“อ.เฉลิมชัย” สอน “น้อง” เส้นทางอาชีพ “ศิลปินไส้ไม่แห้ง”

“อ.เฉลิมชัย” สอน “น้อง” เส้นทางอาชีพ “ศิลปินไส้ไม่แห้ง”

 

“ศิลปินไส้แห้ง” ดูจะเป็นคำคุ้นหูคนไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัย

เพราะแม้ “ศิลปิน” จะเป็นอาชีพในฝันของเหล่านักเรียนศิลปะ ที่จะได้สร้างสรรค์งานชิ้นเจ๋งๆ สร้างชื่อเสียง แต่การจะเป็นศิลปินที่มีกิน ขายรูปได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความอดทน และการวางแผนชีวิตไม่น้อย

หนึ่งในนั้น คือ ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ที่เลือกเดินในเส้นทางสายนี้ จนประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ของไทยและต่างชาติ ผู้สร้างวัดร่องขุ่น จนกลายเป็นเดสทิเนชั่นของนักท่องเที่ยว โดยได้มาเปิดเวทีเล่าประสบการณ์ ถ่ายทอดบทเรียนชีวิตศิลปินให้กับเหล่า “นักเรียนศิลปะ” ในงานแถลงข่าวโครงการ “ดาวเด่นบัวหลวง 101 ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562” ที่ ชั้น 5 หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนราชดำเนินกลาง

Advertisement

“ศิลปินอาชีพนับได้ว่าเป็นฝันสูงสุดของคนเรียนศิลปะ แต่ต้องเป็นศิลปินอาชีพที่ขายรูปได้ มีตังค์ ไม่ใช่ไส้แห้ง แต่การจะเป็นศิลปินอาชีพได้ มันโคตรหนัก ยิ่งพ่อแม่ไม่รวยยิ่งไปกันใหญ่ ไม่รอด สุดท้ายก็ไปเป็นอาจารย์ มีให้เห็นเยอะแยะ”

 

Advertisement

อาจารย์เฉลิมชัยเริ่มเปิดเวทีด้วยการพูดถึง “ศิลปินอาชีพ” ด้วยน้ำเสียงคึกคักตามสไตล์ที่คุ้นตา ก่อนจะเริ่มกล่าวถึงสิ่งสำคัญ ที่ทำให้จะยึดอาชีพนี้ได้ยาว

“การจะเป็นศิลปินอาชีพ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเงิน”

“จะเป็นศิลปินอาชีพ เราต้องรู้จักวางแผนการใช้เงินให้ดี คนอยากเป็นกันทั้งนั้น แต่เงินล่ะ ถ้าเอามาให้ทุกเดือนก็จะเป็นได้ แต่มันไม่ได้

เป็นแบบนั้น แรกเริ่ม พวกเราก็อย่าขายรูปราคาแพง ขอให้คิดว่าได้มีเงินเลี้ยงชีวิตก่อน ราคาแพงเอาไว้ทีหลัง ถ้าคิดว่าจะเอาราคาแพงๆ เพื่อศักดิ์ศรี คิดว่า กูแพงแล้วดูดี กูแพงแล้วเท่กว่า คิดแบบนี้ตายทุกราย ต้องคิดว่าอยากเขียนรูปเพื่อพัฒนาตัวเอง ขายในราคาพอสมควรที่จะช่วยซื้อได้ ขาย 2 หมื่น 4 รูป ก็ได้ 8 หมื่น ใช้ประหยัดๆ ก็เขียนได้อีกหลายรูป อยู่ได้อีกหลายเดือน”

“เราต้องเก็บเงินเพื่อเขียนรูป พัฒนาตัวเอง สะสม ประหยัด อดทน เพื่อหวังว่าจะมีกินเพื่อเขียนรูป ไอ้การจะพ้นจุดยากจนนั่นแหละสำคัญ เราต้องอดทนสูง”

พร้อมยกความแตกต่างของการเป็นศิลปินสมัยนี้ และยุคก่อนๆ ว่า 35-40 ปีก่อน มีศิลปินอาชีพน้อยมาก แต่ยุคนี้รอด ลูกจำไว้เลย มันเป็นไปได้ 10 กว่าปีนี้ ศิลปินหนุ่มสาวเกิดขึ้นเยอะมาก ที่ยึดอาชีพศิลปะอย่างเดียวก็อยู่ได้ มีบ้าน มีรถ ศิลปินคนหนึ่งที่เชียงราย ออกจากการเป็นครูตอน 40 กว่า มาเป็นศิลปิน เขาก็บอกว่าถ้าผมเป็นครูอยู่ ก็คงไม่มีบ้านหลังนี้หรอก บ้านได้มาเพราะขายรูป การขายรูป

สำคัญสุดก็ต้องมีรูปที่ดี ผลงานดี แต่ก่อนจะขายภาพได้ก็ต้องจัดนิทรรศการ ขายได้กี่รูปว่ากัน แต่สมัยนี้ โพสต์ เฟซบุ๊กไปเรื่อยๆ มันเป็นประตูสู่โลกกว้าง มีคนเยอะแยะที่ไม่ได้เรียนศิลปะแล้วโพสต์รูปขาย ทุกวันนี้มีรายได้ดี เลี้ยงพ่อแม่ได้ โพสต์ไปช้าๆ อาร์ตคอลเล็กเตอร์เขาก็เห็นเราเอง

“อาร์ตคอลเล็กเตอร์ที่เขามีเงินล้านสองล้านในบัญชี เราขายงานหมื่นนึง เขาก็ช่วยเราซื้อได้ เขาก็หวังว่าวันนึงเผื่อเราจะดังรูปก็กลายเป็นล้าน หรือถ้าไม่ถึง 3 แสนเขาก็โอเคแล้ว”

ซึ่งแรงบันดาลใจที่ดี ก็คือ “ศิลปินรุ่นพี่” ที่เป็นแนวทางให้เดินตามได้

อ.เฉลิมชัยเล่าว่า ศิลปินเมืองไทยที่รวยๆ มีเยอะแยะ ก็เป็นแรงบันดาลใจได้ รวยที่สุดต้อง พี่ถวัลย์ ดัชนี กับ พี่จักรพันธุ์ โปษยกฤต พี่จักรพันธุ์นี้ยุคนั้นฝีมือสูงมาก คนเดินทางไปซื้อรูปที่บ้าน เล่าลือกันไปว่าถวายงาน เศรษฐีไปซื้อไปขอให้เขียนรูป เขาก็รวยมากมาย ขณะที่พี่ถวัลย์ เขาคบเศรษฐีฝรั่ง ซึ่งเป็นเพื่อนกับเจ้าชายเยอรมันที่เอางานไปแสดง เขากว้างขวาง แล้วก็นำไปสู่เศรษฐีไทย พี่ถวัลย์วาดรูปไม่ตามใจใคร อีกท่านคือ อ.อวบ สาณะเสน แกเขียนรูปส่งแกลเลอรี่ เคยไปนั่งดู แกนั่งเขียนรูป สียังไม่ทันแห้งก็มีคนมาหิ้วไป ส่งลูกไปเรียนเมืองนอกได้ แต่ระยะยาวแล้ว พี่ถวัลย์รวยกว่า เพราะแกทำการตลาดได้ แกไม่ได้เขียนภาพเยอะ ก็ควบคุมสินค้าได้ กลายเป็นภาพสะสม แต่ อ.อวบเขียนเยอะเพราะต้องส่งแกลเลอรี่ไปขาย นั่นก็ทำให้ถูกกดราคาในตอนหลังได้

อ.ปรีชา - อ.ปัญญา
อ.ปรีชา – อ.ปัญญา

“ศิลปินอาชีพที่ดีจึงต้องระมัดระวัง อย่าบ้าเงินมากเกินไป ไม่งั้นจะหลงระเริง ผลิตมาเยอะ เราก็ตกต่ำได้”

แต่เพราะการจะเป็นศิลปินอาชีพนั้นมันยาก อ.เฉลิมชัยบอกว่า หลายคนก็เลยเลือกหันเหไปสู่การเป็นศิลปินอาจารย์มากกว่า เพราะมีเงินเดือนประจำ แต่ข้อเสียก็คือไม่มีเวลาจะมาเขียนงาน จะเป็นศิลปินอาจารย์ก็ให้ยึด อ.ปรีชา เถาทอง เป็นตัวอย่าง แบบนี้รวย อาจารย์ทำงานได้เงินเดือนตอนนู้น 6,000 บาท แต่ขายรูปได้ 30,000 บาท อาจารย์ก็ทำ จนวันนี้มีบ้าน 3 หลัง มีรถขับ แต่จะเป็นอาจารย์แบบ อ.ปัญญา วิจินธนสาร ต้องระวัง อย่าเป็น อาจารย์ปัญญานี่คิวยาวเหยียด แต่ไม่ทำ แกงานเยอะมาก งานการกุศลเยอะมาก เป็นคนขี้เกรงใจ ศิลปินอาชีพต้องอย่าเกรงใจ ไม่งั้นมาเยอะ ขอทุกเรื่อง ฉิบหายวายป่วง อาจารย์ปัญญาเก่ง ดีทุกอย่าง มีนักสะสมรอคิวแต่ไม่มีตังค์ เพราะไม่มีงาน ทุกวันนี้ถ้า อ.ปัญญาจะสร้างหอศิลป์ ก็ไม่มีงาน ต้องไปซื้อคืนจากนักสะสม ซื้อไม่ได้อีก แพง (หัวเราะ)

และ อ.เฉลิมชัย ก็เคยเป็นคนหนึ่งที่ได้ทดลองไปเป็นอาจารย์ แต่กลับไม่เวิร์ก

“ตอนเรียนจบศิลปากร ก็เคยลองไปเป็นอาจารย์เพื่อทดสอบตัวเอง ที่ไหนนะ (อ.ปัญญาตะโกนบอกทันทีว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาอาชีวศิลป์) นั่นหละ ก็คิดว่าใกล้บ้านเช่า ไปสอนอยู่ 3 เดือน รู้เลยว่าตายห่า ถ้ากูสอนแบบนี้ไม่ต้องเขียนรูปแล้ว เราสอนก็รักลูกศิษย์ ทุ่มเท เด็กมาที่บ้าน มาหา ก็คิดว่าชีวิตนี้เป็นครูไม่ได้แน่นอน วันหนึ่งก็เอาเสื้อผ้ามากองๆ จุดไฟเผา ไฟก็ลามมา ร้อนก็ร้อน ดีที่ไม่ไหม้ผ้าขาวม้า เลิกก็ไม่ได้เพราะคนมามุงดูกันหมดแล้ว ได้ทีเทน้ำจากขันราดกองไฟประกาศอิสรภาพว่า ตั้งแต่วันนี้ไปกูจะเป็นศิลปินอาชีพตลอดชีวิต ย้ำ แล้วคว่ำขัน จากวันนั้นไม่ว่าอะไรก็จะสู้จนวันนี้ไม่เปลี่ยนแปลง”

ก่อนจะทิ้งท้ายให้กับศิลปินรุ่นใหม่ว่า “จะเป็นศิลปิน ลูกจงทำงานหนักพอๆ กับวาดรูป คือสังคม ตราบใดที่ไม่มีคนรู้จัก ต่อให้เอาการ์ดไปเชิญพวกนักสะสมก็ไม่ไปหรอก วิธีง่ายที่สุดคือไปงานของทุกคน ไปแนะนำตัว มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำไม อ.เฉลิมชัยจัดงานมีคนไป ก็เพราะไปงานของทุกคน ไปขอความเมตตา ขอเบอร์โทร ที่อยู่ไว้ สมัยนี้ยิ่งง่ายมีไลน์ เจอใครก็ขอคอนแท็กต์ไว้ จัดงานก็ส่งการ์ดไปให้หมด พิมพ์ส่งไป 500 อย่างไรก็มาสัก 150 คน แม้คนจะไม่ได้ไปซื้องานเรา แต่อย่างน้อยมันได้เรื่องจิตวิทยา คนที่ไปงานเราเห็นคนเยอะก็คิดว่า คนนี้อีกเดี๋ยวคงดัง เขาก็จะช่วยซื้อรูปให้เรา ถ้ามีคนไปแค่ 20 คน ให้ดังแค่ไหนก็ไม่มีคนซื้อ”

“ศิลปินอาชีพ จึงต้องทั้งเขียนรูปได้ดี มีมนุษยสัมพันธ์ และมีมารยาทต่อคนอื่น” อ.เฉลิมชัยปิดท้าย

ถ่ายรูปกับนักศึกษาศิลปะ
ถ่ายรูปกับนักศึกษาศิลปะ
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image