ไทยขับเคลื่อน 5 มิติ ต้อนรับ ‘สังคมสูงวัย’

สังคมสูงวัย

ไทยขับเคลื่อน 5 มิติ ต้อนรับ ‘สังคมสูงวัย’

ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาด้านสังคม หนึ่งในนั้นคือ “โครงสร้างประชากร” อันปรากฏผ่านสถานการณ์ “เด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ” ที่เด็กเกิดน้อยลงทุกปี มีจำนวนไม่น้อยที่เกิดอย่างไม่มีคุณภาพ

อีกทั้งสถานการณ์ “สังคมสูงวัย” ที่นวัตกรรมและเทคโนโลยี ทำให้ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น

จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 ที่สำรวจประชากรไทยทั้งหมด 67.6 ล้านคน มีประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือสูงวัย จำนวน 11.3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 16.7

ขณะเดียวกันยังคาดการณ์สถานการณ์สังคมสูงวัย ปี 2564 จะมีสัดส่วนผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือเรียกว่า “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์”

Advertisement

กระทั่งในปี 2574 คาดการณ์ว่าจะมีสัดส่วนผู้สูงอายุร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด หรือเรียกว่า “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด”

ในต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ล้วนเข้าสู่สถานการณ์สังคมสูงวัยแล้วทั้งสิ้น ทว่าเป็นปรากฏการณ์ “รวยก่อนแก่” ผลกระทบจึงไม่ร้ายแรงเท่าประเทศไทยที่ “แก่ก่อนรวย”

เป็นปัญหาระดับประเทศที่ต้องตระหนักและร่วมรับมือกัน หน่วยงานรัฐ นำโดย กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงพยายามผลักดันเชิงนโยบายและมาตรการ เพื่อรับมือสถานการณ์ดังกล่าว ขณะเดียวกันก็สร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนให้มาร่วมกันรับมือ เพื่อจะไม่กลายเป็นผู้สูงอายุยากจน ถูกทอดทิ้ง และไร้ที่พึ่ง

Advertisement

สุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ให้ข้อมูลว่า รัฐบาลที่ผ่านมาได้กำหนดให้เรื่องผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 พร้อมระบุมาตรการขับเคลื่อนให้ผู้สูงอายุไทยมีคุณค่า และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็น Active Ageing ที่มีสุขภาพดี มีความมั่นคง และดำรงตนอย่างมีส่วนร่วมในสังคม
ทั้งนี้ มีการขับเคลื่อน 10 ประการ แบ่งเป็น 6 ยั่งยืน 4 เปลี่ยนแปลง ดังนี้

ด้านยั่งยืน 1.การสร้างระบบคุ้มครองและสวัสดิการ 2.ส่งเสริมการมีงานทำและมีรายได้ 3.ระบบคุ้มครองสุขภาพ 4.ปรับสภาพแวดล้อมให้เกื้อกูล 5.ธนาคารเวลา และ 6.เตรียมความพร้อมทุกวัยทุกมิติ

ด้านเปลี่ยนแปลง 1.เสริมสร้างและใช้พลังผู้สูงอายุ 2.ปรับแก้/เสนอกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ 3.สร้างฐานข้อมูลด้านผู้สูงอายุ และ 4.สร้างนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

สุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์
สุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์

อธิบดี ผส. ยังระบุว่า มาตรการดังกล่าว ภาครัฐพยายามขับเคลื่อนทุกมิติ ไม่เพียงการทำงานกับผู้สูงอายุ แต่ยังต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยแรงงาน ก็ต้องมีความพร้อมทั้งในเรื่องของการออม การดูแลสุขภาพ และความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันของคนทุกช่วงวัย มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวไปกับกระทรวง พม. อาทิ

กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน ฯลฯ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดีและมีความพร้อมสามารถทำงาน มีรายได้ พึ่งตนเองและอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี โดยได้รับการยอมรับและมีส่วนร่วมในสังคม โดยดำเนินการในรูปแบบการบูรณาการร่วมกัน

ส่วนผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง ก็มีอาสาสมัครในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ช่วยดูแล และยังมีโครงการที่เรียกว่าธนาคารเวลาช่วยกันดูแลขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวในพื้นที่ ตลอดจนมีโครงการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ และเพื่อคนทั้งมวล ซึ่งมีกรมกิจการผู้สูงอายุขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“เป็นการผนึกกำลังของ 6 กระทรวง ที่พยายามขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาถือว่ามีความก้าวหน้าไปในระดับหนึ่ง” อธิบดี ผส. เผยถึงความคืบหน้าในการขับเคลื่อน

ขณะที่ภารกิจของกรมกิจการผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนหลักในประเด็นดังกล่าว มีแผนสำคัญจะดำเนินการในปีงบประมาณ 2563 ใน 5 มิติ ดังนี้

1.มิติสุขภาพ มีแผนขับเคลื่อนมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว และเพิ่มจำนวนอาสาสมัครธนาคารเวลาสำหรับดูแลผู้สูงอายุ

2.มิติเศรษฐกิจ ส่งเสริมการถ่ายทอดภูมิปัญญาผู้สูงอายุ และจัดบริการเงินทุนกู้ยืมประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุ

3.มิตินวัตกรรม พัฒนาระบบงานฐานข้อมูลผู้สูงอายุ

4.มิติสภาพแวดล้อม ปรับปรุงที่อยู่อาศัย สถานที่สาธารณะสำหรับผู้สูงอายุและคนทุกวัย และสร้างชุมชนเป็นมิตรกับผู้สูงอายุ 20 แห่ง

5.มิติสังคม ขยายพื้นที่การจัดตั้งศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) ซึ่งมีหน้าที่เป็นศูนย์กลางการพัฒนาและดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เพิ่มขึ้น รวมทั้งสิ้นกว่า 1,600 แห่ง พร้อมพัฒนากลไกและสนับสนุนกิจกรรมใน ศพอส.ให้มีความเข้มแข็ง รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมในโรงเรียนผู้สูงอายุ รวมทั้งสิ้น 1,555 แห่งทั่วประเทศ

งานพัฒนาด้านผู้สูงอายุมีแผนระดับชาติระบุไว้ทั้งหมด แต่สำคัญกว่านั้นคือ การนำแผนมาสู่การปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งผู้บริหารกระทรวง พม. เห็นความสำคัญดังกล่าว โดยมอบหมายให้กรมกิจการผู้สูงอายุจัดทำแผนปฏิบัติการให้มีความกระชับ ชัดเจน เพื่อนำสู่การปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงต่อไป

“สำคัญที่สุด การดูแลและเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัย คงไม่สามารถทำสำเร็จได้ด้วยหน่วยงานรัฐเพียงลำพัง ต้องอาศัยความตระหนักรู้และความมีส่วนร่วมของชุมชน สังคม และภาคประชาชน และไม่เพียงแต่เป็นการเตรียมการกับผู้สูงอายุเท่านั้น ยังต้องเตรียมและสร้างความตระหนักให้กับคนทุกช่วงวัย ให้เห็นความสำคัญและเตรียมตัวเองให้มีความพร้อมในการอยู่ร่วมกันในสังคมสูงวัยต่อไป” อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุสรุป

 

เป็นการตอบคำถามถึงแผนการขับเคลื่อนสังคมผู้สูงวัยที่มีเป้าหมาย เพื่อวัยที่สูงขึ้นอย่างมีคุณภาพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image