กลุ่ม KTIS ทุ่ม 1.3 พันล้าน เร่งสร้างโรงงานผลิตภาชนะชานอ้อย เพิ่มกำลังผลิตรับกระแสรักษ์โลก มั่นใจรายได้โตดีทดแทน “น้ำตาล” ราคาผันผวน

นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า บริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ แพ็คเกจจิ้ง จำกัด บริษัทร่วมทุนกับยูเรเซีย ไลท์ อินดัสตรี อีควิปเม้นท์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด จากประเทศจีน โดยกลุ่ม KTIS มีสัดส่วนหุ้น 85% และยูเรเซียฯ 15% ดำเนินโครงการผลิตภาชนะจากเยื่อชานอ้อยเพื่อสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ได้เริ่มการก่อสร้างโรงงานแล้ว ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมทั้งได้เร่งกระบวนการคัดสรรเครื่องจักรสำหรับผลิตภาชนะจากเยื่อชานอ้อย หลากหลายรูปแบบ เช่น จาน ถ้วย ชามหลุม กล่องใส่อาหาร เป็นต้น มีกำลังการผลิต 50 ตันต่อวัน หรือเทียบเท่าจำนวนภาชนะประมาณ 3 ล้านชิ้นต่อวัน

นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวว่า บริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ใช้เงินลงทุนสำหรับโรงงานดังกล่าว ประมาณ 1,300 ล้านบาท ถือเป็นอีกหนึ่งโรงงานขนาดใหญ่ในสายธุรกิจชีวภาพของกลุ่ม KTIS นอกเหนือจากโรงงานผลิตเอทานอล โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวล และโรงงานผลิตเยื่อกระดาษชานอ้อย คาดว่าโรงงานใหม่นี้จะเริ่มผลิตและจำหน่ายสินค้าสู่ตลาดได้ภายในปี 2563 ทำให้สัดส่วนรายได้ของสายธุรกิจชีวภาพเติบโตขึ้นมาในระดับที่ใกล้เคียงกับรายได้จากสายธุรกิจน้ำตาล ช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของราคาน้ำตาลได้เป็นอย่างดี จากปัจจุบันที่กลุ่ม KTIS มีรายได้จากสายธุรกิจน้ำตาลประมาณ 64% และสายธุรกิจชีวภาพ 36%

“เรามั่นใจมากว่า โรงงานผลิตภาชนะชานอ้อยนี้จะมีศักยภาพในการทำรายได้และกำไรที่ดี เนื่องจากในปัจจุบันกระแสรักสิ่งแวดล้อมมาแรงมาก ความต้องการใช้ภาชนะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดูได้จากการผลิตภาชนะชานอ้อยที่ปัจจุบันกลุ่ม KTIS มีสายการผลิตอยู่ที่โรงงานของบริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ กำลังการผลิตประมาณ 2 ตันต่อวัน หรือประมาณ 100,000 ชิ้นต่อวัน ยังไม่สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้” นายณัฎฐปัญญ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image