‘สนธิรัตน์’ ดันโรงไฟฟ้าชุมชนล็อตแรก 22 แห่งในปี’63 ชาวบ้านลุ้นส่วนแบ่งค่าไฟ 0.25 บ./หน่วย

‘สนธิรัตน์’ ดันโรงไฟฟ้าชุมชนล็อตแรก 22 แห่งในปี’63 ชาวบ้านลุ้นส่วนแบ่งค่าไฟ 0.25 บ./หน่วย

ที่กระทรวงพลังงาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จัดโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) มีผู้เข้าร่วมฟังจากทุกภาคส่วนกว่า 200 ราย ว่า ได้รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน คาดว่าจะสรุปแนวทางดำเนินงานชัดเจนภายใน 1 เดือน หลังจากนั้นจะประกาศนโยบายเพื่อกำหนดกรอบดำเนินการ คาดว่าระยะแรก (เฟสแรก) จะสามารถพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนได้ประมาณ 250 แห่ง ภายในปี 2565 ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และจำนวนนี้จะมีโรงไฟฟ้าชุมชนรูปแบบเร่งด่วน (ควิก วิน) หรือโรงไฟฟ้าที่เคยดำเนินการมาแล้ว แต่ยังติดปัญหา เกิดขึ้นก่อน 22 แห่งภายในปี 2563

“จากการระดมความเห็นครั้งนี้สิ่งสำคัญคือ เอกชนและภาคประชาสังคมต่างเห็นด้วยที่จะให้เกิดโครงการนี้โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ และรายได้จากการขายเชื้อเพลิงที่มาจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และพืชพลังงาน อาทิ หญ้าเนเปียร์ โดยสัดส่วนการถือหุ้นเบื้องต้นของชุมชนในโรงไฟฟ้าจะอยู่ประมาณ 10-30% และข้อเสนอหนึ่งที่ พพ.หยิบยกมาและส่วนใหญ่เห็นด้วยคือส่วนแบ่งรายได้ที่จะนำคืนสู่ชุมชนจากโรงไฟฟ้าชุมชนนั้นจะมีอย่างน้อย 0.25 บาทต่อหน่วย เรื่องนี้ต้องระดมสมองอีกครั้ง เพราะต้องสอดรับกับอัตรารับซื้อไฟฟ้ารูปแบบเอฟไอที หรือรูปแบบที่อิงต้นทุนแท้จริง ส่วนเงินลงทุนจะเสนอให้สถาบันการเงินของภาคเอกชนร่วมพัฒนา แต่ถ้าไม่จูงใจจะหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อให้สถาบันการเงินของภาครัฐร่วมดำเนินการ” นายสนธิรัตน์กล่าว

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า รูปแบบการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ พพ.นำเสนอจะมี 7 รูปแบบ ได้แก่ โรงไฟฟ้าชุมชนก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน), โรงไฟฟ้าชุมชนไฮบริดก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน)-พลังงานแสงอาทิตย์, โรงไฟฟ้าชุมชน ชีวมวล, โรงไฟฟ้าชุมชนไฮบริดชีวมวล-พลังงานแสงอาทิตย์, โรงไฟฟ้าชุมชน ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย), โรงไฟฟ้าชุมชน ไฮบริดก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย)-พลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าชุมชน พลังงานแสงอาทิตย์ โดยรูปแบบนี้เป็นเพียงข้อเสนอหรือตุ๊กตาอาจมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดได้ ขณะที่โรงไฟฟ้าขยะนั้นจะแยกออกไปดำเนินการต่างหากเพราะเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พพ.ได้นำเสนอรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชน 7 รูปแบบ เบื้องต้นและเสนอรูปแบบร่วมทุนให้วิสาหกิจชุมชนถือหุ้น 10% (หุ้นบุรินสิทธิ) ที่เหลือเป็นเอกชน 90% ดึงภาครัฐเข้ามาร่วมถือหุ้นในส่วนของเอกชนได้ด้วย ระยะเวลาสนับสนุน 20-25 ปี แต่เอฟไอทียังไม่ได้มีการระบุชัดเจนแต่เสนอให้ส่วนแบ่งรายได้คืนสู่ชุมชนอย่างน้อย 0.25 บาทต่อหน่วย โดยให้นำเข้ากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ขณะที่เชื้อเพลิงทางการเกษตรจะเป็นรูปแบบราคาประกัน ขณะเดียวกันทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. มีสินเชื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน 5,000 ล้านบาท พร้อมสนับสนุนโครงการนี้ ขณะที่ตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ระบุว่า ระยะแรกควรให้หุ้นบุรินสิทธิวิสาหกิจชุมชน 10% หลังจากดำเนินการไป 1 ปี ซึ่งมีความเสี่ยงลดลงแล้ว ให้หุ้นสามัญอีก 20% รวมเป็น 30%

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image