ตลท.จับมือ 5 มหา’ลัยดัง ต่อยอดหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคม

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ภาพรวมในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรวมต่อวัน ลดลง 1.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนลง เพื่อรอดูท่าทีความขัดแย้งในประเทศต่างๆ ว่าจะอยู่ในทิศทางใด ทำให้นักลงทุนที่จะเลือกลงทุนในขณะนี้ ควรต้องพิจารณาความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้นๆ เนื่องจากแต่ละบริษัทฯในตลาดหลักทรัพย์มีการประกอบธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป จึงทำให้ผลประกอบการแต่ละบริษัทฯ ลดหลั่นกันไปตามความสามารถในการทำกำไร ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศไทย ช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา ถือว่ายังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยการบริโภคในประเทศยังคงที่ แต่ภาคการส่งออกและภาคท่องเที่ยว เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น หลังจากหดตัวอย่างหนักตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่มองว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ประสบปัญหาดังกล่าว หากแต่ทุกประเทศที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาต่างประสบปัญหาดังกล่าวเช่นเดียวกัน

“ตลาดหุ้นไทยยังมีการซื้อขายที่คล่องตัวสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังมีหุ้นใหม่ทุกขนาดเข้าระดมทุน (ไอพีโอ) ในตลาดหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยแล้วมีการระดมทุนกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีเกาะป้องกันปัจจัยลบที่จะเข้ามาท้าทายได้มากกว่าตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน โดยการลงทุนในช่วงนี้ นักลงทุนต้องเลือกลงทุนในกลุ่มหุ้นที่ไม่กระทบกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เช่น หุ้นกลุ่มอาหาร โรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลความเป็นอยู่ด้านสุขภาพ (เฮลท์แคร์) ซึ่งหุ้นกลุ่มดังกล่าว จัดเป็นหุ้นที่มีจุดแข็งในประเทศไทยมาโดยตลอด ขณะเดียวกันก็อาจมองการกระจายความเสี่ยงมากขึ้น ด้วยการลงทุนในกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะได้รับปัจจัยบวกจากการลงทุนของภาครัฐควบคู่กันด้วย”นายภากรกล่าว

นายภากร กล่าวว่า นอกจากนี้ ตลท.ยังต่อยอดหลักสูตรเอสอี 101 สู่มหาวิทยาลัย ผ่านโครงการ “SET Social Impact SE101@University” แพลตฟอร์มเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการทางสังคม ขับเคลื่อนความยั่งยืนด้วยพลังของภาคการศึกษา และภาคสังคมในทุกภูมิภาค ขยายความรู้และแรงบันดาลใจในการทำธุรกิจเพื่อสังคม สอดรับนโยบายภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการสร้างคุณค่าร่วมกับธุรกิจเพื่อสังคม นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายภากร กล่าวว่า ในปี 2562 ได้ร่วมมือกับ 5 มหาวิทยาลัยนำร่อง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,  มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 6 วิทยาเขตคือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ตาก พิษณุโลก กาฬสินธุ์ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยเริ่มเปิดสอนหลักสูตรเอสอี 101 ระยะสั้น ระหว่างเดือน สิงหาคม-พฤศจิกายน 2562 ให้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ ยังสามารถเปิดรับสถาบันการศึกษาอื่นๆ เพื่อขยายผลโครงการได้อีกในอนาคต โดยจะเห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการในวันนี้ มีทั้งจากจังหวัดกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งมั่น ใจว่ายังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนมาก ที่ต้องการความรู้ เพื่อการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image