บทนำ : ยกเลิก3สารพิษ

การประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 41-9/2562 เมื่อวันที่ 22 ต.ค. พิจารณาเรื่องที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอให้ปรับวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป มอบหมายให้ นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ตั้งคณะทำงานศึกษาผลกระทบจากการยกเลิกสารเคมี 3 ชนิด เพื่อศึกษาและนำรายละเอียดต่างๆ มาพิจารณา เพื่อเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบ แต่จะเยียวยาด้วยวิธีการใดนั้น ขอเวลาศึกษาก่อน ทั้งนี้ อยากให้เกษตรกรทุกคนใจเย็น ทางกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมช่วยเหลือเต็มที่

ก่อนหน้านั้น หลายหน่วยงาน โดยเฉพาะที่
มีหน้าที่ดูแลสุขภาพประชาชน สนับสนุนให้ยกเลิก อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ระบุว่า มีข้อมูลว่าพบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าจากพาราควอต ที่ จ.หนองบัวลำภู พบการตกค้างของพาราควอต ในซีรั่มของเด็กแรกเกิดและมารดา ขณะที่ไกลโฟเซตน่าจะก่อมะเร็ง กลุ่ม 2A และรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ ทำให้เกิดโรคเบาหวานและโรคไต ส่วนคลอร์ไพรีฟอสทำให้เกิดความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสมองของเด็ก อย.ได้วางระบบให้ผักผลไม้ที่ปลูกในประเทศ ต้องผ่านการตรวจสอบสารพิษตกค้างและแสดงฉลาก ณ โรงคัดบรรจุ สามารถตรวจสอบแหล่งเพาะปลูกได้หากพบปัญหาคุณภาพ หรือการตกค้างของสารอันตราย พร้อมทั้งมีมาตรการเชิงรุกให้หน่วยตรวจสอบเฝ้าระวังและตรวจสอบคุณภาพผักผลไม้ประจำอยู่ทั่วประเทศ

ขณะที่กลุ่มเกษตรกรต่างๆ เห็นว่ารัฐบาลยกเลิกโดยไม่มีแผนทดแทน จะทำให้เกษตรกรเดือดร้อน ต้นทุนสูงขึ้น น.ส.อัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กล่าวว่า เกษตรกรจะฟ้องกระทรวงสาธารณสุขที่ยื่นหลักฐานวิจัยที่เป็นเท็จให้กับคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณา สาร
กลูโฟซิเนต ที่กรมวิชาการเกษตร แนะนำให้ใช้เป็นสารทดแทน แพงกว่าพาราควอต 5 เท่าตัว จากปัจจุบันที่ต้องนำเข้าประมาณ 3,000 ล้านบาท หากต้องเปลี่ยนมาใช้สารกลูโฟซิเนตจะยิ่งซ้ำเติม และผลการวิจัยยังชี้ชัดว่ามีพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ปัญหาของกลุ่มเกษตรกรที่สะท้อนออกมา จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือ หาสารเคมีที่จะมาทดแทนให้ได้โดยเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image