมใส่ เพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจ การปรับใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จะสำเร็จได้จำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมสำหรับโอเปอเรเตอร์ในการขยายฐานธุรกิจในตลาดองค์กร และสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว” วัตสันสรุป

เมื่อฟาก “เวนเดอร์” เคาะรายได้หลังให้บริการ 5G เป็นกระบุงโกยแบบนี้ จะจูงใจกระทุ้ง “โอเปอเรเตอร์” ให้อดเปรี้ยวไว้กินหวาน รีบลงทุนได้หรือไม่ เดี๋ยวรู้กัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image