พระอรหันต์ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตอน : กลับ จ.อุบลราชธานี เพื่อเทศน์พระอาจารย์สิงห์ & เล่าความจริงแห่งการปฏิบัติธรรม & เทศน์โปรดโยมมารดา (9) โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ในปี พ.ศ.2458 หลังจากท่านอาจารย์มั่นได้จำพรรษาที่กรุงเทพฯในปีนั้นแล้ว ท่านก็พิจารณาภายในพรรษานั้นว่า เราควรจะได้แนะนำสั่งสอนธรรมปฏิบัติที่เราได้รู้ได้เห็นมา ซึ่งเป็นธรรมที่ยากนักจะรู้ได้ เราอุตส่าห์พยายามมาเป็นเวลาสิบๆ ปี ควรจะได้แนะนำบรรดาผู้ที่ควรแก่การปฏิบัติ ให้ใคร่รู้และจะได้แนะนำกันต่อๆ ไป ครั้นเมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านก็ได้ลาท่านเจ้าคุณอุบาลีกลับไปจังหวัดอุบลฯ จำพรรษาที่วัดบูรพา ในปี พ.ศ.2458 นั้น ท่านมีพรรษาได้ 25 พรรษา ขณะที่ท่านจำพรรษาอยู่นั้น ท่านก็พิจารณาว่า ใครหนอจะเป็นผู้ควรแก่การสั่งสอน

ขณะนั้นท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นครูสอนนักเรียนอยู่เหมือนกับครูอื่นๆ เป็นครูที่สอนวิชาสามัญแก่นักเรียนเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ท่านได้ยินกิตติศัพท์ว่าท่านอาจารย์มั่น เป็นพระนักปฏิบัติที่เคร่งครัดมากก็ใคร่ที่จะได้ศึกษาธรรมปฏิบัติ ในวันหนึ่งหลังจากเลิกสอนนักเรียนแล้ว ท่านก็ได้ไปนมัสการท่านอาจารย์มั่น กำลังเดินจงกรมอยู่ครู่ใหญ่ จนท่านอาจารย์เลิกจากการเดินจงกรม เหลือบไปเห็นท่านอาจารย์สิงห์ซึ่งนั่งอยู่ที่โคนต้นมะม่วง ท่านจึงได้เรียกและพากันขึ้นไปบนกุฏิ หลังจากท่านอาจารย์สิงห์ กราบแล้ว ท่านอาจารย์มั่นก็ได้พูดขึ้นว่า “เราได้รอเธอมานานแล้ว ที่อยากจะพบและต้องการชักชวนให้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน” เมื่อได้ยินเช่นนั้น ท่านอาจารย์สิงห์ถึงกับตกตะลึง เพราะท่านได้ทราบจิตใจของท่านอาจารย์สิงห์มาก่อน เนื่องจากท่านอาจารย์ได้ตั้งใจมาหลายเพลาแล้ว ที่จะขอมาพบกับท่าน เพื่อฝากตัวเป็นศิษย์ ปฏิบัติธรรมด้วย พอท่านอาจารย์สิงห์ ได้ฟังเช่นนั้น ก็รีบตอบท่านไว้ว่า “กระผมอยากจะปฏิบัติธรรมกับท่านมานานแล้ว” กล่าวจบ ท่านอาจารย์มั่นจึงได้อธิบายให้ฟังว่าการบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์นั้น จักต้องปฏิบัติกัมมัฏฐาน คือ พิจารณา “ตจะปัญจกะกัมมัฏฐาน” เป็นเบื้องแรก เพราะเป็นหนทางพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ทรงตรัสรู้ธรรมด้วยการปฏิบัติอริยสัจธรรม 4 คือ “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค”

เมื่ออธิบายไปพอสมควร ท่านก็แนะนำวิธีนั่งสมาธิ ท่านอาจารย์มั่นเป็นผู้นำนั่งสมาธิในตอนนั้นเป็นเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ท่านอาจารย์สิงห์ก็เกิดความสงบ แล้วจิตสว่างไสวขึ้นทันที เป็นการอัศจรรย์ยิ่ง ภายหลังจากนั่งสมาธิเสร็จแล้ว ท่านพระอาจารย์มั่นก็ได้อธิบายถึงวิธีพิจารณากาย โดยใช้กระแสจิตพิจารณาจนเป็นที่พอใจแล้ว ท่านอาจารย์สิงห์ก็ได้ลากลับไป

จากนั้นมา ท่านก็พยายามนั่งสมาธิทุกวัน จนเกิดความเย็นใจเกิดขึ้นเป็นลำดับ อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์สิงห์ก็ไปสอนนักเรียนตามปกติ ซึ่งเด็กนักเรียนในสมัยนั้น เรียนรวมกันทั้งชายและหญิง และอายุการเรียนก็มาก ต้องเรียนถึงอายุ 18 ปี เป็นการบังคับให้เรียนจบ ป.4 ขณะที่ท่านกำลังสอนนักเรียน มองดูเด็กนักเรียน เห็นแต่โครงกระดูกนั่งอยู่เต็มห้องไปหมด ไม่มีหนังหุ้มอยู่เลยสักคนเดียว จำนวนนักเรียนประมาณ 38 คน ได้มองเห็นเช่นนั้นไปหมดทุกคนเลย แม้ท่านจะพยายามขยี้ตาดูก็เห็นเป็นเช่นนั้น ที่สุดก็เกิดความสังเวชใจขึ้นแก่ท่านเป็นอย่างมาก แล้วก็เกิดความเบื่อหน่ายต่อสังขารเป็นอย่างยิ่ง จึงนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์นัก เพราะธรรมดาปฏิภาคนิมิตต้องเกิดในขณะหลับตาอยู่ในฌานจริงๆ แต่ท่านกลับเห็นทั้งสองหลับตาและลืมตา อาการที่ท่านเห็นเป็นอยู่เช่นนั้นเป็นเวลานาน

Advertisement

จนนักเรียนพากันสงสัยว่า ทำไมครูจึงนั่งนิ่งอยู่เช่นนั้น ทุกคนเงียบกริบ เวลาได้ล่วงไปนานโขทีเดียว ตาของท่านจึงค่อยปรากฏเห็นร่างของเด็กนักเรียนในชั้นเหล่านั้น มีเนื้อหนังขึ้นจนปรากฏเป็นปกติ หลังจากนั้นท่านก็พูดกับเด็กนักเรียนทั้งหลายเป็นการอำลาว่า “นักเรียนทุกคน บัดนี้ครูจะได้ขอลาจากความเป็นครูตั้งแต่บัดนี้แล้ว เนื่องจากครูได้เกิดความรู้ในพระพุทธศาสนา ได้เห็นความจริงเสียแล้ว” เมื่อได้ร่ำลาศิษย์ของท่านเสร็จ ท่านก็จัดกลด อัฐบริขารของพระธุดงค์ ออกจากวัดเดิมที่ท่านอยู่ ติดตามท่านอาจารย์มั่นไปทุกหนทุกแห่ง เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมให้ยิ่ง จนกระทั่งได้เห็นอรรถธรรมที่ควรรู้ควรเห็น

ตอนที่ 19 เล่าความจริงแห่งการปฏิบัติธรรมถวายพระกรรมวาจาจารย์ : ในปีนี้เองท่านอาจารย์มั่นท่านได้คิดถึงพระกรรม
วาจาจารย์ของท่าน คือ พระครูสีทา ชยเสโน เพราะหลังจากท่านได้พบกับความจริงแห่งการปฏิบัติแล้วนั้น ท่านใคร่จะให้อาจารย์ของท่านได้รับแสงสว่างแห่งธรรมนี้บ้าง ในวันหนึ่งท่านจึงได้เข้าไปนมัสการที่วัดและพูดขอโอกาสที่จะเล่าความจริงแห่งการปฏิบัติธรรมถวาย เมื่อท่านพระครูให้โอกาสท่านเล่าถวายแล้ว ท่านอาจารย์มั่นจึงได้เริ่มเล่าความจริงที่ท่านได้ประสบมา ในขณะที่ท่านบำเพ็ญกัมมัฏฐานอยู่ที่ถ้ำไผ่ขวางน้ำตกสาริกานั้นว่า “การปฏิบัตินี้ ทางที่จะเป็นทางพาให้พ้นทุกข์ คือ มรรค 8 : มรรค 8 ข้อต้นนั้นได้แก่สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ เห็นชอบเห็นอะไร เห็นอริยสัจ 4 อริยสัจ 4 คืออะไร คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรค คือ มรรค 8 ฉะนั้นเมื่อปฏิบัติสัมมาทิฏฐิข้อเดียว จึงเท่ากับปฏิบัติทั้งหมด 8 ทุกข์ คืออะไร คือ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ใครคือผู้เกิดผู้ตาย ร่างกายของเรานี้ ฉะนั้น ร่างกายของเรานี้จึงเป็นตัวทุกข์ เพราะจิตเข้าไปยึดมั่น

การบำเพ็ญจิตให้สงบจนเกิดกำลังแล้ว ก็ไม่ควรที่จะทำความสงบอย่างเดียว เพราะถ้าทำแต่ความสงบ ไม่พิจารณาทุกขสัจ ก็จะเป็นเฉพาะฌาน ก็จะเป็นมิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิผิด ไม่พ้นทุกข์ ต้องพิจารณาทุกข์ จึงจะพ้นทุกข์ คือ ต้องใช้กระแสจิต ที่เป็นกำลังอันเกิดจากความสงบนั้นมาพิจารณา เพราะกระแสจิตนี้ได้รับการอบรมจากสมาธิแล้วเป็นกำลังมหาศาล ซึ่งไม่ควรนำไปใช้ทางอื่นเสียควรใช้พิจารณาตัวทุกข์ คือ ร่างกายนี้ให้ชัดเจน จนกระทั่งเกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย เจริญให้มาก กระทำให้มาก ญาณเกิดขึ้นจนกว่าจะแก่รอบ

Advertisement

เมื่อท่านพระครูได้ฟังแล้ว ท่านก็เกิดความเลื่อมใสว่า ธรรมเช่นนี้แม้เราที่ได้เรียนมาแล้วแต่ไม่เข้าใจ เพราะปริยัตินั้นเพียงแต่เรียนพอเข้าใจ แต่ไม่รู้วิธีการที่ใช้คราวนี้รู้วิธีการที่จะทำอะไรกับสิ่งนั้นแล้ว เอาละเราขอขอบใจเธอมาก

ท่านอาจารย์มั่น เมื่อได้สนทนากับท่านอาจารย์ของท่านพอสมควรแล้วก็ลากลับไป เมื่อท่านพระครูได้บำเพ็ญกัมมัฏฐาน ตามแนวของท่านอาจารย์มั่นมาเป็นเวลานานครั้ง แล้ววันหนึ่งก็เกิดความอัศจรรย์ขึ้น ซึ่งสามารถพิจารณาเห็นกายและเกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่าย และสามารถทวนกระแสจิตเห็นตัว ผู้รู้ ผู้เห็น ตามความเป็นจริง แล้วสิ้นกังขาความสงสัยในใจซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงได้ให้พระไปนิมนต์พระอาจารย์มั่นมาพบและเล่าให้ฟัง ท่านอาจารย์มั่นก็ว่าทำถูกแล้ว ต่อไปนี้ก็ขอให้เจริญให้มาก เมื่อพอเพียงแก่ความต้องการแล้ว ก็จะพึงรู้เอง

เมื่อท่านพระครูได้ให้ท่านอาจารย์มั่นได้รู้เห็นเป็นพยานในการเห็นธรรมในกาลนั้นแล้ว ท่านได้รำพึงว่า “ศิษย์ของเราองค์นี้ นับว่าเป็นผู้มีความกตัญญูกตเวทีมากเหลือเกิน เพราะเมื่อได้รู้ได้เห็นธรรมอันแท้จริงแล้ว ก็ไม่ลืมครูบาอาจารย์ อุตส่าห์มาแนะนำให้เราได้รู้ได้เห็น และเป็นการถูกต้อง แม้เราเป็นพระผู้เฒ่า เป็นถึงอาจารย์ ถ้าจะพึงมัวถือแต่มานะทิฏฐิ ก็คงไม่สามารถฟังธรรมจากศิษย์ที่มีความสามารถในธรรมได้ แต่ก็มีศิษย์เป็นผู้ทรงวุฒิ ได้เป็นประโยชน์แก่ชนบทเป็นอันมาก อันว่าศิษย์นั้น ถ้าดี ผู้เป็นครูเป็นอาจารย์ก็พลอยได้รับเกียรติและชื่อเสียงตามไปด้วยนี้ก็เป็นเช่นนั้น

ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมโดยทั่วไป สุดแล้วแต่ผู้ใดจะมีความสามารถ เมื่อผู้มีความสามารถมาก ก็แนะนำบอกกล่าวแก่ผู้มีความสามารถน้อยก็จะทำให้สัตถุศาสนากว้างขวางออกไป มิใช่ใครจะว่าเราใหญ่เราโต เป็นอาจารย์ เป็นอุปัชฌาย์ เรามียศถาบรรดาศักดิ์ แล้วนำเอาสิ่งเหล่านั้นมาเป็นเครื่องกีดขวาง การที่จะศึกษาหาธรรมอันยิ่งใหญ่ให้ตน นี่เป็นทางเสื่อมเสียแก่ตน และผู้อื่นอย่างใหญ่หลวง แต่เราเองมิได้คิดเช่นนั้น เราได้ตั้งหน้าตั้งตาบำเพ็ญสมณธรรม ตามที่ศิษย์ของเราแนะนำให้จนเกิดผล และเราเองบัดนี้ก็จะสามารถสอนใครต่อใคร ให้ดำเนินตามแนวนี้อันเป็นทางถูกต้อง แก้ความสงสัยได้

ตอนที่ 20 เทศน์โปรดโยมมารดา : ขณะนั้นท่านอาจารย์มั่นเห็นท่านพระครูนั่งนิ่งเฉยอยู่นาน ท่านก็เลยอำลากลับ และในปีนี้เองท่านก็ได้พบโยมมารดาของท่าน ซึ่งท่านได้ตั้งใจไว้ว่า ท่านจะโปรดโยมด้วยธรรมทั้งหลายที่รู้มาแล้ว ท่านจึงเดินทางไปพบกับโยมที่บ้าน ตำบลบ้านคำบง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลฯ เมื่อโยมได้เห็นท่าน ก็มีความดีอกดีใจมาก เพราะท่านได้จากไปเสียนาน เมื่อท่านได้ปราศรัยเล่าถึงการเดินธุดงค์ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนได้แสงสว่างแห่งธรรมให้แก่โยมฟัง จนเป็นที่พอใจแล้ว

ท่านย้อนมาพูดถึงการปฏิบัติ โดยขอร้องให้โยมพยายามปฏิบัติจิต อันเป็นทางแห่งความพ้นทุกข์ ทางโยมมารดาก็ตกลงที่จะปฏิบัติธรรมตามที่ได้แนะนำให้ นับแต่ที่ท่านอาจารย์มั่นได้แนะนำให้แล้ว โยมมารดาก็ได้มีความสนใจเป็นกรณีพิเศษได้ทำตามคำแนะนำทุกประการ และจิตก็เป็นไปได้ตามจริงที่เกิดขึ้น ได้รับความเย็นใจ มีศรัทธาแก่กล้า ลาลูกหลานออกบวชเป็นชี ก่อนเข้าพรรษานี้ ปรากฏว่ามารดาของท่านอาจารย์มั่น ซึ่งยังกระหายต่อการปฏิบัติศึกษาธรรมอยู่มิวายจึงอุตส่าห์ล้มลุกคลุกคลานตามวิบากของคนแก่ ติดตามไปที่ถ้ำภูผากูด เพื่อศึกษาอบรมตนให้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมปฏิบัติ ท่านอาจารย์เสาร์จึงได้บวชชีให้อยู่ปฏิบัติ ณ ถ้ำนี้ โดยจองเอาที่เงื้อมแห่งหนึ่งเป็นที่ปฏิบัติธรรม เร่งความเพียรทั้งกลางวันทั้งกลางคืน อยู่ที่ถ้ำนั้น ท่านอาจารย์มั่นท่านเล่าว่า

โยมมีความเพียรมาก แม้ว่าจะแก่แล้วก็ตาม อธิษฐานนอนตะแคงข้างขวาตลอดชีวิต มีการเดินธุดงค์ไปในที่กันดารเช่นเดียวกับพระสงฆ์ รับประทานอาหารเพียงมื้อเดียวตลอดชีวิต มีความเพียรมั่นคงไม่ท้อถอย แม้แต่ท่านอาจารย์มั่นเองก็ชมว่ามารดาของท่านมีความเพียรแก่กล้า หลังจากที่โยมได้บำเพ็ญกัมมัฏฐานตามคำแนะนำของท่านอาจารย์มั่นมาหลายปี ท่านอาจารย์มั่นก็ทราบว่าอินทรีย์ของการอบรมจิตได้แก่กล้าแล้ว ท่านได้ให้คำแนะนำวิธีสุดท้ายคือ การบำเพ็ญวิปัสสนาญาณให้เกิดความแก่รอบของญาณโดยอุบาย ซึ่งท่านได้ยกตัวอย่างของปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 เมื่ออินทรีย์แก่กล้าแล้ว พระพุทธองค์ได้ทรงให้ปัญจวัคคีย์ พิจารณารูป เวทนา เป็นต้น โดยปัญญาตามความเป็นจริง ปัญญาในที่นี้ได้แก่ ญาณ หรือความรู้อันเกิดจากกระแสธรรมอันยิ่ง โยมมารดาของท่านได้รับการอบรมมากแล้ว ก็พิจารณาตามนั้น จนเป็นที่พอแก่ความต้องการ โดยการเจริญให้มาก กระทำให้มาก มีความรู้ความสามารถทวนกระแสจิตเข้าถึงซึ่งฐิติภูตังและเจริญต่อไปจนเป็นการพอ โดยการอบรมเป็นอินทรีย์บังเกิดความรู้แจ่มแจ้ง ตัดความสงสัยแล้วโดยสิ้นเชิง และได้ออกอุทานต่อหน้าพระอาจารย์มั่น ว่า “เราหายสงสัยแล้ว เราจะไม่มาเกิดอีกแล้ว” จึงนับว่าเป็นที่พอใจของท่านอาจารย์มั่นเป็นอย่างยิ่ง แล้วท่านอาจารย์มั่นก็ได้บอกแก่โยมมารดาของท่านว่า “บัดนี้อาตมภาพได้ทดแทนบุญคุณโยมหมดแล้ว เป็นการทดแทนที่ได้สิ้นสุดลงเป็นการสุดท้าย” จากนั้นท่านอาจารย์ได้พยากรณ์มารดาของท่านกับพระบางองค์ว่า “มารดาของท่านได้เป็นอริยบุคคลชั้นที่ 3”
(ตามคำบอกเล่าของท่านอาจารย์กงมาจิรปุญฺโญ) หลังจากนั้นเมื่อสังขารของโยมแก่หง่อมแล้ว ความชราเข้าครอบงำ ลูกหลานขอให้รับประทานอาหารในตอนเย็นก็ไม่ยอม โยมมารดาของท่านพูดว่า “เราต้องมีศีล 8 เป็นวิรัติตลอดชีวิตของเรา” เมื่อถึงกาลที่โยมมารดาของท่านสิ้นชีวิต ท่านก็ได้บอกถึงวัน เดือน ปี เวลาบ่าย 3 โมงเย็น ว่าจะถึงแก่กรรมเมื่อถึงกาลนั้น ก็ได้ถึงแก่กรรมตามที่พูดไว้ด้วยความสงบจริงๆ ในตอนสุดท้ายเมื่อท่านอาจารย์มั่นได้ทราบวันเวลาแล้ว ท่านก็ได้ไปทำฌาปนกิจมารดาของท่านด้วยตัวท่านเอง

ส่วนท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ซึ่งได้พำนักอยู่ที่วัดสุทัศนาราม ในเมืองอุบลราชธานี ได้ออกจากเป็นครูแล้ว เพราะผลแห่งการปฏิบัติธรรมที่ได้รับการแนะนำจากท่านอาจารย์มั่น ซึ่งปรากฏว่าได้รับผลเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่งในระหว่างเดือนเดียวกันนั้น พระปิ่น ปญฺญาพโล ผู้เป็นน้องชายของท่าน ก็พลอยได้ไปศึกษาด้วย และได้เกิดความเลื่อมใสในอุบายทางด้านการปฏิบัติพอสมควร ท่านอาจารย์สิงห์ได้ตกลงใจอย่างแน่วแน่ ในการเปลี่ยนจากพระปริยัติเป็นพระธุดงค์ เพื่อติดตามท่านอาจารย์มั่นต่อ ส่วนพระปิ่นผู้เป็นน้องชายขอลาไปศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ โดยปฏิญาณว่าจะขอศึกษาสัก 5-6 ปี แล้วจึงจะลาออกปฏิบัติตามภายหลัง เมื่อท่านพักศึกษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯ ครบกำหนด 5 ปี และสอบได้เปรียญ 5 ประโยคแล้ว ก็ได้ออกไปปฏิบัติตามคำปฏิญาณของท่านจริงๆ โดยติดตามท่านอาจารย์ไปทุกหนทุกแห่ง ตามป่าเขาอันเป็นสถานที่วิเวก

ในสมัยนั้นพระเปรียญที่ออกเที่ยววิเวกธุดงค์กัมมัฏฐานท่านนับว่าเป็นองค์แรก ซึ่งแต่กาลก่อนนานมาแล้ว ไม่เคยมีปรากฏเลย นับเป็นศุภนิมิตที่ดีอย่างยิ่ง เมื่อท่านมีอายุ 30 ปี พรรษาที่ 8 ในคราวเดียวกันกับที่ท่านออกธุดงค์ในคราวนั้นมีพระที่ออกธุดงค์ไปเพื่อจะศึกษากับท่านอาจารย์มั่นด้วยกัน 3 รูปเท่านั้น คือ 1.พระอาจารย์คำพวย 2.พระอาจารย์เทสก์ เทสรงฺสี 3.พระอาจารย์ทอน บ้านหัววัว อ.ลุมพุก จ.อุบลฯ (ติดตามตอนที่ 21 ตอนไปจำพรรษากับพระอาจารย์เสาร์…ฉบับหน้า)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image