ผู้พิพากษาอาวุโสห่วงไทยโดนตัด จีเอสพี ส่งผลกระทบเศรษฐกิจติงคนมีตำเเหน่งคำพูดไม่เหมาะผลร้ายความสัมพันธ์

ผู้พิพากษาอาวุโส ห่วง ไทยโดนตัด จีเอสพี ส่งผลกระทบเศรษฐกิจพืชการเกษตรส่งออกเสียหาย ติง ที่ผ่านมาคนมีตำเเหน่งรัฐบาลเเสดงท่าทีคำพูดไม่เหมาะสมเกิดผลร้ายความสัมพันธ์ เศรษฐกิจได้ ชี้ต้องฉุกคิดทบทวนบทบาทการเมืองระหว่างประเทศ ชี้ จุดอ่อนไทยคือการจ้างงานให้ได้สภาพมาตรฐานตามที่สหรัฐฯอ้าง

เมื่อวันที่ 27 ต.ค.นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษา อาวุโสในศาลอุทธรณ์ ได้ให้ความเห็นกรณีประเทศสหรัฐอเมริกาจะตัดจีเอสพี (สิทธิทางภาษีที่ให้กับประเทศกำลังพัฒนา)ไทยบางรายการมูลค่าเกือบ4หมื่นล้านซึ่งจะมีผลอีก6เดือนข้างหน้าว่า

มีข้อน่าสังเกตว่าสหรัฐฯจะใช้มาตรการในด้านการค้า ด้วยการลดสิทธิประโยชน์ หรือเพิ่มกำแพงภาษีแก่ประเทศคู่ค้าของสหรัฐ ด้วยเหตุหลายประการคือ 1 หากสหรัฐฯถูกเอาเปรียบทางการค้า โดยไม่ต้องคำนึงถึงการแข่งขันทางการค้าเสรี โดยเห็นว่า หากสหรัฐถูกเอาเปรียบทางการค้า ก็ถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐด้วย

2 หากมีการ ห้ามนำเข้าซึ่งสินค้าที่สหรัฐฯผลิต ไม่ว่าเขาหรือ คู่ค้าขายจะมีเหตุผลเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย หรือสารที่ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เช่นเรื่องบุหรี่ ยาสูบ สารอันตราย อย่างเช่นสารปราบศัตรูพืช ก็ดี หรือบรรดายาต่างๆที่สหรัฐรับรอง และเป็นผู้ผลิตเอง คู่ค้าขาย สั่งห้ามนำเข้าซึ่งสินค้าประเภทนี้เนื่องจาก เป็น อันตรายต่อสุขภาพอนามัย และสิ่งแวดล้อมของ คู่ค้า สหรัฐจะไม่ฟังและถือว่า ประเทศคู่ค้า กีดกันทางการค้าเขาจะใช้วิธีตอบโต้หรือที่เรียกว่า retaliate (ตอบโต้)กับประเทศคู่ค้าในทันที

Advertisement

3การใช้ข้ออ้างเรื่อง Human rights (สิทธิมนุษยชน)หรือที่เรียกว่า การอ้าง ประเทศคู่ค้ามีการปกครองประเภทไม่เป็นประชาธิปไตย การละเมิดคุกคามประชาชน ปัญหาลิขสิทธิ์โดยละเมิดหรือละเลยต่อหลักนิติธรรมหรือที่เรียกว่าการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ เช่นการใช้แรงงานประมง ผิดกฎหมาย การใช้ แรงงานเด็กโดยไม่มีการคุ้มครองแรงงานที่ดี ก็มักจะเป็นข้ออ้างที่สหรัฐอเมริกาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อกีดกันทางการค้าด้วยการ ตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากรหรือการเพิ่มกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้า ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดเช่นนี้

4.สหรัฐจะใช้ข้ออ้างเรื่องที่ประเทศคู่ค้า มีพฤติกรรม ในการสนับสนุนผู้ก่อการร้าย หรือมี ส่วนร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายในการปฏิบัติการ การคุกคามต่อสิทธิเสรีภาพของการเดินทางระหว่างประเทศ การกีดกันทางการค้าหรือ sanction(คว่ำบาตร)ทางเศรษฐกิจ หรือที่เรียก ว่า การปิดล้อมทาง การค้าและธุรกรรม

5.การเอาใจออกห่างจาก อิทธิพลของสหรัฐ ยกตัวอย่างเช่นประเทศตุรกี ที่ไม่ยอม ซื้ออาวุธสงครามจากประเทศสหรัฐอเมริกาแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่กลับไปซื้อ ระบบป้องกันภัยทาง อากาศเช่น s300 และ s500 จากประเทศรัสเซีย ทำให้สหรัฐไม่พอใจและมีคำสั่งปิดล้อมทางการค้าและทางธุรกรรมเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ที่สหรัฐยอม ยกเลิกการปิดล้อมทางการค้าและธุรกรรมนี้ก็เนื่องจากการต่อรองให้คงฐานทัพ อากาศของสหรัฐอยู่ในดินแดนของตุรกี

Advertisement

6.การที่มีประเทศคู่ค้า ไปทำสงครามรุกรานประเทศเพื่อนบ้านหรือเข้าไปแทรกแซง ถือหางความขัดแย้งของประเทศ ที่มี ปัญหาแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สหรัฐจะใช้มาตรการปิดล้อมทางการค้าและธุรกรรมจัดการกับประเทศคู่ค้าที่ยังขืนดื้อดึง ไม่ทำตามนโยบายของสหรัฐเช่นประเทศ รัสเซีย

ซึ่งเมื่อมา พิจารณา เหตุที่เกิดในประเทศไทยขณะนี้ ที่สหรัฐ ใช้มาตรการ จีเอสพี หรือสิทธิพิเศษทางศุลกากรแก่ประเทศไทยซึ่งถือว่าเป็นมิตรประเทศแรกๆเพื่อช่วยเหลือประเทศต่างๆ ดังกล่าวทำให้สหรัฐมี อิทธิพลทางการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งการตัดสิทธิพิเศษทางด้านศุลกากร หรือจีเอสพีจะทำให้สินค้า ไทย มีราคาสูงขึ้นอันเนื่องจากเสียภาษีเต็มอัตรา ที่กฎหมายกำหนด ส่วนใหญ่สินค้าของไทยที่ส่งไปสหรัฐอเมริกามักจะเป็นสินค้าเกษตรกรรม ผลที่เกิดคือ ทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตร ตกต่ำราคาลดลง เนื่องจากต้องมีต้นทุน ทางภาษีศุลกากรสูง รายได้ เกษตรกร ก็จะมีผลกระทบคือราคาพืชผลตกต่ำ พ่อค้าผู้ส่งออกก็มีกำไรน้อย เกิดผลเสียต่อ เศรษฐกิจของประเทศอีกปัจจัยหนึ่ง

โดยสหรัฐฯใช้เหตุผลประการแรกที่เป็นข้ออ้างในการยกเลิกสิทธิพิเศษในด้านภาษีศุลกากรของไทยก็คือ การที่รัฐไม่สามารถที่จะควบคุม เกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน ให้ได้ตามมาตรฐานของกฎหมายไทยและว่าด้วย มาตรฐาน ของกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครอง แรงงานและสวัสดิภาพแรงงาน แม้ประเทศไทยจะพยายาม ลดข้อบกพร่องและเพิ่มมาตรการต่างๆไม่ว่าด้วยทางกฎหมายและ การใช้บุคลากรของรัฐ เพื่อปกป้องและคุ้มครองแรงงาน ให้ได้มาตรฐานสากลก็ตาม แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังมีนายจ้าง บางคนหรือบางกลุ่ม ก็ยังมีพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบแรงงานไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยก็ดีหรือแรงงานต่างชาติก็ดี ก็มีโอกาสถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มในจ้างประเภทนี้ เราต้องยอมรับว่า แรงงานไทยก็ดีและแรงงานต่างชาติที่เข้ามาหางานทำในประเทศไทยยังมีความอ่อนแอ ในการต่อรองเนื่องจากนายจ้างเป็นผู้มีฐานะทางการเงินดีย่อมได้เปรียบในการ กำหนดเงื่อนไขหรือกำหนดค่าจ้างให้ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยใช้วิธีว่าหากไม่ยอมทำตามเงื่อนไข ที่ไหนแจ้งเสนอก็จะไม่รับเข้าทำงานทำให้ลูกจ้างที่ด้อยโอกาสและเสียเปรียบในการต่อรองต้องยอมรับเงื่อนไข สภาพการจ้างที่ต่ำกว่ามาตรฐานของกฎหมายและมาตรฐานสากลของ ความร้ายแรงประเภทนี้ใกล้เคียงกับการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานทาส ซึ่งกฎหมายระหว่างประเทศก็ดีและ มติของประเทศต่างๆที่อยู่ในสังคมโลกตั้งรังเกียจ การที่รัฐใดรัฐหนึ่งไม่สามารถคุ้มครองสวัสดิภาพแรงงานและสภาพการจ้างได้และสภาพการจ้างที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

ประการต่อไปก็คือการที่ รัฐบาล หุนหันพลันแล่น ในการตัดสินใจแก้ปัญหา โดยไม่รอบคอบ และไม่คำนึงถึง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่นตัวอย่างการยกเลิกการใช้สารเคมี ในการกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด อันเกิดจากการเรียกร้องของ บุคคล ที่เรียกกัน ว่า Activist(นักเคลื่อนไหว)นักวิชาการหรือ NGO บางกลุ่มบางพวกที่เรียกร้องและมีเสียงดังการที่รัฐตื่นตกใจ ไม่ว่าด้วย ความหวังดีหรือด้วยเหตุผลการเมือง บางประการ จึงรีบ ยกเลิก สารกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว โดยมิได้ พินิจพิจารณาและวิเคราะห์ อย่างรอบด้าน ทั้งยังไม่คำนึงถึงผลกระทบ เกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศ ตนไม่ได้ต่อต้านการเลิกการใช้สารดังกล่าวเเละปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลดีต่อคนไทยเเต่ควรกระทำอย่างรอบคอบมีการหารือกับกลุ่มการค้าในภูมิภาค

เมื่อมีข้อทักท้วงจากสหรัฐอเมริกาในเรื่องการยกเลิกสารดังกล่าว ก็ปรากฏว่า คนของรัฐบาลเองกับไปต่อล้อต่อเถียง และพูดในทำนอง ท้าทายและไม่ให้เกียรติต่อประเทศคู่ค้าถึงขนาด มีคำพูด ว่า ถ้าสารเคมีดังกล่าว ไม่เป็นอันตรายก็ให้ขายในประเทศของตัวเองก็แล้วกัน การคำพูดในลักษณะไม่ระมัดระวัง มารยาททางการเมืองระหว่างประเทศเช่นนี้ ก็อาจมีผล กระทบที่รุนแรง มากกว่าที่คิดได้ และสิ่งนี้ก็อาจเป็นชนวนเล็กๆที่จุดให้เกิดปัญหาการ ยกเลิก สิทธิพิเศษทางด้าน ศุลกากร แก่สินค้าไทยความเสียหายทางการค้าของไทยไม่ใช่สิ่งที่เราจะไม่ต้องคำนึงถึงหรือไม่แยแสอย่างไรก็ตามตลาดส่งออกไปยังสหรัฐก็ยังถือว่าเป็นตลาดใหญ่ ที่ประเทศไทยจะต้องพึ่งพา เนื่องจากเศรษฐกิจ 70% ของประเทศไทยต้องพึ่งพาการส่งออก ของสินค้าส่งออก การสูญเสีย การส่งออกไปยังตลาดใหญ่นั้นเป็นเรื่องที่ยากแก่การแก้ไขอยู่แล้วหากจะต้องแสวงหาตลาดการค้าใหม่นั้นเป็นความยุ่งยากที่ซับซ้อนยิ่งกว่าการ รักษาหรือคงไว้ซึ่งตลาดส่งออกเดิม เป็นอย่างยิ่ง ถ้าไม่เชื่อก็ไปถามกระทรวงพาณิชย์ดูก็คงจะทราบคำตอบดี เเละบทบาทของรัฐบาลไทยที่ต้องระมัดระวังก็คือ การรักษาดุลแห่งอำนาจให้มีความ มั่นคงที่สุด แล้วไม่ควร ไปฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมากเกินไปมิฉะนั้นเขาก็จะใช้ วิธีการกีดกันทางการค้า มาบีบบังคับทางเศรษฐกิจ แก่เรา เราจะให้เหตุผลเข้าข้างตัวเองว่าถ้าประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่งเกิดหมั่นไส้หรือแสดงความรังเกียจเรา เราก็ไม่ต้องคบค้าสมาคมด้วย แต่เราคงได้รับความช่วยเหลือจากมหาอำนาจอีกฝ่ายหนึ่งที่เราไว้ใจคำตอบก็คือคงไม่เป็นผลดีแก่ประเทศเรา เพราะประเทศมหาอำนาจเพียงกลุ่มเดียวก็ไม่อาจดูแลหรือช่วยเหลือประเทศเราได้เราต้องพึ่งพาตนเองอย่าไปพึ่งพาประเทศอื่น

ปัญหาการถูกตัด จีเอสพีของสินค้าไทยไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่แต่สัญญาณอันตรายครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางทางด้านความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐฯที่มีความอ่อนแอลง เป็นอย่างมากในระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมานี้ และปัญหานี้คงไม่ใช่ปัญหาสุดท้ายที่เราจะถูกกีดกันทางการค้า จึงไม่แน่ว่าต่อไปข้างหน้า เราจะถูกกีดกันทางการค้าจากประเทศสหรัฐฯเพิ่มมากขึ้นหรือไม่อย่างไร ปัจจัยที่เกิดก็คงเป็นปัญหาวนเวียนซ้ำซากอยู่เช่นนี้

“ที่สำคัญก็คือปัญหาในเรื่องการแสดงออก โดยไม่คำนึงถึงมารยาททางการเมืองและมารยาทความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่รัฐบาลไทยเราไม่ค่อยให้ความสำคัญหรือละเลยหรือคิดว่าการพูดอย่างสนุกปากจะไม่ก่อให้เกิดผลร้ายแก่ความสัมพันธ์และเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เรามีบทเรียนหลายครั้งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเรื่องการเผาธงชาติเพื่อประท้วงก็ดีการใช้ถ้อยคำด่าว่าเจ้าหน้าที่หรือเอกอัครราชทูตประเทศต่างๆที่เราไม่พอใจก็ดี การที่ผู้ใหญ่ใช้ถ้อยคำตำหนิ ชนชาติอื่นที่มาท่องเที่ยวแล้วเกิดอุบัติเหตุจนเกิดกระแสตีกลับ ด้วยความเกลียดชังคำพูดจาที่ไม่ระมัดระวัง ทำให้เกิดปัญหาการท่องเที่ยวหรือคำพูดจา ของ ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ที่ก่อให้เกิดปัญหาความเกลียดชังระหว่างประเทศ จน เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการท่องเที่ยวของไทย ตลอดจนการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ก็ดี การแสดงออกถึงการเอารัดเอาเปรียบทางการค้าก็ดี แต่ไม่รู้จักระมัดระวังการพูดจาตอบโต้ กับประเทศอื่นๆ ไม่ว่าด้วยการค้าความสัมพันธ์ หรือความขัดแย้งก็ดี ล้วนแต่ เป็นปัญหาละเอียดอ่อนที่ อาจก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรค แก่ เศรษฐกิจของประเทศไทย หากเกิดเหตุขึ้นก็ยากแก่การแก้ไข หรือ ปรับความสัมพันธ์ให้กลับคืนดีดังเดิมได้ บทเรียนที่เกิดนี้ ขอให้เป็นอุทาหรณ์ที่ คนไทยรัฐบาลไทย ต้องระมัดระวัง ได้ทันท่วงทีและการแสดงออกให้ปรากฏแก่สังคมโลก ว่าอย่าได้ใช้ อำเภอใจ หรือแขวนวู่วามในการ แก้ปัญหาของประเทศ ตลอดจน การพูดจาของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็เป็นสิ่งที่ควรระมัดระวัง มิฉะนั้นแล้วก็จะเกิดปัญหาซ้ำซากเช่นนี้แก่ประเทศอีกการที่สหรัฐ สั่งตัด จีเอสพีของประเทศไทย ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทนั้น น่าจะเป็นสัญญาณที่ประเทศไทยจะต้องหันมาฉุกคิด และทบทวนบทบาททางการเมืองระหว่างประเทศและการค้าของไทยว่ามีอะไรที่ผิดปกติหรือไม่หรือทำให้ขัดอกขัดใจแก่ประเทศสหรัฐฯบ้าง ก็ต้องค่อยๆคิด ค่อยๆ ทำไป เพื่อหาทางแก้ไขต่อไป” นายศรีอัมพร กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image