คลังเผย “ชิมช้อปใช้” เฟส 2 คืบหน้าแล้ว 70% หลังเฟสแรกไปได้ดี

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการหารือถึงมาตรการชิม ช้อป ใช้ ที่จะมีการเปิดเฟส 2 เพิ่มเติม หลังจากเฟสแรกได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการขอนโยบายจากรัฐบาลก่อน เนื่องจากการออกมาตรการในลักษณะดังกล่าว จะต้องมีการใช้เงิน จึงจำเป็นต้องเตรียมแผนงานให้ชัดเจนว่า จะดำเนินการต่อไปอย่างไร เพราะกระทรวงฯก็ไม่สามารถที่จะตัดสินใจเอง หรือคิดข้อเสนอมาตรการต่างๆ ออกมาแล้วจบได้ แต่ต้องให้รับบาลเป็นฝ่ายตัดสินใจ เพราะต้องของบประมาณเพื่อใช้ในมาตรการ โดยขณะนี้ถือว่ามีความคืบหน้าแล้วกว่า 70%

“ตัวเฟส 2 อยู่ในช่วงการเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในเร็วๆ นี้ โดยตัวเฟส 2 อยากเน้นการใช้เงินจากกระเป๋าที่ 2 ขึ้น ซึ่งเป็นการใช้จ่ายแล้วได้คืน 15% ทำให้ต้องมีการประเมินว่าจะเพิ่มมาตรการจูงใจอะไร เพื่อช่วยให้คนตัดสินใจใช้จ่ายผ่านกระเป๋าที่ 2 ได้มากขึ้น โดยเชื่อว่าภายในเดือนตุลาคมนี้ น่าจะมีความชัดเจนออกมามากขึ้น เพราะต้องการให้มีความต่อเนื่องจากการใช้มาตรการในระยะแรก พร้อมทั้งยืนยันว่า มาตรการชิมช้อปใช้ ช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดเล็กเพิ่มขึ้นจริง เพราะจากการสำรวจจะเห็นว่า ผู้ที่ได้สิทธิ์แล้วนำไปใช้ในร้านขนาดใหญ่ หรือห้างสรรพสินค้า มีแค่ 18% เท่านั้น แต่อีก 82% มีการใช้จ่ายกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ”นายลวรณกล่าว

นายลวรณ กล่าวว่า ในระยะเวลา 16 วันแรกตั้งแต่เปิดใช้มาตรการ พบว่า มีผู้ลงทะเบียนรับสิทธิ์กว่า 9,998,518 ราย โดยใน 14 วันแรกมีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 5,910,924 ราย มีการใช้จ่ายรวม 5,635 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดเล็ก มูลค่า 4,601 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของภาพรวม ส่วนการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดใหญ่ มีมูลค่า 1,034 ล้านบาท คิดเป็น 18% โดยหากแยกเป็นการใช้จ่ายผ่านช่องเงิน 1,000 บาท มีถึง 5,578 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการใช้จ่ายเงินส่วนตัวเพียง 57 ล้านบาท และมีการใช้จ่ายกระจายทั้ง 77 จังหวัด ไม่ได้กระจุกตัวอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่เท่านั้น โดย 10 อันดับแรกที่ใช้จ่ายมากสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ระยอง ลำพูน นนทบุรี และเชียงใหม่

นายลวรณ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีทิศทางชะลอการเติบโตลงนั้น เบื้องต้นประเมินว่าเศรษฐกิจคงชะลอตัวลงแน่นอน แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ชะลอตัวมากกว่าปัจจุบัน ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลพยายามทำอยู่ หากปล่อยไปตามบุญตามกรรมก็ได้ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลควรจะนิ่งเฉย ทำให้ต้องพยายามหามาตรการ มาช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจเด้งตัวขึ้นบ้าง จากที่อาจจะโตได้แค่ 2.7% แต่หากโตเพิ่มได้สัก 2.9% ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามทำเต็มที่แล้ว แต่ว่าจะเป็นอย่างไร จะโตได้ที่เท่าใด ก็ไม่สามารถคาดเดาได้ เนื่องจากยังมีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ค่อนข้างมาก

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image