ภาพเก่าเล่าตำนาน : เริ่มแรก..แขกซิกข์ในสยาม โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

ผู้เขียนจะขอใช้คำเรียกชนชาติกลุ่มหนึ่งว่า “แขก” ยืนยันว่ามิได้เป็นการเหยียดเชื้อชาติ ศาสนา หรืออาจหาญไปแบ่งกลุ่ม แบ่งพวกแต่ประการใด คนไทยเรียกชนชาติที่มาจาก อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ
และกลุ่มอาหรับว่า แขก มาตั้งแต่สมัยอยุธยา เป็นทำนองเดียวกับการเรียกชาวตะวันตกว่า ฝรั่ง….

ภาพเก่า..เล่าตำนาน ตอนนี้ขอย้อนอดีตไปหาเส้นทาง ร่องรอย การเข้าสู่ประเทศไทย แล้วผสมกลมกลืนเป็นพลเมืองไทย มีธุรกิจใหญ่โตโอ่อ่ากันมากหลาย ของชนชาติที่เรียกว่า แขกซิกข์ (Sikh)

ประมาณปี พ.ศ.2428 ตรงกับช่วงกลางรัชสมัยแผ่นดินในหลวง ร.5 นายกิรปาราม มะดาน (Kirparam Madan) เป็นพ่อค้าชาวอินเดียหนึ่งในกลุ่มชาวซิกข์กลุ่มแรกที่เดินทางมาถึงสยาม เพื่อจำหน่ายม้าพันธุ์ดีใช้ในราชการ

ในเวลาต่อมา…นายมะดาน มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ จึงได้น้อมเกล้าฯ ถวายอาชาฝีเท้าดีแด่ในหลวง ร.5 ….

Advertisement

การติดต่อค้าขายราบรื่น พ่อค้าม้าและกลุ่มที่มาจากอินเดีย 36 คน สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ บังเกิดความสงบสุขและอบอุ่นใจ ปลอดภัย จึงขออาศัยอยู่ในพระบรมโพธิสมภารฯ

นายกิระปาราม และคณะล้วนมาจากหมู่บ้าน พเทวาล (Bhadewal) ในเขต Sialkot ประเทศปากีสถานในปัจจุบัน (ประเทศปากีสถานกำเนิดจากการแบ่งแยกดินแดนออกมาจากอินเดียด้วยเหตุผลทางศาสนา) เดินทางมายังสยามพร้อมกับญาติพี่น้องตระกูลมะดาน คือ นารุลา และเชาวลา “ตระกูลมะดาน” ถือเป็นชาวอินเดียโพ้นทะเลกลุ่มแรกๆ ในประเทศไทย

เมื่อพบกับสยาม…ดินแดนแห่งความสงบสุข มีลู่ทางทำมาค้าขายได้ จึงส่งข่าวไปยังญาติพี่น้องในอินเดียที่กำลังลำบากยากแค้น ประสบปัญหาการเมือง การปกครอง ถูกกีดกัน ร้าวฉานเรื่องการแบ่งแยกศาสนาให้อพยพ มาย้ายตั้งถิ่นฐานในสยามประเทศ

Advertisement

ในปี พ.ศ.2454 เริ่มมีครอบครัวชาวซิกข์มาตั้งรกรากในสยามมากขึ้นโดยมีเมืองบางกอกเป็นศูนย์รวม

ชาวซิกข์ที่มาตั้งรกรากในพระนครเริ่มมากขึ้น แต่ยังไม่มีศาสนสถาน (คุรุทวารา) ในสยาม การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจึงหมุนเวียนไปตามบ้านของศาสนิกชนในเครือข่าย ทุกๆ วันอาทิตย์และวันคุระปุรับ (Gurpurab)

คุรุทวารา ซึ่งเป็นศาสนสถานแห่งแรกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2455 เป็นอาคารไม้ทั้งหลังในย่านบ้านหม้อ

พ.ศ.2456 ย้ายไปยังอาคารไม้หลังใหญ่กว่าเดิมที่เช่าในระยะยาวบนหัวมุมพาหุรัด ถนนจักรเพชร หลังตกแต่งและปรับปรุงจนพร้อมแล้วก็ได้อัญเชิญ คุรุกรันถสาหิบ มาประดิษฐาน

อาคารได้รับการต่อเติมและขยายใหญ่ในปี พ.ศ.2522 วางศิลาฤกษ์โดยปัญจเปียร์ (Panj Piare: บุคคลอันเป็นที่รักยิ่งทั้งห้า) และสร้างเสร็จในปี 2524

ชาวภารตะกลุ่มใหญ่ในสยาม มั่นใจในชีวิตใหม่ ปลอดภัย ทำมาหากินได้ ไม่กีดกันในแผ่นดินสยาม จึงส่งตัวแทนเดินทางกลับไปรัฐปัญจาบ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย และไปชักชวนญาติมิตร เพื่อนพ้อง เพื่อมาตั้งรกรากในสยามเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ชาวซิกข์เริ่มทยอยเดินทางตามคำชักชวนเข้ามาในสยาม

สยามเองก็มองว่า “คนคือทรัพยากร” ที่จะทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมือง เพราะที่ผ่านมา ชาวจีน ชาวมอญ เขมร ลาว ญวน แขกมลายูทางใต้ ก็ผสมผสาน กลมกลืน อยู่ร่วมกันกันได้…

เอกลักษณ์เด่น ที่ทำให้รู้ว่าบุคคลผู้นี้คือ ชาวซิกข์ก็คือผ้าโพกศีรษะของสุภาพบุรุษ

ชาวซิกข์ หรือแขกโพกผ้า นับถือศาสนาซิกข์ มิใช่ฮินดู มิใช่มุสลิม

ศาสนาซิกข์ ถือเป็นศาสนาที่ถือกำเนิดใหม่ คือเมื่อราวๆ 500 กว่าปีมานี้เอง ไม่ถือบุคคลใดเป็นศาสดา เขาจะเรียกศาสดาเขาว่าคุรุ (Guru) หมายถึงครู ตรงกับภาษาบาลีว่า สิกขา และสันสกฤตว่า ศึกษา อันแปลว่าการ “เรียนรู้” นั่นเอง แหล่งกำเนิดอยู่ที่รัฐปัญจาบประเทศอินเดีย

ชาวซิกข์ ไม่นับถือรูปใดๆ ทั้งสิ้น และพระมหาคัมภีร์ถือเป็นศาสดาสูงสุดในปัจจุบันของพวกเขา ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไร

ศาสนาซิกข์ เป็นการนำคำสอนที่ดีในศาสนาฮินดูและอิสลามมารวมกัน เพราะมีความขัดแย้งกันระหว่าง 2 ศาสนากันอยู่บ่อยครั้งจนสมัยนี้ก็ยังไม่หมดไป ดูได้จากการแยกประเทศของอินเดียและปากีสถาน

ชาวซิกข์ต้องใส่ผ้าโพกศีรษะก็เพราะ ชาวซิกข์จะไม่มีวันตัดหรือโกนผมโดยเด็ดขาดตามหลักการของศาสนา เพราะฉะนั้นจึงต้องขมวดผมใส่ไว้ใต้ผ้าโพก ส่วนสุภาพสตรีก็ยึดถือหลักเดียวกัน โดยทั้งสองเพศจะต้องบำรุงรักษาเส้นผม หนวดเคราให้สะอาดสมบูรณ์อยู่เสมอ

ถ้าสาวคนไหนมีปื้นแดงบริเวณหน้าผากใกล้ๆ กับไรผม ยาวเลยขึ้นไปในเส้นผมประมาณ 1-2 นิ้ว นั่นก็แปลว่าผู้หญิงคนนั้นมีคู่แล้ว ส่วนเจ้าติกะ (Tika) ติลก (Tilak) หรือบินดี้ (Bindi) ซึ่งมีลักษณะเป็นจุดกลมๆ กลางหน้าผาก นั้นเป็น จุดคนละประเภท กับแถบสีแดงบนใบหน้าของหญิงที่แต่งงานแล้ว

โดยทั่วไป ติกะ จะเป็นสีแดงและแต้มได้ทั้งหญิงและชาย สีแดงที่ใช้มีความหมาย คือ เลือด ที่สื่อถึงขุมพลังและจุดกำเนิดของชีวิต

ตำแหน่งกลางหน้าผากหรือ ตาที่ 3 คือแหล่งกำเนิดปัญญา ถือเป็นขุมแห่งสมาธิญาณหยั่งรู้และความรู้ เปรียบเสมือนกำลัง

ติกะ มีความหมายกึ่งศาสนา ส่วนใหญ่ใช้ในงานมงคล เช่น ชาวอินเดียจะต้อนรับแขกต่างบ้านต่างเมืองด้วยพวงมาลัยและติกะ, พ่อส่งมอบเจ้าสาว, พระทำพิธีทางศาสนา, การอวยพรจากเพื่อน ล้วนใช้เครื่องหมาย ติกะ ทั้งสิ้น

ส่วนพวก แขกขายถั่ว ที่เราพบเห็น …ส่วนมากมาจากภาคกลางของอินเดีย แถวนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดี มีคนจนเยอะ ไม่มีทุนรอน เลยต้องขายอะไรที่มันไม่ต้องใช้ทุนมาก

ถั่ว ราคาถูก ทุนเริ่มต้นน้อย ค่อยๆ เก็บไป จนพอมีเงิน ก็อาจไปขายอย่างอื่น หรืออาจขายถั่วยาวไปเลย

แขกขายผ้า – ส่วนมากมาจากรัฐปัญจาบ จะนับถือซิกข์ ทางภาคเหนืออินเดียเศรษฐกิจดี เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของอินเดีย

พื้นฐานชาวปัญจาบ เป็นคนขยัน สู้ชีวิต แถมหัวการค้าด้วย มีทุนทำกินมากหน่อย ก็อาจเล็งเห็นว่าขายผ้าน่าจะได้กำไรดี เลยเลือกจะขายผ้า และมาขายผ้าต่อตามความถนัดในสยาม

ชาวซิกข์ ถนัดการค้าขายและต้องเป็นนายจ้าง เน้นการสร้างฐานะ แทบไม่มีแขกซิกข์เป็นลูกจ้างใคร นอกจากนั้น จะมีกฎเกณฑ์การใช้ชีวิตที่เข้มงวด ที่ต้องปฏิบัติ เช่น สวมกำไลเหล็ก เพื่อเตือนตัวเองว่า อย่ายื่นมือออกไปทำอะไรผิดศีลธรรม

ส่วน “แขกขายโรตี” ส่วนมากเป็นมุสลิม หรือมาจากเนปาล

สำหรับชาวซิกข์ ผู้ชายจะลงท้ายนามสกุลด้วยคำว่า สิงห์ หรือ ซิงห์ (Singh) ที่แปลว่าสิงโต

ผู้หญิงจะลงท้ายด้วยคำว่า กอร์ (Kaur) ที่แปลว่า ความกล้าหาญ

ถนนพาหุรัด แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร เป็นแหล่งซื้อขายผ้า และแหล่งที่อยู่อาศัยของชาวอินเดียจำนวนมาก อันมีประวัติสืบเนื่องมายาวนานเป็นร้อยปีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

หลายคนผ่านไปผ่านมาแถวนั้นบ่อยครั้ง คงเคยเห็นซุ้มประตูสีขาวด้านบนเป็นโดมรูปดอกบัวตูมสีทองบ้าง นั่นแหละเป็นวัดของชาวซิกข์ อันมีชื่อสละสลวยสวยงามว่า คุรุทวาราศรีคุรุสิงห์สภา เรียกสั้นๆ ว่าวัดซิกข์

ศาสนาซิกข์ เป็นศาสนาที่มีคนนับถือ ไม่เกิน 50 ล้านคนทั่วโลก ซิกข์ ศาสนาซิกข์ไม่เน้นการเผยแพร่ศาสนา

ข้อมูลในพระราชหัตถเลขาของในหลวง ร.5 ในคราวเสด็จประพาสรอบแหลมมลายู พ.ศ.2432 บันทึกว่า “เป็นซิกข์ทั้งนั้น รายล้อมรอบด้าน ร่างกายบึกบึนกำยำแข่งแกร่” นั่นเป็นบันทึกครั้งแรกของสยามที่มีการกล่าวถึงชาวซิกข์

ในขณะนั้น อังกฤษเกณฑ์นักรบชาวซิกข์ มาดูแล รักษาความสงบในมาเลเซียซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในยุคนั้น

ในหลวง ร.5 ทรงเห็นว่า ชาวซิกข์ มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และมีร่างกายแข็งแรง ต่อมาล้นเกล้า ร.5 ทรงให้ชาวซิกข์มาอยู่ดูแลย่านเยาวราช เรียกว่า พลตระเวร …ต่อมาพัฒนาเป็น ตำรวจ

ผู้เขียนเองก็เพิ่งรู้จักชาวซิกข์ เมื่อได้เรียบเรียงบทความนี้

ปรัชญา ความเชื่อของชาวซิกข์ ตอนหนึ่งระบุว่า… “หากท้องร้องดังลั่น จะใฝ่ธรรมได้อย่างไร”

ในศาสนสถานของชาวซิกข์ จะมีครัว เลี้ยงดูทั่วทุกคน ทำอาหารแจกจ่ายแก่ ศาสนิกชนเพื่อรับประทาน โดยทำเป็นอาหารมังสวิรัติ เพื่อรองรับทุกศาสนา แต่ละวันจะมีทั้งชาวมุสลิม ชาวพุทธ มากมายมารับประทานที่วัดนี้ โดยไม่ได้เก็บเงิน

ชนชาติไหนเข้ามาอยู่เมืองไทยได้ก็รวยกันหมด แขกซิกข์รวยเพราะรวมกลุ่มกัน ช่วยเหลือกัน คนที่รวย ช่วยคนที่จนให้ตั้งตัวได้

อดทนขยันทำงานหนัก ขยันไม่แพ้คนจีน ประหยัด กล้าคิดกล้าทำ

ที่สำคัญคือ พูดภาษาอังกฤษได้ ใจกว้างสนับสนุนคนอื่นให้ได้ดี

มีชาวซิกข์ประมาณ 22 ล้านคนในอินเดีย และอันดับ 2 รองลงมาคือ ในแคนาดามีประมาณ 5 แสนคนใน บิตริชโคลัมเบีย และอันดับ 3 คือในอังกฤษประมาณ 3.5 แสนคน ในอเมริการาว 2.5 แสนคน และในไทยราว 7 หมื่นคน (ข้อมูลจาก Countries With The Largest Sikh Populations)

วิถีชาวซิกข์ เป็นวิถีแห่งความเท่าเทียม ไม่มีการแบ่งชนชั้น วรรณะ เพศ หรือศาสนา มีการแบ่งปันรายได้ เพื่อสังคม มิใช่แค่เพื่อศาสนาซิกข์เพียงอย่างเดียว ซิกข์เป็นวิถีที่เน้นให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีพระวจนะได้กล่าวไว้ว่า….

“หากท้องฟ้ามีดวงจันทร์นับพัน มีสุริยันนับหมื่น แต่ดวงใจที่ไร้ซึ่งสัจธรรม คงมืดมิดดุจ นิรัตติกาล” …

ข้อมูลบางส่วนจาก มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 มิถุนายน – 6 กรกฎาคม 2560 คอลัมน์ ผู้เขียน ธรรมารยะ Dharmaraya

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image