เบื้องหลังควันไฟ และกลิ่นหอม ชวน ‘เชฟตาม ชุดารี’ เล่าเรื่อง ‘เพศ’ ในห้องครัว

เชฟตาม - ชุดารี เทพาคำ

เบื้องหลังควันไฟ และกลิ่นหอม ชวน ‘เชฟตาม ชุดารี’ เล่าเรื่อง ‘เพศ’ ในห้องครัว

กว่าจะเป็น “อาหารจานเด็ด” ที่เสิร์ฟขึ้นโต๊ะให้นักชิมได้ลิ้มลอง สัมผัสกับความหอมกรุ่น รสชาติถูกปาก และการจัดจ้านที่ดึงดูดใจ

เบื้องหลังต่างเต็มไปด้วยการทำงานหนักของเชฟในครัว ที่คิดค้นและลงมือปรุงขึ้นมา

หลายคนอาจจะติดภาพ เชฟ กับคำว่า “แม่ครัวหัวป่าก์” ภาพของผู้หญิงนำครัวปรุงอาหาร แต่ว่ากันแล้ว เชฟดังๆ ทั่วโลกกลับมีพื้นที่ของเชฟผู้ชายที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทนำวงการอาหาร และยังมีช่องว่างระหว่างเพศ ในอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน

ในโอกาสที่ เชฟตาม – ชุดารี เทพาคำ ท็อปเชฟไทยแลนด์คนแรกของประเทศไทย ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รังสรรค์เมนูอาหารเสิร์ฟในงานการประชุม “Dragonfly360 Wo=Men Summit” ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ จึงได้จับเข่าคุยเปิดเรื่องราวในครัว ของเชฟหญิงรุ่นใหม่คนนี้

Advertisement

“การทำอาหารของตาม คือศิลปะ เป็นการนำศิลปะและวิทยาศาสตร์มารวมกัน เป็นสิ่งที่บอกความทรงจำ ประสบการณ์ เป็นสื่อสำคัญที่จะบอกเรื่องราวที่เราอยากจะนำเสนอ”

คือแรงบันดาลใจสำคัญ ที่ผลักดันให้เชฟตาม อยากจะคิดเมนูต่างๆ ให้คนได้ลองชิม เชฟตาม เริ่มต้นจากสายโภชนาการ เรียนรู้เรื่องอาหาร ก่อนจะค้นพบว่า เธอเองชอบอะไรที่ท้าทาย มีแรงกดดัน ให้อะดรีนาลีนได้หลั่ง ไม่อยากทำงานในแล็บที่ดูช้าเกินไป ระหว่างเดินทางกลับจากอเมริกาในซัมเมอร์หนึ่ง จึงได้มีโอกาสไปฝึกงานในร้านอาหารของเพื่อนคุณแม่ ครัวแห่งนี้มีเจ้าของเป็นคุณหมอ ทำให้ได้เรียนรู้ทั้งเรื่องโภชนาการและทักษะอาหาร

นั่นทำให้ค้นพบความสนุกในการทำครัว ที่ต้องผลักดันตัวเอง ความยากนี้เองที่ทำให้เธอไม่เบื่อ และรู้แล้วว่าจะทำอะไรในอนาคต

Advertisement

ระหว่างเรียนที่สหรัฐอเมริกา ตามฝึกงานในร้านอาหารไปด้วย เรียนไปด้วย นั่นทำให้เธอสังเกตเห็นช่องว่างของเชฟผู้หญิงและผู้ชาย

 

เชฟตาม - ชุดารี เทพาคำ
เชฟตาม – ชุดารี เทพาคำ

“ตอนที่ทำงานที่อเมริกา เราก็เป็นผู้หญิงเอเชียคนเดียวตอนนั้น มีหลายๆ อย่างที่คิดว่าเป็นอุปสรรคเข้ามา เราเองก็อยากจะโตในสายงานไวๆ แต่ก็ไม่ได้เลื่อนสักที ก็สังเกตว่าผู้ชายที่เข้ามาหลังเรา ได้มาเสียบแทนเรา ตอนนั้นเราก็เครียดมาก เลยเข้าไปคุยกับหัวหน้าเชฟว่าทำไม เพราะเราเป็นผู้หญิงหรือเปล่า หัวหน้าเชฟไม่ได้ตอบเชิงนั้น แต่พูดว่ากลัวเราทำไม่ไหว”

“มันจุดสวิตช์ในหัวของตามว่า เราต้องพิสูจน์ตัวเองว่าผู้ชายทำได้เราก็ต้องทำได้ และทำให้ดีกว่า ถึงจะได้เลื่อนขั้น เพราะคนข้างนอกเห็นเราเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ จะทำอะไรได้หรือเปล่า ไม่ได้มองถึงศักยภาพเรา ไม่ได้คาดหวังในตัวเราเท่าเชฟผู้ชายคนอื่นๆ”

“มันก็ไม่แฟร์เท่าไหร่”

หลังจากเรียนจบ กลับมาเริ่มเข้าครัวทำงานที่ประเทศไทย เชฟตามก็ยังพบว่ามีบรรยากาศการทำงานที่แตกต่างระหว่างชายและหญิงอยู่ดี เชฟตามเผยว่า อยู่ที่อเมริกา เขาจะให้ความสำคัญเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เวลาจะพูดอะไรก็จะต้องพอเหมาะ เพราะมีกฎหมายต่างๆ แต่ว่าไทยยังไม่มีการแยกแยะ บางครั้งอาจจะแค่แซว แต่อเมริกาคือการคุกคาม ตามโดนแซวบ้าง หนูอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้ว่าไม่ดี แต่บางครั้งมันเป็นสิ่งที่อีกคนไม่ได้อยากรับ บางครั้งเขาก็ไม่คิดว่าเราเป็นเชฟ นอกจากนี้ก็คิดว่าเราเป็นเด็กอีกด้วย บางครั้งก็รู้สึกว่าขนาดเราเพิ่งเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ยังเป็นแบบนี้ แล้วคนที่อยู่มานานคงโดนเยอะ

ส่วนบรรยากาศในครัวนั้น เชฟตามบอกว่า จากที่สังเกตก็เห็นว่า คนที่ขึ้นสู่ตำแหน่งเชฟสูงๆ มักเป็นผู้ชาย ซึ่งจะวางโทนของครัวว่าลูกน้องจะเป็นอย่างไร ประพฤติอย่างไร ตามๆ กันไป หากเป็นครัวที่ผู้ชายเยอะ ผู้หญิงก็มักต้องอยู่หลบๆ ไม่สามารถมีปากมีเสียง ซึ่งไม่ได้เป็นทุกที่ และไม่เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ แต่การที่ครัวมีชายหญิงเท่าๆ กันบรรยากาศก็ดีกว่า

“หากพูดถึงโอกาสของเชฟแล้ว เมื่อเชฟทั้ง 2 คน เรียนจบวิทยาลัยอาหารมาพร้อมกัน มีโอกาสเท่ากันในวิชาชีพ แต่ที่แตกต่างก็คือการเลื่อนขั้นสู่ตำแหน่งสูงกว่า ผู้ชายมักไปได้ไวกว่า”

ซึ่งสิ่งที่เธอยึดใช้ในการทำงานทุกวันนี้ ก็คือต้องพิสูจน์ตัวเอง ต้องทำงานให้มาก 100 และ 150 เปอร์เซ็นต์ ในทุกๆ ก้าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image