ภาคีรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย โดย : สมหมาย ปาริจฉัตต์

การเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ พัฒนาไปตามลำดับ ล่าสุด องค์กรภาคประชาชน ประกอบด้วย มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) 30 องค์กรประชาธิปไตย สภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) คณะกรรมการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ภาคประชาชน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) รวมตัวกันในนามของภาคีรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย ประกาศเจตนารมณ์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างเป็นทางการ

ปรากฏการณ์นี้จึงเป็นสิ่งยืนยันว่าในมุมมองขององค์กรเหล่านี้รัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาสมควรที่จะต้องแก้ไข โดยคิดสร้างกลไกยกร่างขึ้นใหม่ มีที่มาหลากหลายทำนองเดียวกับสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540

แก้ตรงกระบวนการแก้ไขก่อน ส่วนเนื้อในจะแก้อะไรเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ให้เป็นภารกิจของ สสร.

โดยยกเหตุผลว่า ที่มาของรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่แรก และยึดรัฐราชการเป็นศูนย์กลางทำให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองนำไปสู่การรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจ จนเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างกว้างขวาง จำเป็นต้องผลักดันให้เกิดรัฐธรรมนูญที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง

Advertisement

แนวทางการแก้ไขจึงมุ่งไปที่หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 บัญญัติให้ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร (100 คน) หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (150 คน) หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน

การออกเสียงลงคะแนนวาระที่หนึ่งต้องมีเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภา (375 คน) วาระที่สามต้องมีเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วย ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน

และทั้งสองวาระต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา (83 คน)

Advertisement

บทบัญญัตินี้สะท้อนเจตนารมณ์ของคณะผู้ร่างเดิมคือกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ต้องการเขียนให้แก้ไขยาก นั่นเอง

การแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใต้ข้อจำกัดที่ทำได้ยาก และการสร้างกลไกขึ้นใหม่มีที่มาตรงข้ามกับกลไกเดิม ซึ่งมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงไม่ใช่เรื่องที่จะสำเร็จง่ายๆ ขณะเดียวกันมีโอกาสนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ หากอีกฝ่ายหนึ่งตั้งป้อมไม่ยอมรับ

พลังของภาคประชาชนที่จะทำให้คนกลุ่มที่มีอำนาจยกมือยอมรับ มีมากหรือน้อยแค่ไหน ตรงนี้แหละเป็นเงื่อนไขของความสำเร็จ

เงื่อนไขที่วุฒิสมาชิกแสดงท่าทีออกมาบ้างแล้วคือ จะยอมรับก็ต่อเมื่อมีการลงประชามติว่าควรแก้ไข มองอีกด้านหนึ่งเป็นการสร้างความชอบธรรมในการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ฉะนั้นข้อเสนอที่ชัดเจน และท่าทีในการรับฟังของภาคีรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย จึงมีผลอย่างมากต่อความร่วมมือในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องถกเถียงกันต่อไปอีก เกี่ยวกับการออกแบบกระบวนการสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ คุณสมบัติ ที่มา จนกระบวนการทำงาน สิทธิประโยชน์ และข้อห้ามต่างๆ เป็นต้นว่า ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้นเป็นเวลา 4 ปี หรือหนึ่งวาระของสภา สังคมจะต้องใช้เวลาเพื่อหาบทสรุปในเรื่องนี้นานเท่าไหร่

นอกจากหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีหมวดอื่นที่ถูกยกขึ้นมาย้ำตลอดว่ามีความสำคัญถ้ายกเลิกมีปัญหาแน่ ได้แก่ หมวดที่ว่าด้วยการปฏิรูปยุทธศาสตร์ชาติ และหมวดบทเฉพาะกาล ทั้งสองหมวดนี้เป็นจุดชนวนของการโต้แย้ง สสร.ต้องเผชิญสถานการณ์อันเนื่องมาจากเนื้อหาสองหมวดนี้อย่างแน่นอน

กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญแบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างรัฐธรรมนูญของประชาชนฉบับใหม่ยังต้องฝ่าฟันอุปสรรคขวากหนามอีกมาก

ครับ ถึงอย่างไรก็ขอเอาใจช่วย โดยเฉพาะขอให้บรรลุหลักการสำคัญที่ 3 ทำให้เกิดฉันทามติร่วมกันในสังคมเพื่อยุติความขัดแย้งและสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ทำให้เกิดกระบวนการที่ทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งมั่นคงขึ้น

หวังว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่นี้จะพบคำตอบว่า ประชาธิปไตยแบบไทยๆ กับประชาธิปไตยตะวันตก จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image