สศช.กังวลคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญก้บการวางแผนการเงินหลังเกษียณน้อยลง

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการทำงานของคนรุ่นใหม่ ที่เกิดระหว่างปี 2524-2545 เปลี่ยนแปลงจากเดิม นิยมทำงานในรูปแบบฟรีแลนซ์มากขึ้น โดยเฉลี่ยแล้วคนรุ่นใหม่ทำงานแบบไม่อยู่ในระบบมากกว่า 2 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละ 300,000-600,000 คน แต่ยังมีความกังวลในเรื่องของคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ ยังไม่ได้วางแผนการเงินในอนาคต เนื่องจากสามารถรับงานได้หลากหลายและมีรายได้จากหลายทาง ทำให้เกิดการใช้จ่ายที่ง่ายมากตามไปด้วย จึงอาจยังไม่ได้เก็บออมเงินไว้เพื่อใช้ชีวิตในช่วงหลังเกษียนอายุ รวมถึงเห็นความสำคัญของความมั่นคงด้านรายได้ และสวัสดิการ ซึ่งแตกต่างจากพนักงานเอกชนที่มีประกันสังคม และพนักงานราชการที่มีเงินตอบแทนความชอบที่ได้รับจากราชการหรือบำนาญ โดยสศช.ได้ร่วมกับบริษัทศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด สำรวจการวางแผนการเงินของกลุ่มคนรุ่นใหม่พบว่า กลุ่มคนที่ทำงานในรูปแบบใหม่ยังไม่มีความตระหนักถึงเรื่องการวางแผนด้านการเงินในอนาคตเท่าที่ควร โดยในกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 18-39 ปี จำนวน 6,255 คน หรือ 72% ยังไม่ได้มีการวางแผนเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในยามเกษียณ ภาครัฐจึงต้องศึกษาแนวทางให้สวัสดิการสำหรับการทำงานยุคใหม่ของแรงงานยุคปัจจุบัน

คนรุ่นใหม่โตมาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต ที่มีแนวโน้มในการประกอบอาชีพรูปแบบใหม่มากขึ้น โดย 1 ใน 3 ของกลุ่มคนเจเนอเรชันวาย ชอบทำงานแบบฟรีแลนซ์สูงกว่าคนในกลุ่มอื่น โดยอาชีพ 4 อันดับแรก ได้แก่ กราฟิกดีไซน์ การตลาดออนไลน์และโฆษณา การทำเว็บและโปรแกรมมิ่ง รวมถึงงานเขียนและแปลภาษาซึ่งแม้ว่าเด็กรุ่นใหม่จะชอบความเป็นอิสระ ต้องการเป็นผู้จัดการตนเอง รวมถึงชอบการทำงาน มีความยืดหยุ่นสูง แต่ก็ยังสนใจการทำงานในระบบทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีจำนวนมากที่ทำงานทั้ง 2 รูปแบบเป็นงานหลักและงานเสริมโดยหากอาชีพที่ 2 สามารถทำรายได้ได้มากกว่า ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนไปทำอาชีพอิสระเป็นอาชีพหลักได้เช่นกันนายทศพรกล่าว

นายทศพรกล่าวว่า ภาวะสังคมประจำไตรมาส 3 ของปี 2562 ในส่วนของตัวเลขผู้มีงานทำลดลงเหลือ 2.1% ซึ่งภาคเกษตรมีการจ้างงานลดลง 1.8% ถือเป็นการลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 จากปัญหาภัยธรรมชาติ ส่วนการจ้างงานในนอกภาคการเกษตร ปรับลดลง 2.3% ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการหดตัวของภาคการส่งออก โดยสาขาที่จ้างงานลดลง ได้แก่ การผลิต การค้าขายส่งขายปลีก ก่อสร้าง แต่สาขาที่จ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ โรงแรม ร้านอาหารภัตตาคาร ขนส่ง และการเก็บสินค้า เนื่องจากการขยายตัวของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.04% หรือมีจำนวน 394,000 คน โดยแม้ว่าการจ้างงานจะลดลง แต่โดยเฉลี่ยแรงงานยังมีชั่วโมงทำงานใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2561 เนื่องจากการปรับตัวของสถานประกอบการ ที่มียอดการสั่งซื้อสินค้าลดลง รวมถึงมีบางส่วนที่ปรับการจ้างแรงงานที่มีผลิตภาพและชั่วโมงทำงานต่ำก่อน ทำให้เฉลี่ยชั่วโมงทำงานยังทรงตัวเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ โดยเชื่อว่าหลังจากไตรมาส 4 จะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากการเร่งรัดเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่จะมีออกมากว่า 1 แสนล้านบาท เงินลงทุนของรัฐบาล รวมทั้งเงินลงทุนจากการส่งเสริมของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะเริ่มออกสู่ระบบ ภาคการท่องเที่ยวเริ่มปรับดีขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ส่งผลต่อการจ้างงานในช่วงปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ว่าผลจะออกมาเช่นไรด้วย

นายทศพรกล่าวว่า สำหรับหนี้สินภาคครัวเรือนในไตรมาส 2 ปี 2562 ยังมีมูลค่าสูง 13.08 ล้านล้านบาท โต 5.8% โตลดลงจาก 6.3% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยหนี้สินภาคครัวเรือนคิดเป็นสัดส่วน 78.7% ของการเติบโตเศรษฐกิจหรือจีดีพี ซึ่งเป็นผลจากสินเชื่อเพื่อซื้อในภาคอสังหาริมทรัพย์และรถยนต์เป็นหลัก ที่ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการมาคุมสินเชื่อบ้านและการรอเปลี่ยนรุ่นรถยนต์รุ่นใหม่ จึงทำให้การขอสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบ้านลดลง ยอดสินเชื่อจึงลดลงและระวังการซื้อสินค้าเงินกู้มากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง แต่แม้หนี้สินครัวเรือจะโตลดลง แต่ระดับหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) กลับปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ได้สั่งการให้ธปท.และสศช. ศึกษาพฤติกรรมการก่อหนี้ของครัวเรือน ทำให้พบว่าการก่อหนี้ของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น เกิดในลักษณะของหนี้สินส่วนบุคคลที่นำไปเพื่อลงทุนธุรกิจส่วนตัว คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของภาพรวมที่นำไปลงทุนในกิจการสำหรับการค้าขาย เพื่อให้เกิดผลกำไรต่อไป ซึ่งตรงนี้ถือเป็นหนี้ที่เกิดประโยชน์ เพราะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จึงถือว่ายังไม่ได้น่ากังวลมากเท่าที่ควร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image