‘พาณิชย์’ ยันไม่มีมาตรการตอบโต้ หลังถูกสหรัฐฯตัดสิทธิจีเอสพี เตรียมเจรจาต่อสิทธิเพิ่ม

นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากประเทศไทยได้ถูกสหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (จีเอสพี) ที่จะยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย จำนวน 573 รายการ ซึ่งจะมีผลในอีก 6 เดือนนับจากนี้ หรือมีผลตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563 โดยอ้างสาเหตุมาจากไทยไม่ได้คุ้มครองแรงงานตามมาตรฐานสากล จึงยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแบน 3 สารเคมีแต่อย่างใด พร้อมยืนยันว่าทางการไทยไม่มีแนวทางตอบโต้ใดกับสหรัฐฯ แต่จะใช้แนวทางในการเจรจาหารือ เพื่อให้สหรัฐฯทบทวนการให้สิทธิสินค้าทั้ง 573 รายการต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีประเทศที่ถูกระงับสิทธิชั่วคราว สามารถกลับมาได้รับสิทธิตามเดิมได้ โดยคาดว่าจะใช้เวทีการประชุมอาเซียนซัมมิทเป็นเวทีแรกในการเจรจา ก่อนที่สัปดาห์หน้าหรือภายในต้นเดือน พฤศจิกยน 2562 จะมีการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

“ตามกรอบเงื่อนไขที่มีพบว่า สหรัฐฯจะมีการทบทบสิทธิพิเศษดังกล่าวให้กับประเทศคู่ค้าอยู่แล้ว เนื่องจากสิทธิจีเอสพีเป็นการให้สิทธิฝ่ายเดียว ซึ่งสหรัฐฯสามารถทบทวนยกเลิกได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการค้า ซึ่งปัจจุบันสิทธิจีเอสพีที่ไทยได้รับ เป็นการต่ออายุครั้งที่ 10 มีระยะเวลาตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 ถึง 31 ธันวาคม 2563 โดยมีการกำหนดการให้สิทธิเพิ่มหรือตัดสิทธิไว้ตามเงื่อนไขคือ มูลค่านำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เกินมูลค่าขั้นสูงที่สหรัฐฯกำหนดไว้ ซึ่งในปี 2561 ได้กำหนดไว้ที่ 185 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยให้เพิ่มขึ้นได้ทุกปี ปีละ 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมถึงส่วนแบ่งตลาดนำเข้าจากสหรัฐฯเกิน 50% แต่มูลค่านำเข้าสหรัฐฯของสินค้าดังกล่าว ต่ำกว่ามูลค่าขั้นต่ำที่สหรัฐฯกำหนดไว้ ซึ่งในปี 2561 เท่ากับ 24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยได้สิทธิจีเอสพีจากสหรัฐฯมาตั้งแต่ปี 2519”นายกีรติกล่าว

นายกีรติกล่าวว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หลังไทยถูกตัดสิทธิจีเอสพี ในส่วนของสินค้าไทยทั้ง 573 รายการ มีประมาณ 70% ที่ใช้สิทธิจีเอสพี ส่วนอีก 30% ไม่ได้ใช้สิทธิ แสดงให้เห็นว่าการส่งออกสินค้าไปขายที่สหรัฐฯ ยังสามารถไปได้อยู่ ไม่ได้หมายความว่าเมื่อถูกตัดสิทธิจีเอสพีไปแล้ว ไทยจะไม่สามารถส่งสินค้าไปขายที่สหรัฐฯ ยังส่งได้ตามเดิม แต่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติที่ 4.5% ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้านั้นๆ โดยหากคิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่ไทยส่งสินค้าไปขายให้สหรัฐฯ จะอยู่ที่ 40,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งการถูกตัดสิทธิจีเอสพีไป จะทำให้ไทยต้องจ่ายภาษีเพิ่มประมาณ 4.5% หรือจ่ายเพิ่มจริงๆ ประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาทต่อปี จึงเน้นย้ำว่าไม่ได้ส่งผลกระทบกับมูลค่าการส่งออกทั้งก้อนกว่า 40,000 ล้านบาทแน่นอน โดยจากนี้จะเดินหน้าหาแนวทางรองรับคือ การหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบสินค้าไทย

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image