อุทยานฯ แจงชุดผลักดันช้างไม่ใช่ชุดไล่ เผย ลูกช้างอยากรู้อยากเห็น ช้างพี่เลี้ยงติดตามจึงพลัดตกตามกันลงไป

อุทยานฯ แจงชุดผลักดันช้างไม่ใช่ชุดไล่ เผย ลูกช้างอยากรู้อยากเห็น ช้างพี่เลี้ยงติดตามจึงพลัดตกตามกันลงไป

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม นายทรงธรรม สุขสว่าง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะรักษาการผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการประชุมเพื่อประเมินของเจ้าหน้าที่ในการเก็บกู้ซากช้างป่า ซึ่งคาดว่าน่าจะมีความยากลำบากเนื่องจากบริเวณที่ซากช้างป่าอยู่เป็นพื้นที่เข้าถึงได้ยาก และด้วยกระแสน้ำที่มีความเชี่ยวกรากเนื่องจากฝนที่อาจตกลงมาเพิ่ม จึงจำเป็นต้องกางตาข่ายดักซากบริเวณคลองต้นไทร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงได้ใกล้ที่สุด เพื่อรอให้ซากช้างลอยมาตามกระแสน้ำ ซึ่งช้างบางตัวมีโอกาสที่จะอืดและแตกออกก่อนที่จะลอยมาถึงจุดตาข่าย ซึ่งช้างแต่ละตัวมีน้ำหนักประมาณ 3,000 กก. อย่างไรก็ตามหลังจากพบช้างตายเพิ่มอีก 5 ซาก รวมเป็น 11 ซาก จึงต้องมาประเมินแผนอีกครั้งว่าจะติดตั้งตาข่ายเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไรบ้าง เพราะระยะทางจุดที่เจอซากช้างแต่ละจุดนั้นเข้าถึงได้ยากลำบาก

นายทรงธรรม กล่าวอีกว่า กรณีที่สามารถลากช้างที่ติดตาข่ายขึ้นมาบนพื้นดินได้แล้ว จะใช้วิธีตัดแต่งซากให้เป็นชิ้นส่วนใหญ่หรือชิ้นส่วนย่อย เพื่อให้เกิดความสะดวกในการฝังซาก โดยจะใช้ชุดตัดย่อยซากสัตว์ซึ่งมีลวดสลิงเป็นอุปกรณ์หลักในการตัดย่อยโดยใช้เจ้าหน้าที่ดึงลวดสลิงให้ตึงในส่วนที่จะตัดย่อยซากสัตว์ และใช้ในลักษณะทีเหมือนเลื่อยจะทำให้สามารถแบ่งซากสัตว์เป็นสองชิ้นได้ ทั้งนี้อุปกรณ์ยังสามารถตัดผ่านกระดูกได้และสะดวกต่อการพกพาของเจ้าหน้าที่ในการเข้าไปปฏิบัติภารกิจย่อยซากเพื่อฝังทำลายซากให้เป็นไปตามหลักวิชาการต่อไป มาตรการเร่งด่วนขณะนี้คือการวางแผนจัดการซากช้างป่าโดยใช้เวลา 8-10 วัน ซึ่งระยะเวลาในการเก็บกู้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ สภาพพื้นที่ จำนวนเจ้าหน้าที่ และเวลาที่จะเก็บซากขึ้นมาบนพื้นดิน ซึ่งช่วงเวลายังประมาณการไม่ได้เพราะมีบางซากที่ติดอยู่ในวังน้ำวน คาดว่าการเก็บกู้ซากให้แล้วเสร็จจะใช้เวลา 1 เดือน ซึ่งการเก็บกู้ซากช้างเพราะเป็นห่วงในเรื่องมลพิษที่จะเกิดขึ้น และเพื่อความสบายใจของพี่น้องประชาชนที่อยู่ท้ายน้ำ

Advertisement

ผู้ทรงคุณวุฒิฯ กล่าวต่อว่า ส่วนมาตราการในการป้องกันไม่ให้ช้างป่าตกลงไปในน้ำตกเหวนรกอีก จากการศึกษาสาเหตุการตายของโขลงช้างในครั้งนี้ คาดการณ์เบื้องต้นว่าพฤติกรรมของลูกช้างมีความอยากรู้อยากเห็น ทำให้อาจอยู่ห่างจากโขลงในบางครั้ง อาจเป็นเหตุให้ผละจากโขลง ประกอบการสภาพพื้นที่เป็นที่ลาดชันสูงไม่คุ้นเคยทำให้ผลัดตก ช้างพี่เลี้ยงติดตามจึงพลัดตกตามกันลงไป ช้างที่มีชีวิตรอดอีก 2 ตัว จึงเดินอ้อมไปใช้อีกเส้นทางหนึ่ง เพราะพบร่องรอยหลังรั้วกั้นช้าง เข้าไปช่วยด้านล่างน้ำตกชั้น 1 ชั้นล่าง หรืออาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาหาสาเหตที่ช้างตกลงไปที่แท้จริง อย่างไรก็ตามเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางหากินประจำของช้างอยู่แล้ว เพราะป่าตามแนวน้ำตกเหวนรกไปถึงขุนด่านปราการชลมีต้นเต่าร้างที่ช้างชอบกินขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นอาจจะมีการจัดทำโป่ง และแหล่งอาหารช้างในบริเวณใกล้เคียงเพื่อดึงดูความสนใจช้างออกจากเส้นทางดังกล่าว

นายทรงธรรม กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ต้องมีการเก็บสถิติข้อมูลและศึกษาพฤติกรรมของช้างป่าที่น้ำตกเหวนรกเพิ่มในรายละเอียดของช้างป่าทั้งรายฝูงและรายตัวเพื่อวางแผนการจัดการช้างป่าในระยะยาว มีการศึกษาประสิทธิภาพของรั้วกั้นช้างที่ติดตั้งอยู่ในปัจจุบันที่สร้างมาตั้งแต่ปี 2535-2536 เพื่อพัฒนาปรับปรุงออกแบบรั้วกั้นและอุปกรณ์อื่นๆ กั้นช้างในพื้นที่เสี่ยงอันตรายต่อการผลัดตก โดยในส่วนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ พระนครเหนือวิทยาเขตปราจีนบุรี เสนอให้ติดตั้งแอพลิเคชันแจ้งเตือนการเข้าใกล้รั้วของช้างในบริเวณแนวพะเนียด โดยแจ้งผ่านไลน์ของเจ้าหน้าที่เพื่อให้ทราบก่อนและกันช้างออกจากแนวเขตพะเนียดได้ทันท่วงที อย่างไรก็ตามยังติดขัดในเรื่องสัญญาณโทรศัพท์ที่ยังไม่ครอบคลุม ซึ่งต้องหาแนวทางแก้ไขต่อไป

Advertisement

ผู้ทรงคุณวุฒิฯ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนั้นจะมีการจัดตั้งสายตรวจจักรยานยนต์และสายตรวจรถยนต์ออกลาดตระเวนดูแลช่วยเหลือช้างป่าและนักท่องเที่ยวบนเส้นทางที่ช้างออกเป็นประจำ เพื่อรับแจ้งเหตุ ซึ่งที่ผ่านมาอุทยานฯ เขาใหญ่มีเจ้าหน้าที่ชุดสายตรวจช้างป่าทำหน้าที่อยู่แล้ว แต่จากนี้ไปจะมีการเพิ่มชุดดูแลช้างแต่ละโขลงที่มักออกมาปรากฎตัวด้วย พร้อมทั้งจะมีการติดตั้งกล้องดักถายอัตโนมัติ ระบบเอ็นแคปในพื้นที่เสี่ยงต่อการประสบอุบัติเหตุ เพื่อแจ้งเตือนผ่านแอพลิเคชันเมื่อช้างป่าเดินผ่านหน้ากล้องซึ่งจะส่งภาพแจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ทันที

“อย่างไรก็ตามกรณีที่เกิดขึ้นซึ่งมีการกล่าวถึงชุดผลักดันช้างป่าของกรมอุทยานฯ ซึ่งสังคมบางส่วนมีความเข้าใจผิดว่าผลักดันหมายถึงชุดไล่ช้าง จนทำให้ช้างตกใจจนไปตกน้ำตกเหวนรกนั้น ในความเป็นจริงคือเป็นชุดเฝ้าระวังหรือชุดช่วยเหลือช้างป่า ขอยืนยันว่าการทำงานของเจ้าหน้าที่ไม่ใช่การไปไล่ช้าง ช้างป่าจะไปไล่ไม่ได้ เพราะเกิดช้างโมโหขึ้นมาแล้วจะเป็นเรื่องอันตรายมาก ซึ่งการทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นการดูแล ช่วยเหลือ และเฝ้าระวังไม่ให้ช้างและนักท่องเที่ยวได้รับอันตราย ที่ผ่านมาก็ปรากฎคลิปการทำงานของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เขาใหญ่ในการดูแลให้ช้างที่ออกมาบริเวณถนนกลับเข้าป่าบ่อยครั้ง โดยเจ้าหน้าที่จะคอยเฝ้าดูในระยะที่เหมาะสม หรือบางคนก็ใช้คำพูดเกลี้ยกล่อมให้ช้างกลับเข้าไปเพราะเจ้าหน้าที่เชื่อว่าช้างเป็นสัตว์ที่พูดรู้เรื่อง ที่สำคัญคือจะกันไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าไปในบริเวณที่ช้างออกจนช้างกลับเข้าป่าไป” นายทรงธรรมกล่าว

ทั้งนี้สำหรับสถานการณ์ช้างในประเทศไทย จากการสำรวจทั่วประเทศมีช้างป่าทั้งหมดจำนวน 3,126-3,341 ตัว ส่วนมากกระจายอยู่ในกลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าแก่งกระจาน ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าตะวันออก โดยในเขตอุทยานฯ เขาใหญ่มีช้างป่าประมาณ 300 ตัว ขณะที่ช้างเลี้ยงมีจำนวน 3,783 เชือก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image