‘หนี้ครัวเรือน’คนไทยพุ่งแตะ340,053 บาท เป็นหนี้นอกระบบสุดสุดรอบ4ปี

ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงสถานภาพหนี้สินครัวเรือนไทย ปี 2562 ว่า ครัวเรือนไทย 88.1% มีหนี้ครัวเรือน โดยเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 340,053.65 บาท ขยายตัว7.4% จากปีก่อนอยู่ที่ 316,623.51 บาท แบ่งเป็น หนี้ในระบบ 59.2% ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ที่ 64.7% และหนี้นอกระบบ 40.8% ซึ่งขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 ปี ช่วงปี 2559-2562 สาเหตุของการมีหนี้ 38.4% เพื่อใช้จ่ายทั่วไป 32.9% เพื่อซื้อยานพาหนะ 21.2% เพื่อซื้อบ้าน จ่ายบัตรเครดิต และหนี้เพื่อประกอบอาชีพ ตามลำดับ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า พบว่า กลุ่มเจเนอเรชั่นวาย หรือประชากรที่มีอายุระหว่าง 24-41 ปี มีอัตราการก่อหนี้สูงสุด โดย 17.6% ระบุว่า เนื่องจากมีรายได้ลดลง เช่นเดียวกับกลุ่มเจเนอเรชันเอ็กซ์ หรือประชากรที่มีอายุระหว่าง 42-56 ปี ซึ่งมีอัตราการก่อหนี้รองลงมา ส่วนกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ หรือประชากรที่มีอายุระหว่าง 57-75 ปี มีอัตราการก่อหนี้น้อยที่สุด โดย16.6% ระบุว่า มาจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น

“ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดติดอันดับโลก โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่มีความน่ากังวลจะอยู่ที่ 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งปัจจุบันไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ 78% ของจีดีพี ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือนที่สูงเกินไป จะบั่นทอนกำลังซื้อในอนาคตและบั่นทอนระบบเศรษฐกิจในระยะปานกลาง จึงชี้ได้ว่า สาเหตุที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งในปัจจุบันที่ขยายต่ำกว่า 3% ครั้งแรกในรอบ 5 ปี มาจากผู้คนใช้จ่ายน้อยลง ดังนั้น จึงประเมินว่า ปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวอยู่ที่ 2.5-2.6% ” นายธนวรรธน์ กล่าว

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องทำให้ภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวให้ได้ในไตรมาส 2/2563 ไม่อย่างนั้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะเป็นปัญหาที่น่าเป็นกังวล โดยรัฐบาลควรเข้ามาแก้ไขปัญหา เช่น ดูแลค่าครองชีพ และควบคุมระดับราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม, แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ผู้ประกอบการ และนักลงทุน, จัดหาแหล่งเงินทุนในระบบที่มีดอกเบี้ยต่ำ, แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ, แก้ไขปัญหาการว่างงาน, ดูแลเรื่องสวัสดิการให้กับประชาชน เป็นต้น

Advertisement

“ประเมินว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่มาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้จ่ายเกินตัว แต่อาจจะมีบางกลุ่มที่มีการใช้จ่ายที่ไม่ระวัง ขาดวินัย โดยเฉพาะกลุ่มเจเนอเรชันวาย ซึ่งต้องให้ความรู้ด้านการเงิน และหากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนน่าจะคลี่คลายลง อัตราหนี้สินต่อจีดีพีน่าจะลดลงได้ ซึ่งหวังว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น สนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐจัดการประชุม สัมมนาในพื้นที่ท่องเที่ยวชุมชน น่าจะเป็นประโยชน์และก่อให้เกิดเงินสะพัดในพื้นที่ ทำให้เศรษฐกิจมีสัญญาณของการฟื้นตัวดีขึ้นได้ โดยจะเห็นได้ชัดเจนช่วงกลางไตรมาส 2/2563 ” นายธนวรรธน์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image