พณ.เสนอ ครม.ไฟเขียว พ.ย.นี้ ฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมอยู่ระหว่างการเดินหน้าหาข้อสรุปการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งตามกำหนดการจะทำการรวบรวมผลการศึกษา ผลการรับฟังความคิดเห็น เพื่อเสนอระดับนโยบายพิจารณาตัดสินใจเรื่องการฟื้นการเจรจาได้ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งตามขั้นตอน จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พิจารณาก่อน จากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) พิจารณา ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบต่อไป

“การตัดสินใจเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู เป็นไปตามที่ ครม.เศรษฐกิจได้มีมติให้เร่งดำเนินการเสนอ ครม.ให้ได้ภายในปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่สหภาพยุโรปได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการยุโรปชุดใหม่ที่จะสามารถตัดสินใจหรือมีนโยบายเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอกับไทย ถือเป็นเวลาที่ตรงกันพอดี และหากทั้ง 2 ฝ่ายมีข้อสรุปได้แล้ว การเจรจาน่าจะเริ่มต้นได้ปีหน้า ใช้เวลาเจรจาอย่างน้อย 1 ปี และจากนั้น จะเป็นเรื่องการดำเนินการภายในของไทยและอียู คาดว่าประมาณ 1 ปีเช่นเดียวกัน จากนั้นถึงจะมีผลบังคับใช้” นางอรมนกล่าว

นางอรมนกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการเตรียมการฟื้นการเจรจาในปัจจุบัน ล่าสุดกรมฯได้ให้สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ทำการศึกษาวิจัยประโยชน์และผลกระทบที่ไทยจะได้รับจากการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูแล้ว โดยให้ศึกษาเปรียบเทียบความตกลงเอฟทีเอที่อียูได้ทำกับประเทศต่างๆ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ และกลุ่มเมร์โกซูร์ ประกอบด้วยบราซิล อาร์เจนตินา ปารากวัย และอุรุกวัย ว่า หากไทยไม่เร่งฟื้นการเจรจาจะเสียประโยชน์หรือโอกาสที่ควรจะได้รับหรือไม่ หากเข้าร่วมจะได้ประโยชน์อะไร และต้องปรับตัวอย่างไร ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2562

นางอรมนกล่าวว่า เบื้องต้น พบว่า หากไทยไม่เร่งเจรจา จะยิ่งทำให้ไทยเสียโอกาส เพราะสินค้าของเวียดนาและสิงคโปร์ ใกล้เคียงกับไทยมาก โดยภายใต้เอฟทีเอที่อียูทำกับเวียดนาม อียูจะลดภาษีให้เวียดนาม 99% ภายใน 7 ปี และจะลดทันที 71% เมื่อความตกลงมีผลบังคับใช้ ส่วนเวียดนามจะลดภาษีให้อียู 99% ภายใน 10 ปี และลดทันที 65% ขณะที่เอฟทีเอสิงคโปร์-อียู อียูจะลดภาษีให้สิงคโปร์ทันที 84% และสิงคโปร์จะลดภาษีให้อียู 80% ขณะเดียวกัน กำลังอยู่ระหว่างการเดินสายรับฟังความคิดเห็น ซึ่งกำหนดไปยังภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี วันที่ 10 ต.ค.2562, ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 22 ตุลาคม 2562, ภาคใต้ จังหวัดสงขลา วันที่ 28 ตุลาคม 2562 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 และอาจจะปิดท้ายที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง

Advertisement

นางอรมนกล่าวว่า ส่วนผลการรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการให้มีการฟื้นการเจรจา เพราะเป็นโอกาสในการขยายตลาดให้กับสินค้าไทย หากไม่ทำจะเสียโอกาสการเป็นฐานการผลิต การค้า และการลงทุนในภูมิภาค แต่มีผู้ประกอบการบางส่วน และภาคประชาสังคม ที่กังวลเรื่องการเปิดตลาด การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ระบบสุขภาพ ทรัพย์สินทางปัญญา และสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรมฯ ได้ยืนยันไปแล้วว่าจะดำเนินการเจรจาด้วยความระมัดระวัง และจะมีกลไกเพื่อรองรับการปรับตัว เช่น การจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยได้มีการหารือกับกระทรวงการคลังแล้ว และกำลังรวบรวมกองทุนช่วยเหลือที่มีอยู่มีอะไรบ้าง ใช้ยังไง เพื่อเปรียบเทียบ ก่อนที่จะเสนอระดับนโยบายพิจารณา

ทั้งนี้ อียูถือเป็นตลาดใหญ่ ครอบคลุม 28 ประเทศในทวีปยุโรป มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 และนักลงทุนอันดับ 4 ของไทย โดยในปี 2561 การค้าไทย-อียู มีมูลค่า 47,322 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.4 ของการค้าไทยกับโลก ขยายตัวร้อยละ 6.5 จากปี 2560 โดยไทยส่งออกไปอียู 25,041 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 และนำเข้าจากอียู 22,281 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอียู เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากอียู เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น สำหรับการลงทุนไทยในอียูมีแนวโน้มสูงขึ้นในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2561 คิดเป็น 11,339 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าการลงทุนจากอียูเข้ามาในไทย ซึ่งอยู่ที่ 7,065 ล้านเหรียญสหรัฐ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image