30 ปี มูลนิธิชัยพัฒนา ชัยชนะแห่งการพัฒนา

30 ปี มูลนิธิชัยพัฒนา ชัยชนะแห่งการพัฒนา

พระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นที่ประจักษ์ชัดในหัวใจของคนไทย ด้วยปัญหาน้อยใหญ่ของประชาราษฎ์ล้วนอยู่ในสายพระเนตรของพระองค์ ดังที่เห็นในภารกิจบำบัดทุกข์ บำรุงสุขราษฎร ของ “มูลนิธิชัยพัฒนา” ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งขึ้น ในปี 2531

และในวาระครบรอบ 30 ปี มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มูลนิธิได้จัดแถลงข่าวการจัดงาน “30 ปี ชัยชนะแห่งการพัฒนา” ณ ห้องประชุม 101 สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา กรุงเทพมหานคร

โดยจำลองส่วนหนึ่งของงานมาจัดแสดงในงานแถลงข่าว อาทิ ของใช้ส่วนพระองค์ ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานมูลนิธิชัยพัฒนา ได้แก่ พระมาลาทรงงาน กล้องถ่ายภาพและปากกาทรงงาน, วิดีโอพรีเซนเทชั่นบทสัมภาษณ์ผู้ที่เคยได้รับพระราชทานความช่วยเหลือ และตัวอย่างหนังสือ “30 ปี มูลนิธิชัยพัฒนา ชัยชนะแห่งการพัฒนา”

การนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯมาทรงเปิดงานด้วยพระองค์เอง ณ ลานอีเดน ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในวันที่ 30 ตุลาคมนี้

Advertisement

 

จุดกำเนิด”มูลนิธิชัยพัฒนา”

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขานุการมูลนิธิชัยพัฒนา เล่าย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นของมูลนิธิชัยพัฒนาว่า ในตอนบ่ายวันหนึ่ง ปี 2530 วันนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่มีรายการเสด็จฯไปทรงงานที่ไหน และมีรับสั่งให้ตนเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ สกลนคร พระองค์ทรงมีรับสั่งถึงความล่าช้าของระบบราชการในการช่วยเหลือประชาชน เพราะเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ความช่วยเหลือควรเดินทางไปหาในทันที รอไม่ได้ แต่กระบวนการทางราชการนั้นกินเวลามาก

Advertisement

พระองค์ทรงแนะว่า ให้ทำแบบ “โง” ดีกว่า แต่ขณะนั้น ดร.สุเมธฟังผิดเพี้ยนเป็นคำว่า “โง่” จึงกราบบังคมทูล ถามว่า “ทำแบบฉลาดยังไม่ทันเลย แล้วทำแบบโง่จะทันไหม”

ถึงจุดนี้เลขานุการมูลนิธิชัยพัฒนากล่าวพร้อมรอยยิ้มว่า เวลาถวายงานในหลวงรัชกาลที่ 9 ต้องฉับไว เพราะพระองค์จะทรงวางพระอารมณ์ขัน ให้เราตามด้วยให้ทัน เพื่อให้เรามีสติ ซึ่งในห้วงเวลานั้น พระองค์ทรงรับสั่งกับตนต่อว่า เป็นถึงดอกเตอร์ ทำไมทำแบบโงไม่เป็น ก็คือทำแบบ NGOs องค์กรเอกชนไงเล่า เมื่อระบบราชการไม่สนองต่อความรวดเร็วซึ่งสำคัญต่องานบางอย่าง ก็ให้ไปทำงานแบบองค์กรเอกชน ไปตั้งมูลนิธิไป มูลนิธินี้ให้ตั้งชื่อว่า “ชัยพัฒนา”

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีรับสั่งดำรงตำแหน่งนายกมูลนิธิด้วยพระองค์เอง และโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานฝ่ายบริหารในขณะนั้น

“มูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์มีเยอะมาก แต่มูลนิธิชัยพัฒนาไม่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพราะในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานมูลนิธิชัยพัฒนาด้วยพระองค์เอง”

 

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขานุการมูลนิธิชัยพัฒนา
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขานุการมูลนิธิชัยพัฒนา
พระมาลาทรงงาน
พระมาลาทรงงาน

ทหารเอกของพระราชา ปัญหาหมดไป ประโยชน์สุขกลับคืน

หลังจากนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานสัญลักษณ์พร้อมความหมายว่า ทำไมถึงตั้งมูลนิธินี้ว่า “มูลนิธิชัยพัฒนา” นั่นเป็นเพราะงานของมูลนิธิล้วนเข้าไปแก้ปัญหาในเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนและประเทศชาติในเกือบทุกเรื่อง พระองค์ทรงอุปมาอุปไมยว่า การเข้าไปแก้ปัญหาก็เหมือนการสู้รบกับปัญหา และเมื่อแก้ปัญหาได้แล้ว ก็เหมือนเราได้รับชัยชนะ ปัญหาหมดไป ประโยชน์สุขของประชาชนและประเทศชาติก็กลับคืนมา

พระองค์ทรงเป็น “จอมทัพ” เป็นผู้นำทัพด้วยพระองค์เอง ดังในสัญลักษณ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา 4 ช่อง ที่ช่องแรกปรากฏ “พระแสงขรรค์ชัยศรี” อาวุธประจำจอมทัพที่จะนำทัพไปสู่ชัยชนะ ต่อมาคือ “ธงกระบี่ธุช” เป็นธงนำทัพไปสู่ชัยชนะ

“ทุกคนที่ได้ร่วมงานมูลนิธิชัยพัฒนาตลอดระยะเวลา 30 ปีนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นทหารเอกของพระองค์ ทุกคนอยู่ใต้ธงกระบี่ธุชที่นำไปสู่ชัยชนะ เพราะหากปราศจากความร่วมมือและการสนับสนุนตลอดจนทุนที่บริจาค งานมูลนิธิก็ไม่สามารถที่จะดำเนินต่อไปได้” ดร.สุเมธกล่าวและว่า

การทำงานทั้งหมดจะนำไปสู่ผล 2 อย่าง ดังที่ปรากฏในสัญลักษณ์ “พระมหาสังข์หลั่งน้ำสู่แผ่นดิน” หมายถึงการทำให้แผ่นดินนี้ เจริญงอกงาม ความอุดมสมบูรณ์ เกิดความมั่งคั่ง แต่การมั่งคั่งต้องมีดอกบัวคอยกำกับ “ดอกบัว” คือคุณธรรม ความดี

ดังที่พระองค์รับสั่งว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” จะต้องดีและถูกต้องไปพร้อมๆ กัน เป็นความหมายที่ลึกซึ้งมาก แสดงถึงการปฏิบัติหวังผล “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

 

สารพัดนึกคำตอบ”มูลนิธิชัยพัฒนาทำอะไร”

“ถามว่ามูลนิธิชัยพัฒนาทำอะไรบ้าง สารพัดนึก ผมตอบไม่ได้หรอก เพราะผมจำกัดขอบเขตงานของมูลนิธิไม่ได้ เริ่มแรกคือ ตอบโจทย์ปัญหาของคนกับปัญหาของประเทศ มีอะไรบ้าง ตั้งแต่การทำกิน ปัญหาภัยพิบัติ รวมไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนเป็นงานมูลนิธิหมด”

“พระองค์ทรงมีสายพระเนตรที่กว้างไกล สร้างองค์กรที่รองรับและทำงานสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาของประชาชนอย่างบูรณาการ ระหว่างเกิดเหตุจะมีมูลนิธิของพระองค์ทรงเข้าไปตรึงสถานการณ์ในช่วงแรกไว้ ก่อนที่จะมีผู้จิตศรัทธาและหลายๆ ส่วนเข้าไปช่วยในการแพคของแจกจ่าย แต่แบบนั้นเป็นการช่วยเหลือแค่เพียงชั่วคราว”

“ซึ่งในตอนแรกเราไม่รู้ เราก็เข้าไปช่วยแพคของ แจกจ่าย แต่พระองค์ทรงรับสั่งว่าอย่าไปแย่งงานของมูลนิธิอื่นเขาทำ หน้าที่ของชัยพัฒนาคือพอเขากลับแล้ว เธอต้องไป ไปซ่อมแซมและพัฒนา ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไปมาหมดแล้ว ทั้งเหนือและใต้ สร้างหมู่บ้านที่ไม่ใช่เพื่อประทังปัญหาของเขา แต่สร้างเพื่อพัฒนา เพราะการช่วยเหลือไม่ใช่แค่ช่วยเหลือวัน สต๊อป แล้วจบ แบกของไปให้แล้วจบ แต่ต้องให้เขาสามารถยืนได้ด้วยตัวเองให้ได้ ซึ่งนั่นก็รวมไปถึงการดูแลเรื่องการสาธารณสุข การศึกษาและอาชีพ” เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนากล่าว

ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานมูลนิธิชัยพัฒนา ที่สานต่องานของพระราชบิดา ก็ทรงให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ทรงรับสั่งกับดร.สุเมธว่า ให้ลองไปหากรณี “Horrible Hospital” มาพัฒนา

“พระองค์ทรงหมายถึงโรงพยาบาลที่โทรมๆ ตัวอาคารโทรม บ้านพักโทรม ซึ่งทำให้เกิดเป็นปัญหาลูกโซ่ หมอพยาบาลก็ไม่อยากไปทำ ห้องพิเศษแอร์น้ำหยด ผนังมีราขึ้น หลังจากนั้นมูลนิธิจึงเข้าไปบูรณะ เมื่อที่พักแพทย์ดี โรงพยาบาลดี ทุกอย่างก็ดำเนินการได้ราบรื่นขึ้น ทุกคนอารมณ์แจ่มใส”

ส่วนในด้านการศึกษา มูลนิธิยังเข้าไปช่วยซ่อมแซมอาคารที่โดนสึนามิ กระทั่งเข้าไปดูแลเรื่องคุณภาพการศึกษา ครูไม่พอก็จัดหาให้ เพราะเมื่อมองไปสูู่อนาคตทางมูลนิธิเน้น “การสร้างคน” มีให้ทุนเป็นทีม ไม่ว่าจะเป็นทีมแพทย์หรือพยาบาล โดยมีเงื่อนไขข้อเดียวคือขอให้ “กลับบ้าน” กลับไปรักษาพ่อแม่พี่น้องที่บ้าน ตอนนี้รุ่นแรกใกล้จบแล้ว

กล้องถ่ายภาพและปากกาทรงงาน
กล้องถ่ายภาพและปากกาทรงงาน

 

มูลนิธิทำงานในทุกมิติ

“มีคนถามผมว่า ก้าวต่อไปของมูลนิธิชัยพัฒนาคืออะไร ผมตอบเลยว่า ไม่มีก้าวหน้า ไม่มีก้าวหลัง เพราะเราเดินไม่เคยหยุด เหมือนกับคำอวยพรวันเกิดสุดท้ายที่พระองค์พระราชทานให้ผม “สุเมธ…งานยังไม่เสร็จ” เพราะฉะนั้นตราบใดที่ปัญหาของคนไทยและประเทศชาติยังมีอยู่งานก็ยังไม่เสร็จ” ดร.สุเมธกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับงาน “30 ปี ชัยชนะแห่งการพัฒนา” จะมีขึ้นในวันที่ 28 ตุลาคม-3 พฤศจิกายนนี้ ที่ลานอีเดน ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีไฮไลต์ภายในงาน อาทิ เรียนรู้ประวัติศาสตร์การพัฒนาผ่านของใช้ส่วนพระองค์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, รับชมสารคดีสั้น “ชัยชนะแห่งการพัฒนา”, ฟังเรื่องเล่าการถวายงาน, ช้อปสินค้าจากผลิตผลในโครงการมูลนิธิชัยพัฒนา และเวิร์กช็อปอบรมวิชาชีพที่หลากหลาย สามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image