รมช.พณ. ดัน 4 ธุรกิจตามกระแสนิยม สร้างมูลค่าเพิ่ม

นายวีระศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งติดอาวุธด้านการบริหารจัดการธุรกิจแก่ผู้ประกอบการบริการรายย่อยของไทย 4 ธุรกิจ ได้แก่ 1. ร้านอาหาร 2.ดูแลผู้สูงอายุ 3. บริหารทรัพย์สิน และ 4.ร้านเสริมสวย ให้สามารถก้าวไปข้างหน้าด้วยความมั่นคงแข็งแกร่ง โดยเน้นการให้ความรู้เชิงลึกแบบครบทุกมิติ ทั้งการตลาด การบริหารจัดการธุรกิจ การเงินและบัญชี วิธีการจัดการต้นทุนไม่ให้บานปลาย การขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึง กลยุทธ์/เทคนิคการบริการที่ดีเยี่ยมเพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจสูงสุด และพร้อมที่จะกลับมาใช้บริการซ้ำ รวมทั้ง การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจบริการเพื่อให้เกิดการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และมีโอกาสที่จะพัฒนาเป็นพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกันในอนาคต

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า จุดอ่อนสำคัญของธุรกิจบริการไทย คือ การบริหารจัดการธุรกิจที่ไม่เป็นระบบ ขาดองค์ความรู้ที่จำเป็นในการบริหารธุรกิจ เช่น การคำนวณต้นทุน การตลาด การบริหารงานบุคคล การเงินและบัญชี ระบบภาษี ความรู้ด้านกฎหมาย การนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจ รวมทั้ง ต้องเผชิญกับภาวการณ์แข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การเพิ่มพูนองค์ความรู้เชิงลึกแบบครบทุกมิติของธุรกิจบริการจะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจ/เข้าถึงแก่นแท้ของธุรกิจมากขึ้นและมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างสมเหตุผล ซึ่งจะส่งผลต่อความเข้มแข็งของธุรกิจในระยะยาว และผลประกอบการที่เป็นกำไรในอนาคต พร้อมที่จะขยายและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง รวมทั้ง ส่งผลต่อการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และมีความเชื่อมโยงกับธุรกิจต่อเนื่องที่หลากหลาย

นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า 4 ธุรกิจบริการเป้าหมาย เกี่ยวข้องกับสาธารณชนจำนวนมาก เป็นธุรกิจที่กำลังเข้ากระแสนิยม และมีผู้ประกอบการรายย่อยสนใจเข้ามาประกอบธุรกิจจำนวนมาก เช่น ธุรกิจเสริมสวย ถือเป็นธุรกิจฐานรากที่มีในทุกชุมชน เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ทุกกลุ่ม สามารถประกอบธุรกิจได้ง่าย มีตั้งแต่ขนาดเล็ก-ขนาดใหญ่ หรือ ธุรกิจบริหารทรัพย์สิน ที่พฤติกรรมการดำเนินชีวิตและไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่นิยมพักอาศัยคอนโดมิเนียม / อาคารชุดเพิ่มขึ้น รวมทั้ง ปัจจุบันมีการสร้างคอนโดมิเนียม / อาคารชุดมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการดังกล่าวมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้น การบริหารจัดการนิติบุคคลส่วนกลางที่เป็นระบบและมีมาตรฐานจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก

ปัจจุบัน 4 ธุรกิจบริการเป้าหมายที่เป็นนิติบุคคล มี 18,102 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 126,808.93 ล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจร้านอาหาร 15,263 ราย ทุนจดทะเบียน 102,189.24 ล้านบาท ธุรกิจบริหารทรัพย์สิน 2,177 ราย ทุนจดทะเบียน 21,732.43 ล้านบาท ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ 357 ราย ทุนจดทะเบียน 2,195.51 ล้านบาท และธุรกิจเสริมสวย 305 ราย ทุนจดทะเบียน 691.75 ล้านบาท
ส่วนข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุว่าปี 2561 จีดีพี ภาคบริการของไทยมีมูลค่ากว่า 7.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.5 ของจีดีพีทั้งประเทศ มีจำนวนธุรกิจบริการ 1.2 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนธุรกิจไทยทั้งหมด โดยมีการจ้างงานในภาคบริการ จำนวน 6.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 45 ของการจ้างงานทั้งประเทศ และมีมูลค่าการส่งออกบริการจำนวน 75,354 ล้านดอลลาห์สหรัฐ โดยภายในระยะเวลา 6 ปี ที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 12

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image