บีโอไอมั่นใจ5จีเกิดปีหน้าดึงการลงทุนต่อเนื่องวิ่งเข้าไทย ปลื้มอุตดิจิทัลมาแรงสุด 9เดือนคำขออันดับหนึ่ง

บีโอไอมั่นใจ5จีเกิดปีหน้าดึงการลงทุนต่อเนื่องวิ่งเข้าไทย ปลื้มอุตดิจิทัลมาแรงสุด 9เดือนคำขออันดับหนึ่ง มูลค่าลงทุนสูงถึง6.4พันล้านบาท

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยถึงภาพรวมอุตสาหกรรมดิจิทัล หนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย ว่า อุตฯดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 9 เดือนของปีนี้ มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล จำนวน 143 โครงการ มูลค่า 6,460 ล้านบาท นับเป็นอุตสาหกรรมที่มีจำนวนโครงการลงทุนมากที่สุด คิดเป็น 12% ของจำนวนคำขอทั้งหมด แม้ว่าส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็กที่มีมูลค่าเงินลงทุนไม่สูงนัก แต่เป็นกิจการฐานความรู้ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่จะช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมและประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0
“นับตั้งแต่บีโอไอประกาศใช้ยุทธศาสตร์ใหม่เมื่อปี 2558 จนถึงล่าสุดเดือนกันยายน 2562 อุตสาหกรรมดิจิทัลมีจำนวนคำขอรับการส่งเสริมรวม 950 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท โครงการประมาณครึ่งหนึ่งเป็นของคนไทย ที่เหลือเป็นต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มยุโรป อาเซียน ญี่ปุ่น และจีน”นายนฤตม์กล่าว
นายนฤตม์กล่าวว่า ในแง่ประเภทธุรกิจ ส่วนใหญ่เป็นกิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ ดิจิทัลคอนเทนต์ บริการแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ และอีคอมเมิร์ซ แต่เป็นที่น่ายินดีว่า ในช่วง 1-2 ปีหลัง จะเริ่มเห็นโครงการลงทุนพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีความซับซ้อนและมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น อาทิ ซอฟต์แวร์ระบบสมองกลฝังตัวเพื่อควบคุมการทำงานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ(เอ็มเบ็ดเด็ด ซอฟต์แวร์) สำหรับการวิเคราะห์และเชื่อมโยงเพื่อการบริหารจัดการข้อมูล (บิ๊ก ดาต้า , ดาต้า อะนาไลซิส) ซอฟต์แวร์ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศและไซเบอร์ (ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้)  สำหรับโครงการขนาดใหญ่ จะเป็นการลงทุนในกิจการดิจิทัล พาร์ค  กิจการดาต้า เซ็นเตอร์ กิจการคลาวด์ เซอร์วิส และกิจการบริการวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงระหว่างประเทศภาคพื้นน้ำ
นายนฤตม์กล่าวถึงกรณีรัฐบาลโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดการประมูลเทคโนโลยี 5จี โดยกำหนดให้มีการประมูลวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า 5จีมีความสำคัญต่ออนาคตของอุตสาหกรรมดิจิทัลในไทยอย่างมาก ถ้าเกิดในไทยได้สำเร็จ นักลงทุนจะเกิดความเชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีความพร้อมที่จะก้าวนำหลายๆ ประเทศในอุตสาหกรรมนี้ และโอกาสการลงทุนในธุรกิจต่อเนื่องอีกมากมายจะวิ่งเข้ามาที่ไทย อาทิ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในการรับส่งสัญญาณ การเก็บและประมวลผลข้อมูลที่เป็นบิ๊กดาต้าจำนวนมหาศาล  การลงทุนในอุปกรณ์และการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือโซลูชั่นต่างๆ ที่ต้องการอินเตอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง โดยเฉพาะการแปลงเมืองให้เป็นสมาร์ท ซิตี้ หรือการยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นสมาร์ท แฟคตอรี่ โดยนำระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ หรือ เอไอ เข้ามาใช้ หรือการทำสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง ในภาคเกษตร สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำได้ในวงกว้างอย่างรวดเร็วมากขึ้น
“นอกจากนี้ 5จีจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับกลุ่มสตาร์ตอัพและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทย อีกทั้งจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มสูงขึ้นด้วย”นายนฤตม์กล่าว
นายนฤตม์กล่าวว่า อย่างไรก็ตามสุดท้ายของปีนี้ บีโอไอจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้มีคำขอจากนักลงทุน บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ 7.5 แสนล้านบาท จากปัจจุบันช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้(มกราคม-กันยายน2562) มีจำนวน 1,165 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 3.14 แสนล้านบาท โดยช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในภาพรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 2.07 แสนล้านบาทในปี 2558 เป็น 5.28 แสนล้านบาทในปี 2559  6.13 แสนล้านบาทในปี 2560  และ 8.16 แสนล้านบาทในปี 2561 โดยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวน 689 โครงการ เงินลงทุน 2.03 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2561 คิดเป็น 69% โดยญี่ปุ่นยังคงเป็นนักลงทุนอันดับ 1 มีมูลค่า 59,180 ล้านบาท ขยายตัว 82% รองลงมาเป็นจีนและฮ่องกงรวมกัน 54,370 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากถึง 120% แสดงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่อยู่ในระดับสูง และประเทศไทยยังคงเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่สำคัญของภูมิภาค
นายนฤตม์กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนในปีหน้ายังไปได้ดี เพราะประเทศไทยมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ ทั้งปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ที่พร้อมรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต บุคลากรที่มีคุณภาพ อุตสาหกรรมสนับสนุนที่ครบวงจรที่สุดในภูมิภาค มาตรการสนับสนุนและสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ โดยเฉพาะการประกาศ มาตรการไทยแลนด์พลัส เมื่อเร็วๆ นี้ ได้กำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับการลงทุนขนาดใหญ่เกิน 1,000 ล้านบาท พร้อมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่จะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีการย้ายฐานการผลิตจากผลกระทบของสงครามการค้า ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับการดึงการลงทุนอีกครั้งหนึ่งของประเทศไทย จึงเชื่อมั่นว่าท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ประเทศไทยจะยังคงเป็นที่หมายตาของนักลงทุน และสามารถดึงดูดการลงทุนที่มีคุณภาพเข้าสู่ประเทศได้
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image