สลด! กวางป่าตาย พบขยะ ‘กกน. พลาสติก’ ในกระเพาะ 7 กก. ชวนลดเลิกใช้พลาสติก

สลด! กวางป่าตาย พบขยะ ‘กกน. พลาสติก’ ในกระเพาะ 7 กก. ชวนลดเลิกใช้พลาสติก

เมื่อวันที่ 26​ พฤศจิกายน นายเกรียงศักดิ์ ถนอมพันธ์​ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (สบอ.) ที่ 13​ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยถึงความคืบหน้าล่าสุดกรณีการผ่าพิสูจน์ซากกวางป่า​ ว่า​พบซากกวางป่าตายใกล้บริเวณอุทยานขุนสถาน จ.ลำปาง เป็นเพศผู้ น้ำหนักประมาณ 200 กก. อายุมากกว่า 10 ปี ความสูงวัดจากหัวไหล่ 135 ซม. ขนาดลำตัวยาววัดจากกลางหน้าผากถึงหาง 230 ซม. ตรวจสอบไม่พบบาดแผลภายนอก ลักษณะซากผอม ขนหลุดร่วงเป็นหย่อมๆ กีบหน้าซ้ายหลุดลักษณะเป็นแผลเป็น

“เปิดผ่าอวัยวะภายในพบความผิดปกติที่ไต หัวใจ ปอด ในกระเพาะอาหารส่วนรูเมนพบขยะพลาสติก จำนวน​ 7 กิโลกรัม​ ประกอบด้วย ซองกาแฟ ซองเครื่องปรุงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ถุงพลาสติกจำนวนมาก ถุงดำ ถุงมือยาง ผ้าเช็ดมือ กางเกงในผู้ชาย เชือกฟาง เป็นต้น เบื้องต้นสันนิษฐานกวางเสียชีวิตจากภาวะทางเดินอาหารอุดตัน และชรา​ เจ้าหน้าที่ทำการเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจหาสารพิษในอาหาร และภาวะติดเชื้ออื่นๆ เพิ่มเติม โดยส่งศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคเหนือตอนบน อ.ห้างฉัตร​ จ.ลำปาง​ ตรวจสอบต่อไป” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

นายเกรียงศักดิ์กล่าวอีกว่า จากการตรวจพิสูจน์ซากกวางป่าแล้วพบว่ามีเศษถุงพลาสติก ขยะ เครื่องใช้ของมนุษย์อยู่ในท้องของกวางเป็นจำนวนหนึ่งนั้น โดยเป็นการกินสะสมมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเป็นปัญหาเหมือนกับขยะพลาสติกทางทะเลที่ทำให้พะยูนเสียชีวิตในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนเป็นข่าวโด่งดัง สำหรับกรณีดังกล่าวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติขุนสถาน​ ได้มีการรณรงค์ก่อนหน้านี้มาอย่างต่อเนื่อง มีการเก็บขยะตามรายทางที่เกิดจากนักท่องเที่ยว หรือผู้สัญจรตลอดชุมชนที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้อุทยานแห่งชาติขุนสถาน​ พร้อมทั้งร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน สถานีควบคุมไฟป่าศรีน่าน และเครือข่ายชุมชนรอบพื้นที่ นายอำเภอนาน้อย ทำกิจกรรมรณรงค์ ลด ละเลิก ใช้ถุงพลาสติก และโฟม ในเขตอุทยาน ภายใต้โครงการทำความดีด้วยหัวใจ ลดภัยสิ่งแวดล้อม

นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า ปัญหาตรงนี้ที่ผ่านมาดูเหมือนจะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่วันนี้ได้มีกวางมาเสียชีวิต การพิสูจน์ก็มีผลที่ชัดเจนว่าเสียชีวิตเนื่องจากมีขยะในท้องมากจนเกินไป ดังนั้นจึงควรมีมาตรการการวางแผนงานในการจัดการเรื่องขยะพลาสติกเป็น 3 ระยะคือ ระยะสั้น เป็นการถือเอาวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาส เชิญชวนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่บริเวณรอบอุทยานออกมารณรงค์ ช่วยกันเก็บขยะจัดการขยะที่มีอยู่ทั่วไปในพื้นที่อุทยานและรอบอุทยาน

Advertisement

นายเกรียงศักดิ์ระบุว่า สำหรับระยะกลาง ตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดแผนในการบริหารจัดการเรื่องขยะของอุทยานแห่งชาติและขยะของชุมชน โดยมีการบูรณาการร่วมกันกับทุกภาคส่วน​ โดยระยะยาว จัดให้มีการให้ความรู้กับนักเรียน พี่น้องประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติขุนสถานให้เห็นผลเสียของขยะพลาสติก หรือให้มีการทำป้ายประชาสัมพันธ์รณรงค์อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว

ผอ.สบอ.ที่ 13 ระบุว่า ทั้งนี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้รณรงค์ให้หน่วยงานในสังกัดซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลป่าอนุรักษ์ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน สวนรุกขชาติ สวนพฤกษศาสตร์ รณรงค์ขับเคลื่อนการงดใช้ถุงพลาสติก เพื่อลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-Use Plastic) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้โรดแมปการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ.2561-2573 หน่วยงานภาคสนามในสังกัดได้การรณรงค์ประชาสัมพันธ์งดใช้พลาสติกแบบครั้งเดียว และงดใช้โฟม รณรงค์ในลักษณะนับถอยหลัง ซึ่งจะใช้มาตรการนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป

Advertisement

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

– “รมว.ทส.” ลั่น ถุงพลาสติกไม่ผิด แต่คนผิด ที่ใช้ไม่เป็น หลังพบขยะ 7 กก. ในท้องกวาง

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image